แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนสิงหาคม 2559

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday September 30, 2016 16:33 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 14/2559

เรื่อง แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนสิงหาคม 2559

ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนสิงหาคม 2559 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อย ตามการบริโภคภาคเอกชนที่ยังทรงตัว โดยสินค้าคงทนหมวดยานยนต์กลับมาขยายตัว จากปัจจัยชั่วคราวจากการจัดโปรโมชั่นของค่ายรถยนต์ ด้านการใช้จ่ายสินค้าในชีวิตประจำวันยังหดตัว ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคแม้จะปรับดีขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับรายได้เกษตรกรยังหดตัว อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐกลับมาเพิ่มขึ้นตามรายจ่ายหมวดลงทุนและสิ่งก่อสร้าง ผนวกกับการลงทุนภาคเอกชนและการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวน้อยลง สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น ตามราคาผักและผลไม้ ส่วนอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ ด้านเงินฝากและสินเชื่อคงค้างของธนาคารพาณิชย์เดือนกรกฎาคมชะลอลง

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้

การบริโภคภาคเอกชน ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.0 และยังทรงตัวจากเดือนก่อน โดยการบริโภคสินค้าคงทนหมวดยานยนต์กลับมาขยายตัว ทั้งรถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และรถจักรยานยนต์ โดยได้รับปัจจัยบวกชั่วคราวจากการจัดโปรโมชั่นจากค่ายรถยนต์ที่มีต่อเนื่อง แต่ยอดขายรวมทั้งปี (ม.ค.-ส.ค.59) ยังใกล้เคียงกับปีก่อน ด้านการใช้จ่ายสินค้าในชีวิตประจำวันยังหดตัว สะท้อนจากดัชนีสินค้าอุปโภคบริโภคหมุนเวียนเร็ว (Nielsen's Fast Moving Consumer Goods) ลดลงในหมวดสินค้าประเภทอาหาร และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และยาสูบเป็นสำคัญ แต่การใช้จ่ายสินค้าไม่คงทนในหมวดอื่น อาทิ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เสื้อผ้า รองเท้า และเครื่องหนัง ยังขยายตัวได้ สะท้อนกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยรายได้ในภาคเกษตรยังลดลงจากผลทางด้านราคาที่ยังอยู่ในระดับต่ำ แต่แรงงานเกษตรส่วนหนึ่งได้รับรายได้จากมาตรการของภาครัฐทดแทน ขณะที่รายได้ของแรงงานนอกภาคเกษตรยังทรงตัว ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคแม้จะปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย รวมทั้งหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง สำหรับภาคบริการ รายได้ภาคบริการสาขาโรงแรมและภัตตาคาร ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน ตามรายได้ในหมวดการบริการที่พักในโรงแรมและรีสอร์ท เป็นสำคัญ สำหรับอัตราการเข้าพักโรงแรมในเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 37.3 ซึ่งต่ำกว่าเดือนก่อน ด้านการใช้จ่ายภาครัฐโดยรวม เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.5 หลังจากที่ลดลงในเดือนก่อน ตามการเบิกจ่ายงบลงทุนในหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นจากกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมชลประทาน และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามลำดับ สำหรับการเบิกจ่ายตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (ตำบลละ 5 ล้านบาท) ยังมีการเบิกจ่ายจำนวน 287.7 ล้านบาท แต่ลดลงจากเดือนก่อนที่มีการเบิกจ่าย 463.8 ล้านบาท ในส่วนของการเบิกจ่าย เงินนอกงบประมาณในการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนนมีการเบิกจ่ายจำนวน 364.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่เบิกจ่ายจำนวน 285.1 ล้านบาท

การลงทุนภาคเอกชน ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.3 แต่หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อน ตามภาคการก่อสร้างเป็นสำคัญ โดยพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลเพื่อที่อยู่อาศัยและเพื่อการพาณิชย์หดตัวน้อยลง ประกอบกับยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ปรับดีขึ้น ส่วนปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ยังขยายตัว ด้านเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการเพิ่มขึ้นจากเม็ดเงินลงทุนของโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล เงินลงทุน 3,027.5 ล้านบาท สำหรับ

ความสนใจลงทุนใน BOI สะท้อนจากเงินลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่าตัว จากโครงการขนาดใหญ่ในหมวดเกษตรและผลผลิตการเกษตรเป็นสำคัญ ได้แก่ กิจการผลิตเอทานอล (6,869 ล้านบาท) กิจการผลิตอาหารสัตว์ (1,990 ล้านบาท) และกิจการสุกรขุน (1,060 ล้านบาท) เป็นต้น

การผลิตภาคเกษตรกรรม ดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญหดตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16.7 และหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน จากผลของราคาที่หดตัวมากขึ้นเป็นสำคัญ โดยราคามันสำปะหลังหดตัว ตามคำสั่งซื้อของจีนที่ชะลอลง ประกอบกับคุณภาพแป้งต่ำ ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หดตัว ส่วนหนึ่งเนื่องจากผู้ประกอบการอาหารสัตว์มีการใช้สินค้าอื่นทดแทน ราคายางพาราหดตัว ตามคำสั่งซื้อของจีนที่ลดลง ส่วนหนึ่งเนื่องจากสต็อกอยู่ในระดับสูง และราคาข้าวเปลือกหอมมะลิหดตัว เนื่องจากผู้ประกอบการชะลอการรับซื้อเพราะยังไม่มีคำสั่งซื้อใหม่จากประเทศคู่ค้า ส่วนราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวชะลอลง ตามผลผลิตที่น้อยกว่าปีการผลิตที่ผ่านมา อีกทั้งผู้ประกอบการชะลอการรับซื้อเพื่อรอผลผลิตฤดูกาลใหม่ออกสู่ตลาด สำหรับผลผลิตพืชสำคัญยังหดตัวใกล้เคียงเดิม จากปัญหาภัยแล้งในช่วงก่อนหน้าทำให้ผลผลิตลดลงและผลผลิตต่อไร่ต่ำ อย่างไรก็ดี ผลผลิตยางพาราเพิ่มขึ้นจากการขยายพื้นที่ปลูกเมื่อหลายปีก่อน

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.5 แต่หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อน ตามการผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ที่เพิ่มขึ้นหลังจากที่หดตัวในเดือนก่อนที่มีการปิดซ่อมบำรุงสายการผลิตบางสาย และความต้องการของผู้ค้าส่งที่มีมากขึ้น ส่วนการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ในกลุ่ม Hard Disk Drive (HDD) กลับทรงตัวหลังจากที่ขยายตัวค่อนข้างมากในเดือนก่อน ทำให้สต็อกสินค้ายังอยู่ในระดับสูง ในส่วนการผลิตในอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายขาวปรับดีขึ้นตามความต้องการในต่างประเทศ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ร้อยละ 0.69 สูงขึ้นจากเดือนก่อน ตามราคาผักและผลไม้ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.35 ใกล้เคียงกับเดือนก่อน สำหรับอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.7

ภาคการเงิน เงินฝากคงค้างของธนาคารพาณิชย์เดือนกรกฎาคม 2559 เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.9 แต่ชะลอลงจากเดือนมิถุนายน จากเงินฝากทุกประเภท ด้านสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.2 แต่ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามเงินเบิกเกินบัญชี และเงินให้กู้ยืม จากความต้องการเงินลงทุนของภาคธุรกิจและการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนที่ชะลอลง กอปรกับธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังในการให้สินเชื่อ

สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

30 กันยายน 2559

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร. 04333 3000 ต่อ 3415

E-mail: PornnipT@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ