ฉบับที่ 16/2559
เรื่อง แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือไตรมาสที่ 3 ปี 2559
ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือไตรมาสที่ 3 ปี 2559 ทรงตัวจากไตรมาสก่อน ตามการบริโภคภาคเอกชนที่ทรงตัว โดยการใช้จ่ายสินค้าคงทนหมวดยานยนต์ขยายตัว ขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้าในชีวิตประจำวันปรับลดลง ทั้งนี้ รายได้ภาคเกษตรหดตัวน้อยลง ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังทรงตัวในระดับต่ำ ด้านการใช้จ่ายภาครัฐปรับลดลงหลังจากที่มีการเร่งเบิกจ่ายไปมากในช่วงไตรมาสก่อน สำหรับการลงทุนภาคเอกชนและการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลง ขณะที่สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ชะลอลงต่อเนื่อง ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงตามราคาอาหารสด และอาหารสำเร็จรูป ส่วนอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ
การบริโภคภาคเอกชน ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.3 โดยยังทรงตัวจากไตรมาสก่อน การใช้จ่ายสินค้าคงทนหมวดยานยนต์ยังขยายตัว สอดคล้องกับภาคการค้าในหมวดค้าปลีกยานยนต์และเชื้อเพลิงที่ขยายตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการจัดโปรโมชั่นของค่ายรถยนต์ที่มีต่อเนื่อง ขณะที่การใช้จ่ายสินค้าในชีวิตประจำวันลดลงจากหมวดเครื่องดื่มและยาสูบ แต่สินค้าในหมวดอื่น อาทิ อาหารและของใช้ในครัวเรือนยังทรงตัว ทั้งนี้ รายได้ภาคเกษตรหดตัวน้อยลง ขณะที่รายได้นอกภาคเกษตรสะท้อนจากอัตราค่าจ้าง นอกภาคเกษตรเฉลี่ยต่อเดือนยังทรงตัว แม้ว่าภัยแล้งจะคลี่คลาย แต่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังทรงตัวในระดับต่ำเนื่องจากราคาสินค้าเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำ สำหรับภาคบริการ รายได้ภาคบริการสาขาโรงแรมและภัตตาคาร ลดลงจากไตรมาสก่อนเล็กน้อยโดยอัตราการเข้าพักแรมสูงขึ้นจากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 54.4 จากนักท่องเที่ยวที่มีมากขึ้นในช่วงวันหยุดยาว ขณะที่สัดส่วนรายได้การจัดสัมมนาลดลง ส่วนหนึ่งเนื่องจากส่วนราชการลดการจัดสัมมนาในต่างพื้นที่
การลงทุนภาคเอกชน ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.7 แต่หดตัวน้อยลงจากไตรมาสก่อนตามภาคก่อสร้าง โดยพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลปรับดีขึ้นจากการก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัยและเพื่อการพาณิชย์ ส่วนหนึ่งจากการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ในจังหวัดนครราชสีมา ส่วนยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ปรับดีขึ้น ขณะที่ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ชะลอลง ด้านโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการที่หดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปีก่อนกลับมาขยายตัวจากกิจการขนาดใหญ่ อาทิ โรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล และศูนย์ซ่อมรถยนต์ เป็นต้น สำหรับเงินลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ปรับลดลงเล็กน้อย หลังจากที่ขยายตัวสูงในไตรมาสก่อน โดยมีเพียงหมวดเกษตรและผลผลิตการเกษตรที่ยังขยายตัว
ด้านการใช้จ่ายภาครัฐโดยรวม ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อยร้อยละ 0.4 หลังจากที่มีการเร่งเบิกจ่ายไปมากในช่วงไตรมาสก่อนหน้า จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่แผ่วลงหลังจากที่มีการเบิกจ่ายต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2559 ทั้งโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ (หมู่บ้านละ 200,000 บาท) ซึ่งสิ้นสุดโครงการในไตรมาสนี้ที่เบิกจ่าย 382.5 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ 6,630.5 ล้านบาท รวมทั้งมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (ตำบลละ 5 ล้านบาท) เบิกจ่าย 950 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ 6,030.7 ล้านบาท นอกจากนี้ การเบิกจ่ายงบลงทุนในหมวดครุภัณฑ์ยังลดลง ขณะที่หมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างชะลอลงเล็กน้อย
ในส่วนของการเบิกจ่ายเงินนอกงบประมาณในการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนนมีการเบิกจ่าย 1,160.7 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ 2,197.4 ล้านบาท
การผลิตภาคเกษตรกรรม ดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญหดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.7 แต่หดตัวน้อยลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากด้านผลผลิตพืชเป็นสำคัญ โดยผลผลิตยางพาราเพิ่มขึ้น ตามพื้นที่เปิดกรีดใหม่จากการขยายพื้นที่ปลูกในช่วงก่อนหน้า ขณะที่ผลผลิตอ้อยในไตรมาสก่อนลดลงค่อนข้างมาก ส่วนผลผลิตข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หดตัวใกล้เคียงไตรมาสก่อน สำหรับราคาพืชสำคัญหดตัวมากขึ้น ตามราคามันสำปะหลัง เนื่องจากจีนชะลอการซื้อ และคุณภาพแป้งต่ำจากปัญหาภัยแล้ง ราคาข้าวหอมมะลิหดตัว เนื่องจากผู้ประกอบการชะลอการซื้อ ราคายางพาราหดตัว ตามความต้องการของจีนที่ลดลง และราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หดตัว เนื่องจากมีการใช้สินค้าเกษตรอื่นทดแทน อย่างไรก็ดี ราคาข้าวเปลือกเหนียวเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตในตลาด มีน้อยกว่าปีการผลิตก่อน
การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.4 แต่หดตัวน้อยลงจากไตรมาสก่อน ตามการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม Hard Disk Drive (HDD) ที่ขยายตัวจากการย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการมาผลิตในภาค ส่วนการผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หดตัวน้อยลง จากคำสั่งซื้อของผู้ค้าส่งที่ปรับดีขึ้น ขณะที่การผลิตในอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายขาวหดตัวมากขึ้น เนื่องจากปริมาณอ้อยเข้าหีบที่น้อยกว่าปีก่อนจากปัญหาภัยแล้ง เช่นเดียวกับอุปทานในตลาดโลกที่โน้มลง ขณะที่ความต้องการจากต่างประเทศยังมีต่อเนื่อง
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 0.64 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนเล็กน้อยตามราคาอาหารสด และอาหารสำเร็จรูป ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.31 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนตามราคาอาหารสำเร็จรูปเป็นสำคัญ สำหรับอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.8 ภาคการเงิน เงินฝากคงค้างของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.6 แต่ชะลอตัวจากไตรมาสก่อน ตามเงินฝากทุกประเภท ด้านสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.2 แต่ชะลอลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน โดยสินเชื่อภาคครัวเรือนเกือบทุกประเภทเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง สำหรับสินเชื่อภาคธุรกิจชะลอลงในหลายธุรกิจ เนื่องจากสถาบันการเงินยังระมัดระวังในการให้สินเชื่อ อย่างไรก็ดี สินเชื่อที่ให้แก่ธุรกิจเกษตร ประมง ป่าไม้ ยังขยายตัว
สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
2 พฤศจิกายน 2559
ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค
โทร. 04333 3000 ต่อ 3415
E-mail: PornnipT@bot.or.th
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย