แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือไตรมาส 4 ปี 2559

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday February 2, 2017 12:24 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 2/2560

เรื่อง แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงิน ไตรมาส 4 ปี 2559

ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือไตรมาส 4 ปี 2559 ปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยการลงทุนภาครัฐเร่งตัวตามการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานและการเบิกจ่ายในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ การส่งออกปรับดีขึ้นในสินค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ไปตลาดเอเชีย การลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นบ้างในอุตสาหกรรมผลิตเพื่อส่งออกที่นำเข้าเครื่องจักรเพิ่มขึ้นเพื่อผลิตสินค้าชนิดใหม่ ส่วนภาคอสังหาริมทรัพย์ยังซบเซา ภาคการท่องเที่ยวแม้จะได้รับผลกระทบจากการเลื่อนจัดกิจกรรมบางประเภทออกไป แต่ก็สามารถฟื้นตัวได้เร็วในช่วงเดือนธันวาคม ผลผลิตเกษตรกลับมาเพิ่มขึ้นตามภาวะแล้งคลี่คลาย ผลผลิตพืชหลัก เช่น ข้าว เพิ่มขึ้น แต่ราคาพืชหลักตกต่ำทำให้กำลังซื้อครัวเรือนเกษตรยังอ่อนแอ สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนที่ยอดขายสินค้าในชีวิตประจำวันและสินค้าคงทนยังฟื้นตัวช้า

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจของภาคเหนืออยู่ในเกณฑ์ดี อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำและทรงตัวจากไตรมาสก่อน แต่พบว่าจำนวนผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานปรับเพิ่มขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและราคาอาหารสด ด้านยอดคงค้างเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ชะลอลง ขณะที่สินเชื่อหดตัว โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือ มีดังนี้

การใช้จ่ายลงทุนภาครัฐ เร่งตัวขึ้นร้อยละ 14.5 โดยเม็ดเงินกระจายตัวทั้งภาคเหนือตอนบนและตอนล่าง จากการเบิกจ่ายโครงการก่อสร้างและซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานระบบถนน ของกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท อาคารของโรงพยาบาล และสถาบันการศึกษาในจังหวัดต่างๆ รวมถึงการซ่อมสร้างและจัดซื้อครุภัณฑ์จากมาตรการโครงการลงทุนขนาดเล็ก ขณะที่โครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ตามโครงการที่มีความคืบหน้าไปมาก

มูลค่าการส่งออก ปรับดีขึ้นเป็นร้อยละ 0.7 จากที่หดตัวในไตรมาสก่อน โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ไปญี่ปุ่น มาเลเซีย และฮ่องกงขยายตัวดี ประกอบกับการส่งออกชายแดนไปจีนตอนใต้ในสินค้ากลุ่มข้าวสารและผลิตภัณฑ์ยางพาราเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคไปเมียนมาชะลอลงบ้าง จากเหตุการณ์ความไม่สงบตามแนวเส้นทางที่ใช้ขนส่งสินค้าแต่เป็นปัจจัยชั่วคราว ขณะที่การส่งออกสินค้าไปลาวลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกข้าวสาร น้ำมันเชื้อเพลิง ปศุสัตว์และเนื้อสัตว์แช่แข็ง ด้านมูลค่าการนำเข้า ขยายตัวร้อยละ 25.1 จากการนำเข้ากระแสไฟฟ้าจากลาว และการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพื่อใช้ผลิตส่งออก

ผลผลิตอุตสาหกรรม ปรับดีขึ้น สอดคล้องกับการส่งออก โดยหดตัวลดลงเหลือร้อยละ 0.1 สินค้าที่ผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งออก ปรับดีขึ้นในประเภทแผงวงจรรวม ตัวเก็บประจุไฟฟ้า ชิ้นส่วนในฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เลนส์สำหรับกล้องถ่ายรูป และกล้องในรถยนต์ จากอุปสงค์ในต่างประเทศมีทิศทางดีขึ้น และการปรับตัวของธุรกิจโดยการผลิตสินค้าชนิดใหม่ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด หลังจากได้ลงทุนเครื่องจักรในช่วงก่อนหน้า การผลิตสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพื่อส่งออกไปขายในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ การสีข้าวเพิ่มขึ้นตามปริมาณข้าวเปลือก รวมถึงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เร่งผลิตเพื่อรองรับเทศกาลในช่วงสิ้นปี อย่างไรก็ตาม ช่วงปลายไตรมาสผลผลิตน้ำตาลลดลงมาก จากโรงงานน้ำตาลบางแห่งเลื่อนกำหนดการเปิดหีบอ้อยออกไป แต่คาดว่าเป็นปัจจัยชั่วคราว

การลงทุนภาคเอกชน หดตัวน้อยลงเหลือร้อยละ 3.1 การลงทุนในภาคการผลิตปรับดีขึ้นบ้างตามยอดนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน แต่ภาพรวมยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน เพราะหลายอุตสาหกรรมมีกำลังการผลิตเหลืออยู่ ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ซบเซาเช่นเดิม อย่างไรก็ดี เครื่องชี้การลงทุนประเภทพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างมีทิศทางดีขึ้นบ้าง ขณะที่ยอดขายวัสดุก่อสร้างปรับดีขึ้น แต่ส่วนใหญ่มาจากโครงการลงทุนภาครัฐ

ภาคการท่องเที่ยว แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการเลื่อนจัดกิจกรรมบางประเภทออกไป และการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมายบ้าง แต่ก็สามารถฟื้นตัวได้เร็วในช่วงเดือนธันวาคม ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง ณ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ทั้งไตรมาสปรับลดลงเพียงเล็กน้อย โดยนักท่องเที่ยวจีนกลุ่ม FIT เริ่มกลับเข้ามา ขณะที่นักท่องเที่ยวกลุ่มยุโรปและสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น ด้านนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางเข้ามามากขึ้นในช่วงสิ้นปีในจังหวัดแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ หลายเครื่องชี้สำคัญเพิ่มขึ้น ได้แก่ จำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานในภาคเหนือ และอัตราการเข้าพักของที่พักแรม

ด้านรายได้เกษตรกร หดตัวน้อยลงเหลือร้อยละ 2.8 จากผลผลิตสินค้าเกษตร กลับมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 จากภาวะแล้งคลี่คลายทำให้ผลผลิตพืชสำคัญเพิ่มขึ้น ทั้งข้าวนาปีและหอมแดง ยกเว้นผลผลิตอ้อยโรงงานลดลงจากภาวะแห้งแล้งในช่วงเพาะปลูก ส่วนผลผลิตปศุสัตว์ทั้งสุกร ไก่เนื้อ และไข่ไก่ ขยายตัวต่อเนื่องอย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าเกษตรยังตกต่ำ โดยลดลงร้อยละ 3.8 โดยเฉพาะราคาข้าวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามปริมาณผลผลิตที่มากขึ้น กดดันให้ราคารับซื้อลดลง เช่นเดียวกันราคาปศุสัตว์ทั้งสุกรและไก่เนื้อยังลดลง เนื่องจากผลผลิตมากกว่าความต้องการของตลาด

การบริโภคภาคเอกชน ยังคงหดตัวร้อยละ 1.4 ส่วนสำคัญจากการลดลงของสินค้าคงทนในหมวดยานยนต์ที่ฐานสูงในปีก่อน ปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงลดลงตามแนวโน้มราคาขายปลีกน้ำมันเพิ่มขึ้น รวมถึงการใช้จ่ายในหมวดสินค้าในชีวิตประจำวันลดลงเล็กน้อย โดยหลักมาจากสินค้ากลุ่มเบียร์ สุรา และบุหรี่ลดลงต่อเนื่อง โดยปัจจัยฉุดรั้งการบริโภคภาคเอกชนมาจากกำลังซื้อ โดยเฉพาะกำลังซื้อครัวเรือนเกษตรที่ฟื้นตัวช้า หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง สถาบันการเงินเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อเพื่อการบริโภคเช่นเดิม รวมทั้งช่วงนี้มีการเลื่อนจัดกิจกรรมบางประเภทออกไป

เสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือ โดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี พิจารณาจากอัตราการว่างงาน อยู่ในระดับต่ำและทรงตัวจากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 1.0 แต่พบว่าจำนวนผู้มาขอรับสิทธิประโยชน์จากการถูกเลิกจ้างเพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.77 จากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศทยอยปรับเพิ่มขึ้น และราคาอาหารสดประเภทไข่ไก่ ผักและผลไม้

ภาคการเงิน ณ สิ้นไตรมาส 4 ปี 2559 สาขาธนาคารพาณิชย์ในภาคเหนือมียอดคงค้างเงินฝาก 637,943 ล้านบาท เพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลงร้อยละ 2.5 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ยอดคงค้างเงินฝากปรับเพิ่มขึ้นจากเงินฝากของส่วนราชการและการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากเพื่อชดเชยส่วนที่ครบกำหนด ด้านยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อ 584,528 ล้านบาท หดตัวเล็กน้อยร้อยละ 0.7 โดยเฉพาะในภาคเหนือตอนล่าง ส่วนสำคัญจากการหดตัวในสินเชื่อธุรกิจการเงิน อุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์ และขนส่ง ขณะที่สินเชื่อค้าปลีกค้าส่ง เกษตรกรรม และสินเชื่ออุปโภคส่วนบุคคลขยายตัวชะลอลง อย่างไรก็ดี สินเชื่อธุรกิจโรงแรม ก่อสร้าง และสุขภาพขยายตัวดี ทั้งนี้ สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 91.6

2 กุมภาพันธ์ 2560

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร. 0 5393 1164

e-mail: Kusolc@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ