แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือไตรมาส 3 ปี 2559

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday November 2, 2016 14:20 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 14/2559

เรื่อง แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงิน ไตรมาส 3 ปี 2559

เศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือในไตรมาสที่ 3 ปี 2559 ชะลอลงจากไตรมาสก่อน ภาพรวมอุปสงค์ยังอ่อนแอ ส่วนสำคัญมาจากการลงทุนภาคเอกชนยังหดตัว การบริโภคภาคเอกชนชะลอลง อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐโดยเฉพาะการลงทุนขยายตัวได้ดี ชดเชยด้านอุปสงค์ได้บางส่วน ด้านการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ลดลง การส่งออกหดตัวมากขึ้นทั้งในส่วนของการส่งออกที่ไม่ใช่ชายแดนและชายแดน ส่วนภาคการท่องเที่ยวอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง ด้านการผลิตภาคเกษตร ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นในช่วงต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยว มีส่วนให้รายได้เกษตรปรับดีขึ้นบ้าง แต่ยังมีความเสี่ยงที่ราคาพืชผลเกษตรสำคัญมีแนวโน้มลดลง สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือโดยทั่วไปยังอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามราคาอาหารสด อัตราการว่างงานแม้อยู่ในระดับต่ำ แต่จำนวนผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานมีทิศทางเพิ่มขึ้น ด้านเงินให้สินเชื่อและเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ชะลอลง

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือมีดังนี้

การลงทุนภาคเอกชน ลดลงร้อยละ 4.7 ส่วนสำคัญมาจากภาวะซบเซาในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง อย่างไรก็ดี การลงทุนภาคเอกชนที่เพิ่มเป็นการลงทุนในธุรกิจโรงแรมในจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญ ด้านการลงทุนในภาคการผลิตยังไม่ฟื้นตัว จากภาวะซบเซาของเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ โดยมีกำลังการผลิตเหลืออยู่ในหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สอดคล้องกับเครื่องชี้การลงทุนที่สำคัญ ได้แก่ พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล โดยเฉพาะการก่อสร้างโรงงาน อาคารพาณิชย์และอาคารชุด ยอดขายวัสดุก่อสร้าง ปริมาณจดทะเบียนรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และยอดการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวเพียงร้อยละ 2.2 โดยปัจจัยชั่วคราวจากยอดขายในหมวดยานยนต์ที่เพิ่มขึ้นค่อย ๆ หมดไป รวมถึงการใช้จ่ายหมวดสินค้าในชีวิตประจำวันยังหดตัวกระจายทั้งภาคเหนือบนและเหนือตอนล่าง ส่วนการใช้จ่ายหมวดน้ำมันเชื้อเพลิงลดลง โดยส่วนหนึ่งจากผลด้านราคาที่ปรับเพิ่มขึ้น

ขณะที่ภาครัฐยังมีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะการใช้จ่ายลงทุนภาครัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 กระจายตัวดีทั้งภาคเหนือตอนบนและตอนล่าง จากการเร่งเบิกจ่ายช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ ทั้งโครงการก่อสร้างและซ่อมแซมถนนของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท การพัฒนาแหล่งน้ำและระบบชลประทานของกรมชลประทาน รวมถึงการก่อสร้างอาคารสถาบันการศึกษา และโรงพยาบาลให้แล้วเสร็จตามกำหนดเวลา

รายได้เกษตรกร หดตัวน้อยลงเป็นร้อยละ 6.7 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร หดตัวเหลือร้อยละ 7.3 ผลผลิตพืชสำคัญเพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวทั้งข้าวนาปี หอมแดง และสับปะรด รวมถึงผลผลิตปศุสัตว์ยังคงเพิ่มขึ้นทั้งสุกร ไก่เนื้อ และไข่ไก่ ตามความต้องการบริโภคภายในประเทศและส่งออก ขณะที่ผลผลิตที่ลดลง ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง ถั่วลิสง มันสำปะหลัง และลำไย ทั้งนี้ ผลจากน้ำท่วมช่วงเดือนกันยายนในภาคเหนือตอนล่างต่อผลผลิตพืชหลัก เช่น ข้าว ยังอยู่จำกัดบางพื้นที่เท่านั้น ด้านราคาสินค้าเกษตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 โดยเฉพาะราคาข้าวและลำไย ขณะที่ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลังลดลง เนื่องจากมีการนำเข้าข้าวสาลี และกากข้าวโพดมาใช้ทดแทนในการผลิตอาหารสัตว์มากขึ้น และราคาปศุสัตว์ลดลงจากราคาไก่เนื้อเป็นสำคัญ เนื่องจากมีผลผลิตมากกว่าความต้องการของตลาด ทั้งนี้ จากแนวโน้มผลผลิตพืชหลักมีมากขึ้น อาจส่งผลต่อราคาสินค้าเกษตรทั่วไปอาจมีแนวโน้มลดลงในระยะข้างหน้า

ผลผลิตอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 17.1 ส่วนสำคัญมาจากการผลิตส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะแผงวงจรรวมและตัวเก็บประจุไฟฟ้า รวมถึงการผลิตกลุ่มส่วนประกอบฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ สิ่งทอ เซรามิก อัญมณี และเครื่องประดับ ตามการชะลอตัวของคำสั่งซื้อในตลาดโลก อย่างไรก็ดี พบว่าโรงงานบางรายที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตยานยนต์และโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีการลงทุนในเครื่องจักรเพื่อปรับสายการผลิตให้สอดคล้องกับอุปสงค์ของตลาดมากขึ้น ด้านการผลิตสินค้าเกษตรแปรรูปกลับมาขยายตัวในกลุ่มการแปรรูปผักผลไม้ และการสีข้าว ตามวัตถุดิบการเกษตรมากขึ้นในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว

มูลค่าการส่งออก หดตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 ทั้งจากมูลค่าการส่งออกสินค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ไปจีน ฮ่องกงและสิงคโปร์ ตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวและภาวะการแข่งขันสูง และมูลค่าการส่งออกไปยังชายแดนโดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคและปศุสัตว์ไป สปป. ลาว และจีนตอนใต้หดตัวต่อเนื่อง จากการเข้มงวดมาตรฐานการนำเข้าสินค้าในกลุ่มประเทศดังกล่าว อย่างไรก็ดี มีเพียงการส่งออกไปสหภาพเมียนมาในกลุ่มเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในการเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภคยังขยายตัวดี ช่วยพยุงให้ภาพรวมการส่งออกไม่ลดลงมากนัก ด้านมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.6 จากการนำเข้ากระแสไฟฟ้าจาก สปป.ลาว เป็นสำคัญ ขณะที่การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพื่อผลิตสินค้าอุตสาหกรรมส่งออกยังหดตัว

อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยว ขยายตัวได้ดีกว่าคาด แม้อยู่นอกฤดูกาลท่องเที่ยว สะท้อนจากแนวโน้มของเครื่องชี้ที่สำคัญ ๆ ได้แก่ จำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานภาคเหนือ จำนวนเที่ยวบินตรงและนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานเชียงใหม่ อัตราเข้าพักของโรงแรม และปริมาณการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทโรงแรมและภัตตาคาร ทั้งนี้ องค์ประกอบสำคัญมาจากทั้งนักท่องเที่ยวไทยเดินทางเข้าร่วมประชุมสัมมนาและท่องเที่ยวในจังหวัดสำคัญในช่วงวันหยุดยาว และนักท่องเที่ยวชาวจีนทั้งกลุ่มที่เดินทางอิสระและเดินทางเป็นกลุ่มมีมากกว่าคาดไว้

เสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือ โดยทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปรับขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน โดยราคาอาหารสดประเภทไข่ไก่ ผัก และผลไม้สดเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศหดตัวในอัตราน้อยลง ตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก ด้านอัตราการว่างงาน แม้ทรงตัวในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.0 แต่จำนวนผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานมีทิศทางเพิ่มขึ้น

ภาคการเงิน ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2559 สาขาธนาคารพาณิชย์ มียอดคงค้างเงินให้สินเชื่อ 581,824 ล้านบาท ชะลอลงเหลือร้อยละ 1.2 ส่วนสำคัญมาจากการหดตัวในสินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ขนส่ง และธุรกิจการเงิน อย่างไรก็ดี สินเชื่อธุรกิจโรงแรมและด้านสุขภาพขยายตัวดี สอดคล้องกับภาคธุรกิจท่องเที่ยว ขณะที่สินเชื่อภาคการก่อสร้าง ค้าปลีกค้าส่ง อุตสาหกรรมการผลิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยยังขยายตัวได้ แม้ในอัตราไม่สูงนัก ด้านเงินฝากมียอดคงค้าง 628,307 ล้านบาท เพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลงร้อยละ 3.9 ส่วนหนึ่งจากการถอนเงินฝากของส่วนราชการและเงินฝากที่ครบกำหนด ทั้งนี้ สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากสูงขึ้นเล็กน้อยเป็นร้อยละ 92.6

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ

2 พฤศจิกายน 2559

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร. 0 5393 1164

e-mail: Kusolc@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


แท็ก ภาคเหนือ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ