ฉบับที่ 03/2560
เรื่อง แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2559
ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2559 ปรับดีขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย ตามการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัว โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ และรายได้จากภาคบริการด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายของค่ายรถยนต์ที่มีต่อเนื่อง ขณะเดียวกันเศรษฐกิจยังมีแรงส่งจากการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัว จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทำได้ดีต่อเนื่อง ผนวกกับการลงทุนภาคเอกชนที่เห็นสัญญาณฟื้นตัวในช่วงปลายปี อย่างไรก็ตาม การผลิตภาคอุตสาหกรรมและรายได้ภาคเกษตรยังหดตัว แม้ว่าราคาสินค้าเกษตรบางตัวปรับดีขึ้นในช่วงปลายปี ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นจากปีก่อนที่ติดลบ ตามราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น ส่วนอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ เงินฝากคงค้างของธนาคารพาณิชย์ขยายตัว ขณะที่สินเชื่อคงค้างชะลอลงจากปีก่อน รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้
การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวจากปีก่อน โดยการใช้จ่ายสินค้าคงทนหมวดยานยนต์ขยายตัว จากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายของค่ายรถยนต์ที่มีอย่างต่อเนื่อง ด้านการใช้จ่ายสินค้าไม่คงทนหมวดอาหาร และเครื่องดื่มยังอยู่ในเกณฑ์ดี ตามแรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อาทิ มาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อกระตุ้นการบริโภคในช่วงปลายปี 2559 และมาตรการเงินโอนเพื่อผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม รายได้ในภาคเกษตรลดลงจากปัญหาภัยแล้งและราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทั้งปีเฉลี่ยอยู่ในระดับต่ำ ยังเป็นปัจจัยหน่วงที่ทำให้การบริโภคขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ภาคบริการด้านการท่องเที่ยว ยังอยู่ในเกณฑ์ดี จากมาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวปี 2559 โดยจำนวนนักท่องเที่ยวในอุทยาน จำนวนผู้โดยสารขาเข้า-ขาออกและการขนส่งสินค้าผ่านท่าอากาศยานขยายตัว ส่งผลให้รายได้ภาคบริการสาขาโรงแรมและภัตตาคารปรับดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งนี้ อัตราการเข้าพักแรมปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 55.6 ปรับสูงขึ้นจากปีก่อน
การใช้จ่ายภาครัฐ ขยายตัวจากปีก่อน จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ทั้งโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (ตำบลละ 5 ล้านบาท) ส่วนรายจ่ายลงทุนยังขยายตัวได้แม้จะชะลอลงจากปีก่อนที่มีการเร่งเบิกจ่ายค่อนข้างมาก สำหรับการเบิกจ่ายงบลงทุนนอกงบประมาณในโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนนมีการเบิกจ่าย 6,231.4 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่เบิกจ่าย13,555.7 ล้านบาท การลงทุนภาคเอกชน ทรงตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน แต่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวในช่วงปลายปี โดยการลงทุนภาคการก่อสร้างปรับดีขึ้น สะท้อนจากยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ที่เร่งขึ้นมาก ขณะที่การก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัยปรับดีขึ้นในบางพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดหลักทั้งนครราชสีมา ขอนแก่น และอุดรธานี ตามพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล ด้านเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการขยายตัวจากโรงงานขนาดใหญ่เป็นสำคัญ ได้แก่ โรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน โรงงานผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง และโรงงานผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง เป็นต้น
การผลิตภาคเกษตรกรรม มูลค่าผลผลิตพืชสำคัญ ลดลงทั้งราคาและผลผลิตพืชสำคัญ โดยราคาข้าวเปลือกหอมมะลิหดตัว เนื่องจากอุปสงค์ที่ลดลง ขณะที่ผลผลิตข้าวโลกยังมีมาก รวมทั้งมีการแข่งขันด้านราคาที่สูง ราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตที่น้อยกว่าปีก่อน ราคามันสำปะหลังหดตัว เนื่องจากจีนสนับสนุนให้ใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเพื่อผลิตแอลกอฮอล์จึงลดการนำเข้า ด้านราคายางพาราทั้งปีหดตัว แต่กลับมาปรับดีขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายตามอุปทานยางพาราที่ออกสู่ตลาดน้อย เนื่องจากปัญหาอุทกภัยในภาคใต้ ขณะที่อุปสงค์จากจีนเร่งตัวตามความต้องการของอุตสาหกรรมยานยนต์ ด้านราคาอ้อยโรงงานทั้งปี ยังหดตัว แต่มีทิศทางดีขึ้นตามราคาน้ำตาลโลกที่ปรับสูงขึ้น สำหรับผลผลิตพืชผลสำคัญลดลงเกือบทุกพืช ทั้งข้าว (โดยเฉพาะข้าวนาปรัง) มันสำปะหลัง และอ้อยโรงงาน เนื่องจากปัญหาภัยแล้งในช่วงต้นปี ส่วนผลผลิตยางพาราเพิ่มขึ้น ตามพื้นที่เปิดกรีดใหม่ที่เพิ่มขึ้น
การผลิตภาคอุตสาหกรรม หดตัวจากปีก่อน ตามการผลิตน้ำตาลที่หดตัว เนื่องจากปริมาณอ้อยเข้าหีบน้อยกว่าปีก่อนจากปัญหาภัยแล้ง ส่วนการผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ลดลง ตามคำสั่งซื้อของผู้ค้าส่ง ประกอบกับโรงงานมีการปิดซ่อมบำรุงบางสายการผลิต อย่างไรก็ดี การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม Hard Disk Drive (HDD) กลับมาขยายตัวหลังจากที่ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 เป็นผลจากการรวบฐานการผลิตของผู้ประกอบการมาผลิตในภาคเป็นสำคัญ
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 0.51 สูงขึ้นจากปีก่อนที่ติดลบร้อยละ 1.11 ตามราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น สำหรับอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.9 ภาคการเงิน เงินฝากคงค้างของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวจากปีก่อนร้อยละ 4.1 ตามเงินฝากประจำและกระแสรายวัน ขณะที่เงินฝากออมทรัพย์ชะลอลงเล็กน้อยตามแนวโน้มการแสวงหาผลตอบแทนของลูกค้ารายย่อยที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ด้านสินเชื่อคงค้างขยายตัวร้อยละ 1.0 ชะลอลงจากปีก่อน ทั้งสินเชื่อที่ให้แก่ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ยังระมัดระวังในการให้สินเชื่อจากความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง และหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ดี สินเชื่อที่ให้แก่กิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย การเกษตร และการเหมืองแร่ยังขยายตัว
สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
2 กุมภาพันธ์ 2560 ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค
โทร. 0 4391 3542 E-mail: PornnipT@bot.or.th
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย