สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ ปี 2559

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday February 2, 2017 12:21 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 3/2560

เรื่อง สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ ปี 2559

ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ในปี 2559 ขยายตัวต่อเนื่องจากปีก่อน โดยแรงขับเคลื่อนสำคัญยังคงเป็นการใช้จ่ายภาครัฐ ที่ขยายตัวทั้งรายจ่ายประจำและลงทุน ขณะเดียวกันการท่องเที่ยวขยายตัวดี แม้จะได้รับผลกระทบจากการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมายและเงินริงกิตอ่อนค่า ประกอบกับรายได้เกษตรกรที่กลับมาขยายตัว โดยเฉพาะในครึ่งปีหลัง ทำให้การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง และการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวจากอุปสงค์ต่างประเทศ ส่งผลให้การส่งออกปรับตัวดีขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัว ทำให้การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ตามราคาอาหารสดที่ปรับสูงขึ้น ส่วนอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้มีดังนี้

การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวต่อเนื่องตลอดทั้งปี ทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน โดยรายจ่ายประจำเพิ่มขึ้นเนื่องจากการเบิกจ่ายตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบลและโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้าน ส่วนรายจ่ายลงทุนเพิ่มขึ้นตามการเบิกจ่ายในหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และกรมโยธาธิการและผังเมือง สำหรับรายได้จากการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นทั้งภาษีสรรพากร สรรพสามิตและภาษีศุลกากร

จำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัวดีจากนักท่องเที่ยวจีน แม้จะชะลอตัวลงบ้างในช่วงปลายปี จากผลกระทบของมาตรการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมาย นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวรัสเซียและยุโรปเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวมาเลเซียลดลง เนื่องจากเงินริงกิตที่อ่อนค่า ทำให้เดินทางมายังภาคใต้ชายแดนลดลง

รายได้เกษตรกรกลับมาขยายตัว หลังจากลดลงต่อเนื่องมาหลายปี ผลจากด้านราคาทั้งยางพารา ปาล์มน้ำมัน และกุ้งขาว โดยเฉพาะครึ่งปีหลังที่ราคายางพาราและปาล์มน้ำมันเร่งตัวขึ้นมาก โดยราคายางเร่งตัวขึ้นจากตามความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมยางล้อของจีน และผลผลิตที่ลดลง ส่วนราคาปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตลดลงจากภาวะภัยแล้ง ส่วนราคากุ้งข้าวเพิ่มขึ้นเช่นกัน ตามความต้องการซื้อจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับผลผลิตกุ้งของคู่แข่งลดลง ทำให้มีความต้องการกุ้งไทยมากขึ้น ส่วนผลผลิตเพิ่มขึ้นหลังจากสถานการณ์โรคตายด่วนคลี่คลาย

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัว สะท้อนจากยอดขายสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคและบริการเพิ่มขึ้น รวมทั้งยอดจดทะเบียนรถยนต์ที่กลับมาฟื้นตัว ตามรายได้ทั้งภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวดี

การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวจากการผลิตยางพาราแปรรูปและไม้ยางพาราแปรรูปเพิ่มขึ้นตามความต้องการจากตลาดหลักจีน ขณะที่การผลิตถุงมือยางยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง นอกจากนี้ การผลิตอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปขยายตัวตามวัตถุดิบกุ้งขาวและความต้องการจากคู่ค้าที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การผลิตอาหารทะเลกระป๋องลดลง เนื่องจากราคาวัตถุดิบทูน่าที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ความต้องการจากคู่ค้าลดลง รวมทั้งผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบลดลงตามวัตถุดิบ

การลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัว สะท้อนจากพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลและปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ที่ลดลง ตามภาวะอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซา อย่างไรก็ดี ยอดจดทะเบียนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวในไตรมาสที่ 4 ปี 2559

เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 0.17 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ติดลบ ตามราคาอาหารสด โดยเฉพาะผักและผลไม้ที่ผลผลิตลดลงจากภาวะภัยแล้ง รวมทั้งปลาและสัตว์น้ำ อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.36 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย ตามการจ้างงานในภาคเกษตรที่ลดลง จากภาวะภัยแล้งและอุทกภัยปลายปี ส่วนการจ้างงานนอกภาคเกษตรขยายตัวเล็กน้อย ตามการขยายตัวของภาคการค้า

ณ สิ้นปี 2559 เงินฝากคงค้างของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 3.0 จากเงินฝากออมทรัพย์ เป็นสำคัญ เนื่องจากการเร่งระดมเงินฝากของธนาคารเพื่อรองรับสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น โดยเงินให้สินเชื่อขยายตัวร้อยละ 2.2 ตามสินเชื่อธุรกิจที่เร่งตัวจากสินเชื่อเพื่อการผลิต โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการผลิตยางและสินเชื่อธุรกิจการเลื่อยไม้และการไสไม้ รวมทั้งสินเชื่อเพื่อการขายส่งขายปลีกเพิ่มขึ้น ส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภคยังคงลดลงจากการให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเช่าซื้อรถ ทั้งนี้ การให้สินเชื่อขยายตัวทั้งที่ให้แก่ธุรกิจ SMEs และธุรกิจขนาดใหญ่

แนวโน้มปี 2560 เศรษฐกิจภาคใต้จะขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2559 ถึงแม้จะได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยเครื่องยนต์หลักยังคงเป็นการใช้จ่ายภาครัฐ จากการอัดฉีดงบลงทุนเพิ่มเติมกลางปี 2560 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่กลุ่มจังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งรายได้เกษตรกรปีนี้มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยเฉพาะจากด้านราคา ส่งผลดีต่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน นอกจากนี้ การท่องเที่ยวคาดว่ายังขยายตัวได้ จากนักท่องเที่ยวรัสเซียและยุโรปที่ยังเพิ่มขึ้น ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนคาดว่ายังขยายตัว แม้จะได้รับผลกระทบจากการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมาย เนื่องจากส่วนหนึ่งถูกชดเชยด้วยนักท่องเที่ยวกลุ่มที่ท่องเที่ยวด้วยตนเอง (Foreign Individual Tourism: FIT) ประกอบกับมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม เงินริงกิตยังคงอ่อนค่าส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวมาเลเซีย สำหรับการผลิตภาคอุตสาหกรรมคาดว่าจะขยายตัวจากปีก่อน โดยการผลิตถุงมือยางและไม้ยางพาราแปรรูปจะขยายตัวดีต่อเนื่อง ส่วนอุตสาหกรรมอาหารทะเลกระป๋องจะกลับมาฟื้นตัวได้บ้าง สำหรับมูลค่าการส่งออกจะขยายตัวจากด้านราคาเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคใต้ คือ ความไม่แน่นอนจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา รวมทั้งราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และความไม่แน่นอนของการปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจจีน

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

2 กุมภาพันธ์ 2560

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทรศัพท์ 074272000 ต่อ 4712

E-mail : RegionalEconSouth1@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ