สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้เดือนสิงหาคม 2559

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday September 30, 2016 16:45 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 16/2559

เรื่อง สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ เดือนสิงหาคม ปี 2559

ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ในเดือนสิงหาคม ปี 2559 ทรงตัวจากเดือนก่อน โดยภาครัฐยังมีการใช้จ่ายในหมวดลงทุนต่อเนื่อง และการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะกำลังซื้อของครัวเรือนเกษตรดีขึ้นจากที่ผ่านมา ประกอบกับมีแรงสนับสนุนการบริโภคจากรายได้นอกภาคเกษตร สะท้อนจากการจ้างงานในภาคการผลิตที่เร่งตัวขึ้น อย่างไรก็ตามการท่องเที่ยวชะลอลงตามการลดลงของนักท่องเที่ยวมาเลเซีย ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนยังคงเพิ่มขึ้น ส่วนการลงทุนภาคเอกชนยังทรงตัวในระดับต่ำ ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้น

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้มีดังนี้

การใช้จ่ายภาครัฐยังคงมีบทบาทในการสนับสนุนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนในหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้าง เดือนนี้มีการเบิกจ่ายสูงจากสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้งการเบิกจ่ายเพื่อซ่อมแซมและปรับปรุงถนนของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และกรมโยธาธิการและผังเมือง ขณะที่รายจ่ายประจำยังคงลดลงจากหมวดเงินเดือนที่เปลี่ยนไปใช้ระบบจ่ายตรงของกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ เป็นสำคัญ

รายได้เกษตรกรทรงตัวจากเดือนก่อน เนื่องจากผลผลิตสินค้าเกษตรออกสู่ตลาดมากขึ้น ทำให้ราคาอ่อนตัวลง โดยเฉพาะยางพาราที่จีนซึ่งเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ชะลอการซื้อเพื่อรอราคาที่ถูกกว่า ประกอบกับสต็อกยางจีนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะเดียวกันราคาปาล์มน้ำมันได้รับปัจจัยลบจากการปรับลดสัดส่วนการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากบี 5 เป็น บี3 อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนราคาเพิ่มขึ้นสูงทั้งยาง ปาล์มน้ำมันและกุ้งขาว

การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวได้ตามการผลิตยางแปรรูปและไม้ยางพาราแปรรูป นอกเหนือจากการผลิตถุงมือยางที่ขยายตัวตามความต้องการของตลาดสหรัฐอเมริกา และการผลิตอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งประเภทที่ใช้วัตถุดิบกุ้งขาวเพิ่มขึ้น ขณะที่วัตถุดิบปลาและหมึกลดลง อย่างไรก็ตามการผลิตอาหารทะเลกระป๋องหดตัวตามการชะลอซื้อของคู่ค้า เนื่องจากคาดว่าราคามีแนวโน้มลดลงตามราคาวัตถุดิบทูน่า ส่วนการผลิตน้ำมันปาล์มดิบยังคงลดลงตามปริมาณวัตถุดิบที่เข้าโรงงาน แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น โดยปัจจัยสนับสนุนการบริโภคมาจากรายได้เกษตรกรมีสัญญาณดีขึ้น รวมทั้งรายได้นอกภาคเกษตรที่ขยายตัว โดยเฉพาะรายได้จากการจ้างงานในภาคการผลิตที่เร่งตัวขึ้น ส่งผลให้ยอดขายสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคและบริการขยายตัว สอดคล้องกับเครื่องชี้สำคัญ ได้แก่ การจดทะเบียนหมวดยานยนต์ การใช้จ่ายในหมวดเชื้อเพลิงและไฟฟ้าที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามผู้บริโภคยังระมัดระวังการใช้จ่าย สะท้อนจากยอดจำหน่ายสินค้าไม่จำเป็น อาทิ เครื่องดื่ม และอาหารอื่น ๆ ลดลงจาก เดือนก่อน

การท่องเที่ยวชะลอตัวจากเดือนก่อนตามจำนวนนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียที่ลดลงในภาคใต้ตอนล่าง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอลงต่อเนื่อง ส่งผลให้เงินริงกิตอ่อนค่ามาก ประกอบกับจังหวัดสงขลางดจัดงานตักบาตรพระสงฆ์ 10,000 รูป ซึ่งเป็นที่นิยมของชาวมาเลเซีย อย่างไร ก็ตามเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนการท่องเที่ยวยังขยายตัวดีทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน จากนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เร่งตัว เป็นสำคัญ ทั้งนี้ จำนวนเที่ยวบินในภาคใต้ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศยังคงเพิ่มขึ้น

มูลค่าการส่งออกและนำเข้าลดลงจากเดือนก่อน แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน มูลค่าการส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ยางที่ตลาดมาเลเซีย สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา มีความต้องการเพิ่มขึ้นมาก รวมทั้งไม้ยางพาราและผลิตภัณฑ์จากไม้ยางพาราขยายตัวต่อเนื่องจากตลาดหลักจีน และตลาดอื่น ได้แก่ ตลาดตะวันออกกลาง มาเลเซียและอินโดนีเซีย

การลงทุนภาคเอกชนยังทรงตัวในระดับต่ำ ตามการลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังซบเซา โดยเครื่องชี้สำคัญ ได้แก่ พื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล และปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ ยังคงหดตัวจากเดือนเดียวกันปีก่อน ส่วนการนำเข้าสินค้าทุนยังไม่กระเตื้องขึ้น อย่างไรก็ดีเห็นสัญญาณที่ดีจากโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนและธุรกิจขอจดทะเบียนนิติบุคคลเพิ่มขึ้น

เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 0.42 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามราคาเป็ดไก่ ผักและผลไม้ จากความต้องการในช่วงเทศกาลสารทจีน ขณะที่อัตราว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.27 ปรับขึ้นจากเดือนก่อน โดยการจ้างงานภาคเกษตรลดลงมาก เนื่องจากความต้องการแรงงานเพื่อปลูกยางพาราลดลง ขณะที่แรงงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นทั้งการผลิต ก่อสร้าง และการค้า

ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม ปี 2559 เงินฝากคงค้างของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจชะลอลง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยไม่จูงใจ ประกอบกับยังไม่มีการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากประเภทสลากชุดใหม่มาทดแทนชุดที่ครบกำหนด ส่งผลให้มีการถอนเงินฝากไปลงทุนในผลิตภัณฑ์อื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า อาทิ กองทุนรวม ส่วนสินเชื่อคงค้างของธนาคารพาณิชย์ชะลอลงตามการชำระคืนสินเชื่อ ขณะเดียวกันธนาคารเพิ่มความเข้มงวดมาตรฐานการให้สินเชื่อมากขึ้น โดยเฉพาะลูกค้า SMEs จากความกังวลคุณภาพสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น ส่วนสินเชื่อคงค้างของสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งสินเชื่อที่ให้กับภาคธุรกิจและสินเชื่อที่อยู่อาศัยของครัวเรือน รวมทั้งสินเชื่อตามโครงการภาครัฐ

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

30 กันยายน 2559

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทรศัพท์ 074272000 ต่อ 4717

E-mail : RegionalEconSouth1@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ