สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ไตรมาส 3 ปี 2559

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday November 2, 2016 14:25 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 18/2559

เรื่อง สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ ไตรมาส 3 ปี 2559

ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ไตรมาส 3 ปี 2559 ขยายตัวจากไตรมาสก่อนหน้าและไตรมาสเดียวกัน ปีก่อน จากแรงส่งของการท่องเที่ยวและการลงทุนภาครัฐ ประกอบกับการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากรายได้เกษตรกรฟื้นตัวตามราคาสินค้าเกษตร ขณะเดียวกันการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ถึงแม้บางภาคการผลิตมีข้อจำกัดด้านวัตถุดิบ ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นตามราคาอาหารสด ส่วนอัตราว่างงานลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน สอดคล้องกับการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้มีดังนี้

ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดี แม้จะมีเหตุการณ์ระเบิดในเดือนสิงหาคม แต่นักท่องเที่ยวหลักในภูมิภาคเอเชียยังเชื่อมั่นในความปลอดภัย ทั้งนี้ หลายสายการบินมีการเพิ่มเส้นทางการบินระหว่างจังหวัด สุราษฎร์ธานีและจีน ส่งผลให้การท่องเที่ยวฝั่งอันดามันและอ่าวไทยขยายตัวสูงจากนักท่องเที่ยวจีน ส่วนภาคใต้ตอนล่างขยายตัวจากนักท่องเที่ยวมาเลเซีย เป็นสำคัญ นอกจากนี้จำนวนเที่ยวบินภาคใต้เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ

การใช้จ่ายภาครัฐในงบลงทุนขยายตัวต่อเนื่อง จากการเร่งเบิกจ่ายหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้าง โดยหน่วยงานที่มีจำนวนเงินเบิกจ่ายสูงได้แก่ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และกรมชลประทาน ขณะที่รายจ่ายประจำลดลงตามหมวดเงินเดือนของกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ที่มีการจ่ายตรงเงินเดือนจากส่วนกลาง ด้านรายได้จากการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นตามเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีมูลค่าเพิ่มจากกิจการขายส่งขายปลีก ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร เป็นสำคัญ

รายได้เกษตรกรเร่งตัวจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน จากด้านราคาเป็นสำคัญ โดยราคายางและปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันผลกระทบจากภัยแล้งคลี่คลายลง ทำให้ผลผลิตหดตัวน้อยลง ส่วนกุ้งขาวถึงแม้ผลผลิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังการฟื้นตัวจากโรคระบาด แต่ราคาได้รับปัจจัยบวกจากผลผลิตของประเทศคู่แข่งลดลง ส่งผลให้ตลาดหันมาซื้อกุ้งขาวจากไทยมากขึ้น

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้น สะท้อนจากยอดขายสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคและบริการเพิ่มขึ้น โดยปัจจัยสนับสนุนการบริโภคมาจากรายได้เกษตรกรที่ดีขึ้น รวมทั้งรายได้นอกภาคเกษตรที่ขยายตัว และส่วนหนึ่งมาจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดี ทำให้มีการใช้จ่ายในหมวดที่พักแรมและบริการด้านอาหารเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามการใช้จ่ายในหมวดยานยนต์ชะลอลง หลังจากมียอดขายเร่งตัวในช่วงก่อนหน้าจากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่

การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ตามการผลิตอาหารทะเลแช่เย็น แช่แข็ง ถุงมือยาง ยางแปรรูป ไม้ยางและผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ตามผู้ผลิตบางภาคอุตสาหกรรมมีข้อจำกัดในการจัดหาวัตถุดิบ โดยเฉพาะอาหารทะเลกระป๋อง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเรือประมงไทยบางส่วนยังไม่สามารถออกเรือได้จากปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย และยังได้รับผลกระทบจากราคานำเข้าปลาทูน่าที่สูงกว่าปีก่อน ส่วนการผลิตน้ำมันปาล์มดิบลดลงตามปริมาณผลปาล์มที่เข้าโรงงาน

มูลค่าการส่งออกและนำเข้าเพิ่มขึ้น ถึงแม้หักปัจจัยชั่วคราวในการส่งออกและนำเข้าอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการปิโตรเลียมแล้ว โดยมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง ไม้ยางและผลิตภัณฑ์ นอกจากเพิ่มขึ้นจากการส่งออกไปตลาดหลักจีนและมาเลเซียแล้ว มูลค่าการส่งออกไม้ยางและผลิตภัณฑ์ยังเร่งตัวในตลาดตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตามมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร และสินค้าเกษตรแปรรูปหดตัว

การลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัว โดยเฉพาะพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลที่ลดลงตามภาวะอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซา สอดคล้องกับปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ที่หดตัว เป็นผลจากกำลังซื้อโดยรวมยังต่ำ ประกอบกับการให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์มีความระมัดระวังมากขึ้น นอกจากนี้ยอดจดทะเบียนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลลดลง อย่างไรก็ตามการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการในโครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่าง ธปท.กับภาคธุรกิจพบว่า มีการขยายการลงทุนบ้างในบางภาคธุรกิจ ส่วนใหญ่เพื่อสนับสนุนการทำธุรกิจเดิม เช่น ขยายพื้นที่บริการ ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เป็นต้น

เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปฟื้นตัวต่อเนื่อง อยู่ที่ร้อยละ 0.40 ขยับขึ้นตามราคาเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ สัตว์น้ำ ผักและผลไม้ ส่งผลให้ราคาอาหารสำเร็จรูปปรับเพิ่มขึ้น ส่วนการจ้างงานขยายตัวตามการจ้างงานในภาคการค้า รวมทั้งภาคก่อสร้างที่ได้รับผลดีจากการลงทุนของภาครัฐ ส่งผลให้อัตราว่างงานลดลงจากร้อยละ 1.61 ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ร้อยละ 1.14 ในไตรมาสนี้

สิ้นไตรมาส 3 ปี 2559 เงินฝากคงค้างของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 2.9 จากเงินฝาก ออมทรัพย์และกระแสรายวัน เป็นสำคัญ ขณะที่เงินให้สินเชื่อหดตัวร้อยละ 0.1 ตามสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่ลดลงจากการให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเช่าซื้อรถ ด้านสินเชื่อธุรกิจขยายตัวในอัตราชะลอลงตามสินเชื่อที่ให้แก่กิจการขายปลีกขายส่ง ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร และธุรกิจการผลิต โดยสินเชื่อการผลิตที่ชะลอลงมากได้แก่ การผลิตผลิตภัณฑ์ยาง รวมทั้งการแปรรูปและเก็บถนอมสัตว์น้ำ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาตามขนาดธุรกิจ สินเชื่อที่ให้แก่ธุรกิจขนาดย่อมและขนาดกลางชะลอลง ขณะที่เงินให้สินเชื่อแก่ธุรกิจขนาดใหญ่หดตัว

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

2 พฤศจิกายน 2559

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทรศัพท์ 074272000 ต่อ 4716

E-mail : RegionalEconSouth1@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ