สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้เดือนตุลาคม 2559

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday October 31, 2016 11:44 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 20/2559

เรื่อง สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ เดือนตุลาคม ปี 2559

ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ในเดือนตุลาคม ปี 2559 ชะลอตัวจากเดือนก่อน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวเอเชียที่ชะลอลง ขณะเดียวกันการใช้จ่ายงบลงทุนภาครัฐลดลง มูลค่าการส่งออกลดลงจากสินค้าสำคัญ ทั้งผลิตภัณฑ์ยางแปรรูป อาหารทะเลกระป๋อง และอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็ง สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง สำหรับการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนชะลอตัว เนื่องจากประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย แม้รายได้เกษตรกรจะเร่งตัวขึ้นมากจากด้านราคาเป็นสำคัญ นอกจากนี้ การลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำ ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อชะลอลงจากเดือนก่อน ตามราคาอาหารสดที่ชะลอตัว และราคาพลังงานที่ติดลบน้อยลง รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้มีดังนี้

การท่องเที่ยวชะลอตัว ตามจำนวนนักท่องเที่ยวมาเลเซียที่ชะลอลง เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจและค่าเงินริงกิตที่อ่อนลง ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวจีนชะลอตามมาตรการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมาย สอดคล้องกับจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ชะลอตัวเช่นกัน

การใช้จ่ายภาครัฐโดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน ถือเป็นการลดลงเดือนแรกหลังจากขยายตัวมาตลอดตั้งแต่ต้นปี โดยลดลงตามหมวดครุภัณฑ์ เงินอุดหนุนทั่วไป เงินอุดหนุนเฉพาะกิจ และงบรายจ่ายอื่น ด้านรายได้การจัดเก็บภาษีอากรลดลง ตามการจัดเก็บภาษีสรรพากร ที่ลดลงในหมวดภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รวมทั้งการจัดเก็บอากรขาเข้าลดลง อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มขยายตัวจากกิจการขายส่งขายปลีก ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร

การผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงจากเดือนก่อนและเดือนเดียวกันปีก่อน การผลิตยางแปรรูปหดตัวตามผลผลิตยางที่ลดลงเนื่องจากฝนตกชุกติดต่อกัน ทำให้การผลิตเพื่อส่งออกลดลง แม้คำสั่งซื้อจากตลาดจีนยังเพิ่มขึ้น การผลิตอาหารทะเลกระป๋องหดตัวตามคำสั่งซื้อที่ลดลงในตลาดหลัก ยกเว้นตะวันออกกลาง เนื่องจากเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัวและวัตถุดิบทูน่ามีราคาสูง เช่นเดียวกับอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งที่การผลิตลดลงเนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบปลา ประกอบกับการส่งออกกุ้งที่ชะลอตัวในเดือนนี้ ตามผลผลิตที่ลดลง ส่วนผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบหดตัว ตามผลผลิตปาล์มน้ำมันที่ลดลงจากภาวะภัยแล้งที่ส่งผลต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การผลิตถุงมือยางและไม้ยางและผลิตภัณฑ์ยังคงขยายตัวดี ตามคำสั่งซื้อจากตลาดหลักที่เพิ่มขึ้น

มูลค่าการส่งออกหดตัวเทียบจากเดือนก่อนและเดือนเดียวกันปีก่อน ตามมูลค่าการส่งออกสินค้าสำคัญที่ลดลง อาทิ สินค้าเกษตร สินค้าเกษตรแปรรูป ทั้งยางแผ่น ยางแท่ง น้ำยางข้น อาหารทะเลกระป๋อง และอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็ง ซึ่งสอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ ยังขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับมูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้นตามการนำเข้าในหมวดอากาศยาน เรือ แท่นและรถไฟ ซึ่งเป็นการนำเข้าอุปกรณ์สำหรับใช้ในกิจการปิโตรเลียมเป็นสำคัญ ส่วนการนำเข้าสินค้าประมงเพิ่มขึ้น จากการนำเข้ากุ้งและปลาหมึก

การลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ตามการลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังซบเซา สะท้อนจากพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลและปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ โดยเฉพาะปูนถัง (Bulk Cement) ยังคงหดตัวจากเดือนเดียวกันปีก่อน นอกจากนี้ ภาวะการค้าต่างประเทศและในประเทศที่ชะลอตัว ทำให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและการค้าชะลอการลงทุน

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนชะลอตัว ตามการใช้จ่ายสินค้าจำเป็นและไม่จำเป็นที่ลดลง เนื่องจากผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการใช้จ่าย แม้รายได้เกษตรกรจะเร่งตัวขึ้นมาก สอดคล้องกับดัชนีเครื่องชี้ที่สำคัญที่ชะลอลงมากทุกหมวด โดยเฉพาะดัชนีหมวดยานยนต์ เนื่องจากการงดจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในเดือนนี้ นอกจากนี้ ดัชนียอดขายสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคและบริการชะลอลงมากเช่นกัน ส่งผลให้ยอดขายสินค้าในร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ชะลอลง

รายได้เกษตรกรขยายตัวเทียบจากเดือนก่อนและเดือนเดียวกันปีก่อน จากด้านราคาเป็นสำคัญ โดยราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นทั้งยางพารา ปาล์มน้ำมัน และกุ้งขาว เนื่องจากผลผลิตของทุกสินค้าเกษตรลดลง จากปัญหาสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยและปัญหาโรคตัวแดงดวงขาวในกุ้ง

เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 0.39 ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามหมวดอาหารสดที่ชะลอลง เนื่องจากความต้องการเนื้อสัตว์ลดลงในช่วงเทศกาลกินเจ ขณะที่ผลผลิตทั้งผักและผลไม้ออกสู่ตลาดจำนวนมาก ทำให้ราคาลดลง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันขายปลีกที่ปรับเพิ่มขึ้น ทำให้หมวดพลังงานติดลบน้อยลง อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.84 สูงขึ้นจากเดือนก่อน ตามการจ้างงานภาคเกษตรที่ลดลง อย่างไรก็ดี การจ้างงานนอกภาคเกษตรขยายตัวจากภาคการค้า ก่อสร้าง และบริการเป็นสำคัญ

ณ สิ้นเดือนกันยายน ปี 2559 เงินฝากรวมทั้งระบบของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเงินฝากภาครัฐจากเงินงบประมาณ ประกอบกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจมีการจูงใจผู้ฝากด้วยอัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้น ส่วนสินเชื่อคงค้างของธนาคารพาณิชย์ลดลงเล็กน้อยตามการชะลอตัวของสินเชื่อที่ให้แก่กิจการขายปลีกขายส่ง ที่พักแรม และบริการด้านอาหาร และธุรกิจการผลิต ด้านสินเชื่อคงค้างของสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินเชื่อที่กับกลุ่มการเงินและที่อยู่อาศัย

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

31 ตุลาคม 2559

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทรศัพท์ 074272000 ต่อ 4712

E-mail : RegionalEconSouth1@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ