แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนพฤศจิกายน ปี 2559

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday December 30, 2016 16:10 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 69/2559

เรื่อง แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนพฤศจิกายนปี 2559

เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2559 ขยายตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ตามมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวสูง สอดคล้องกับการผลิตในอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกและการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางโดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ การใช้จ่ายอุปโภคและลงทุนภาครัฐขยายตัวดีต่อเนื่องและยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากการหดตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศและการชะลอตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวไทย ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนชะลอลงเป็นเดือนที่สองและการลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัว

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนตามราคาอาหารสดและราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ สำหรับอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลลดลงจากเดือนก่อน ตามการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่ปรับดีขึ้น ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่อง

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมีดังนี้

มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวร้อยละ 10.1 จากระยะเดียวกันปีก่อนหลังจากหดตัวร้อยละ 4.3 ในเดือนก่อน จาก 1) ฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า 2) ปัจจัยชั่วคราวจากการเร่งนำเข้าสินค้าเกษตรของจีน รวมทั้งมีการส่งออกแท่นขุดเจาะน้ำมันมูลค่าค่อนข้างสูงไปบราซิล 3) อุปสงค์ต่างประเทศในหลายสินค้าปรับดีขึ้นต่อเนื่อง อาทิ แผงวงจรรวม (IC) สอดคล้องกับการขยายกำลังการผลิตในช่วงก่อนหน้า เครื่องใช้ไฟฟ้าขยายตัวตามการส่งออกแผงกำเนิดไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ไปสหรัฐฯ หลังผู้ประกอบการจากจีนย้ายฐานการผลิตมาไทย เครื่องจักรและอุปกรณ์ขยายตัวตามการส่งออกprinter ไปสหรัฐฯ และญี่ปุ่น และชิ้นส่วน compressor ไปจีน และ 4) สินค้าที่ราคาส่งออกเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบซึ่งเคยหดตัวอย่างต่อเนื่องกลับมาขยายตัวได้ในเดือนนี้ทั้งราคาและปริมาณ ทั้งนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวในหลายหมวดสินค้าเช่นกันซึ่งสอดคล้องกับภาคการส่งออก

สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าขยายตัวร้อยละ 2.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการขยายตัวในหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเป็นหลัก โดยการนำเข้าเชื้อเพลิงขยายตัวจากทั้งปริมาณเนื่องจากฐานที่ต่ำในระยะเดียวกันปีก่อน และราคาที่ขยายตัวตามราคาน้ำมันดิบ สำหรับการนำเข้าโลหะขยายตัวสอดคล้องกับการผลิตเหล็กแผ่นสำเร็จรูปที่ขยายตัว และการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวต่อเนื่องสอดคล้องกับแนวโน้มการส่งออกของสินค้าดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การนำเข้าสินค้าทุนยังคงหดตัวจากผลของฐานที่อยู่ในระดับสูงเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อนมีการนำเข้าอุปกรณ์โทรคมนาคมเพื่อเตรียมการลงทุน 4G

การใช้จ่ายภาครัฐไม่รวมเงินโอนขยายตัวทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน และยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลของมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ ขณะที่รายจ่ายลงทุนขยายตัวจากโครงการคมนาคมและค่าชดเชยอสังหาริมทรัพย์ในการเวนคืนที่ดินของกรมทางหลวงเป็นสำคัญด้านรายได้จัดเก็บของรัฐบาลหดตัวจากรายได้ที่มิใช่ภาษีเป็นสำคัญ เนื่องจากมีการเลื่อนนำส่งค่าภาคหลวงปิโตรเลียมไปแล้วในเดือนก่อน

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน และเมื่อปรับฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อนโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนและมาเลเซียในขณะที่นักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศยุโรป รัสเซีย และสหรัฐฯ ยังขยายตัวดีต่อเนื่อง สำหรับการท่องเที่ยวในประเทศยังชะลอตัว สอดคล้องกับการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค ส่งผลให้ การบริโภคภาคเอกชนโดยรวมชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนการบริโภคโดยรวมยังไม่เข้มแข็งนักสะท้อนจากกำลังซื้อของครัวเรือนนอกภาคเกษตรกรรมที่ลดลงโดยเฉพาะภาคการค้า ด้านรายได้เกษตรกรยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง โดยในเดือนนี้กลับมาหดตัวตามผลผลิตข้าวนาปีเป็นสำคัญส่วนหนึ่งจากการเลื่อนการเก็บเกี่ยวไปเดือนหน้าในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรขยายตัวตามราคายางพารา ส่งผลให้ความเชื่อมั่นภาคครัวเรือนทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรมยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี การซื้อรถจักรยานยนต์ยังขยายตัวได้จากกำลังซื้อที่ปรับดีขึ้นของเกษตรกรสวนยางพารา และรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น

การลงทุนภาคเอกชน โดยรวมมีทิศทางปรับดีขึ้นบ้าง แต่ยังคงหดตัวและกระจุกตัวอยู่ในบางธุรกิจ อาทิ พลังงานทดแทน ที่ได้รับผลดีจากมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ สะท้อนจากการนำเข้าสินค้าทุนในหมวดพลังงานทดแทน ที่เพิ่มขึ้นและสินเชื่อในภาคดังกล่าวที่ขยายตัว และธุรกิจภาคบริการ อาทิ ภาคการค้าและร้านอาหาร ตามยอดจำหน่ายเครื่องทำความเย็นและพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างภาคบริการและขนส่งที่ปรับดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับการลงทุน ภาคก่อสร้างปรับดีขึ้นตามยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง สอดคล้องกับอุปทานอสังหาริมทรัพย์แนวราบที่ปรับเพิ่มขึ้นบ้าง

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 0.60 จากร้อยละ 0.34 ในเดือนก่อน ตามราคาอาหารสดและราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวตามต้นทุนโดยรวมที่ทรงตัวและอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป อัตราการว่างงานปรับฤดูกาลลดลงจากเดือนก่อน ตามการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่ปรับเพิ่มขึ้น ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่องจากทั้งดุลการค้าตามมูลค่าการส่งออกที่ปรับดีขึ้น และดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ตามรายรับภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวแม้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัว สำหรับดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจาก 1) การขายสุทธิเงินลงทุนในหลักทรัพย์ทั้งตราสารทุนและตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติสอดคล้องกับทิศทางการลงทุนในภูมิภาค 2) การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์และกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) อย่างไรก็ดี เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศไหลเข้าสุทธิจากการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในธุรกิจโทรคมนาคมของไทย

ธนาคารแห่งประเทศไทย 30 ธันวาคม 2559

ข้อมูลเพิ่มเติม: ทีมเศรษฐกิจมหภาค

โทร. 0 2283 5647, 0 2283 5648

e-mail: MPGMacroEconomics@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ