แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือเดือนสิงหาคม 2559

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 31, 2016 16:23 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 12/2559

เรื่อง แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนสิงหาคม 2559

ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือเดือนสิงหาคม ชะลอตัวลงเล็กน้อย องค์ประกอบสำคัญมาจากส่วนของการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าจำเป็นที่ใช้ในชีวิตประจำวันและการส่งออกสินค้าไปเมียนมาชะลอลง อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายลงทุนในภาครัฐและธุรกิจท่องเที่ยวยังอยู่ในเกณฑ์ดี ผลผลิตเกษตรปรับดีขึ้นในช่วงเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวพืชหลัก รายได้เกษตรขยับดีขึ้นบ้าง การผลิตสินค้าเกษตรแปรรูป เช่น ข้าวมีเพิ่มขึ้นตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น แต่ราคาสินค้าเกษตรทั่วไปยังมีแนวโน้มลดลง การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกยังหดตัว เช่นเดียวกับภาวะการลงทุนภาคเอกชนโดยเฉพาะภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังซบเซา สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจของภาคเหนือทั่วไปยังดี อัตราเงินเฟ้อทรงตัว อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ แม้ปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดยจำนวนผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานมีทิศทางเพิ่มขึ้น การขยายตัวของเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน ขณะที่เงินให้สินเชื่อชะลอลง

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือ มีดังนี้

ในเดือนนี้การใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนปรับสูงขึ้นร้อยละ 30.7 ในช่วงใกล้ปิดงบประมาณเนื่องจากมีการเร่งรัดการเบิกจ่ายโครงการก่อสร้างและปรับปรุงซ่อมแซมถนนของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท การก่อสร้างอาคารของสถาบันการศึกษาและโรงพยาบาล รวมถึงการโอนเงินอุดหนุนค่าก่อสร้างให้กับท้องถิ่นและการเบิกจ่ายหมวดดำเนินงานก็เพิ่มขึ้น

ภาคการท่องเที่ยว ยังขยายตัวได้ดี แม้จะอยู่นอกฤดูกาลท่องเที่ยว โดยส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มของนักท่องเที่ยวไทยที่เข้าร่วมประชุมและสัมมนาของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนโดยเฉพาะในจังหวัดท่องเที่ยวหลัก สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีนอาจชะลอลงบ้าง ทั้งนี้ เครื่องชี้ท่องเที่ยวสำคัญ ได้แก่ จำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยาน อัตราเข้าพักของโรงแรม การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทโรงแรมและภัตตาคารเพิ่มขึ้น ขณะที่จำนวนเที่ยวบินตรงและนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานเชียงใหม่ชะลอลงบ้าง

การบริโภคภาคเอกชน แม้ในเดือนนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 จากการใช้จ่ายสินค้าในหมวดยานยนต์ปรับเพิ่มขึ้น แต่ถือว่ายังไม่ฟื้นตัวดีนัก ปัจจัยชั่วคราวจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในเดือนก่อนหน้าเริ่มชะลอ รวมถึงปัจจัยลบเรื่องภาระหนี้ครัวเรือนในระดับสูงและสถาบันการเงินยังเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อต่อเนื่อง การบริโภคสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันยังหดตัวและมีทิศทางโน้มตัวลง อีกทั้งการใช้จ่ายในหมวดน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงต่อเนื่อง สะท้อนผู้บริโภคระมัดระวังในการใช้จ่ายและกำลังซื้อของภาคการผลิตและภาคเกษตรยังอ่อนแอ แม้รายได้ภาคเกษตรเริ่มปรับดีขึ้นในเดือนนี้

การส่งออก ลดลงร้อยละ 2.7 โดยเฉพาะการส่งออกชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไปตลาดจีน สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ รวมถึงสินค้าส่งออกไป สปป. ลาว และจีนตอนใต้ยังหดตัว โดยใน สปป. ลาว ลดลงมากในหมวดปศุสัตว์ ส่วนในจีนทางการมีความเข้มงวดตรวจสอบสินค้าเข้ามากขึ้น ขณะที่การส่งออกสินค้าผ่านด่านชายแดนไปเมียนมาขยายตัวชะลอลง ด้านมูลค่าการนำเข้า ขยายตัวร้อยละ 14.7 จากการนำเข้ากระแสไฟฟ้ามาจาก สปป. ลาว รวมถึงพืชผักและผลไม้จากจีนตอนใต้เช่นเดียวกับเดือนก่อน

การลงทุนภาคเอกชน ดัชนีลดลงร้อยละ 2.0 โดยภาวะก่อสร้างและตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังซบเซา สอดคล้องกับสินเชื่อเพื่อการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ที่โน้มตัวลง อย่างไรก็ดี การลงทุนมีเพียงในธุรกิจก่อสร้างโรงแรม ขณะที่การลงทุนภาคการผลิตยังไม่ชัดเจน เครื่องชี้การลงทุนสำคัญลดลง เช่น พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลประเภทเพื่อที่อยู่อาศัย ยอดขายวัสดุก่อสร้างและยอดการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ สำหรับปริมาณจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ปรับเพิ่มขึ้นในเดือนนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยชั่วคราวจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย

ผลผลิตอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 11.9 แม้ผลผลิตสินค้าเกษตรแปรรูปปรับดีขึ้นโดยเฉพาะการสีข้าว การแปรรูปผักและผลไม้ จากพืชผลเกษตร เช่น ข้าวมีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมผลิตเพื่อการส่งออกยังลดลงทั้งในชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เลนส์และส่วนประกอบฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ อุปสงค์จากประเทศคู่ค้ายังฟื้นตัวช้าและภาวะการแข่งขันสูงขึ้น ผลผลิตประเภทเครื่องดื่มปรับลดลงในเดือนนี้ภายหลังเร่งผลิตในช่วงก่อนหน้าจากการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์แบบใหม่

ขณะที่ภาคเกษตรหดตัวลดน้อยลง ทั้งผลผลิตและราคาพืชผลหลัก โดยผลผลิตสินค้าเกษตร ลดลงเหลือร้อยละ 6.4 อย่างไรก็ดี พืชสำคัญอื่น ๆ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และลำไย ผลผลิตยังลดลง ขณะที่ผลผลิตข้าวนาปีเพิ่มขึ้นจากการเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยว รวมถึงผลผลิตปศุสัตว์ทั้งสุกร ไก่เนื้อ ไข่ไก่และไก่ยังคงเพิ่มขึ้น ตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ด้านราคาสินค้าเกษตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 ส่วนสำคัญจากราคาข้าวและลำไยที่ปรับเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับราคาปศุสัตว์โดยรวมยังเพิ่มขึ้นจากราคาสุกรและไข่ ตามความต้องการของตลาด ส่งผลให้รายได้เกษตรกร ปรับดีขึ้น โดยหดตัวเหลือร้อยละ 4.5 เสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือ โดยทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ขยายตัวเล็กน้อยร้อยละ 0.1 ใกล้เคียงกับเดือนก่อนและปีก่อน โดยราคาอาหารสดประเภทไข่ไก่ ผักและผลไม้สดเพิ่มขึ้น แต่ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศลดลง ด้านอัตราการว่างงาน ทรงตัวที่ร้อยละ 1.0 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนโดยเฉพาะในภาคเกษตร ทั้งนี้ จำนวนผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานมีทิศทางเพิ่มขึ้น

ภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2559 สาขาธนาคารพาณิชย์ มียอดคงค้างเงินฝาก 635,268 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 แต่ยอดคงค้างเงินฝากปรับลดลงจากเดือนก่อน จากการถอนเงินฝากออมทรัพย์ของส่วนราชการเพื่อนำไปใช้ในโครงการต่าง ๆ และบางส่วนนำไปลงทุนในผลิตภัณฑ์เงินฝากรูปแบบอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ด้านเงินให้สินเชื่อ มียอดคงค้าง 578,629 ล้านบาท ชะลอตัวร้อยละ 1.7 ตามภาวะธุรกิจและความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและผู้บริโภค ทั้งนี้ สินเชื่อด้อยคุณภาพขยับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย สำหรับสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 90.8 ใกล้เคียงกับเดือนก่อน

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ

30 กันยายน 2559

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร. 0 5393 1164

e-mail: Kusolc@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ