สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้เดือนพฤศจิกายน 2559

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday December 30, 2016 16:47 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 23/2559

เรื่อง สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ เดือนพฤศจิกายน ปี 2559

ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2559 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามรายได้เกษตรที่เร่งตัวขึ้นมากจากด้านราคาเป็นสำคัญ ขณะที่ผลผลิตเกษตรปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัว นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาครัฐกลับมาเร่งตัวในเดือนนี้ ทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ส่วนการลงทุนภาคเอกชนเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวมาเลเซียและจีนยังคงลดลง เป็นผลจากเงินริงกิตอ่อนค่าและการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมาย ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง ตามการลดลงของการผลิตอาหารทะเลกระป๋องเป็นสำคัญ ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามราคาอาหารสดที่สูงขึ้น และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้มีดังนี้

รายได้เกษตรกรเร่งตัวขึ้นมากจากเดือนเดียวกันปีก่อนและเดือนก่อน โดยเป็นปัจจัยด้านราคาเป็นสำคัญ โดยราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นทั้งยางพาราและกุ้งขาว ตามความต้องการซื้อจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ผลักดันให้ราคาสูงขึ้น สำหรับราคาปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตที่ยังคงลดลง จากผลกระทบภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับความต้องการใช้ผลิตไบโอดีเซลเพิ่มขึ้น จากการเปลี่ยนสัดส่วนจาก B3 เป็น B5 เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ส่วนผลผลิตยางพาราและกุ้งขาวมีปริมาณใกล้เคียงกับเดือนเดียวกันปีก่อน

การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากเดือนเดียวกันปีก่อน ทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน หลังจากที่หดตัวในเดือนก่อนหน้า โดยรายจ่ายประจำเพิ่มขึ้นจากเงินอุดหนุนทั่วไปในจังหวัดสงขลาเป็นสำคัญ ขณะที่รายจ่ายลงทุนเร่งตัวจากการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนทั่วไป ที่ดินสิ่งก่อสร้าง และหมวดครุภัณฑ์

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวจากเดือนเดียวกันปีก่อนและเดือนก่อน ตามรายได้เกษตรกรที่เร่งตัวขึ้นมาก ทำให้กำลังซื้อของภาคครัวเรือนปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขยายตัวทั้งร้านค้าปลีกขนาดใหญ่และร้านค้าปลีกสินค้าอื่น ๆ รวมทั้งยอดจดทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่เพิ่มขึ้น

มูลค่าการส่งออกขยายตัวจากเดือนเดียวกันปีก่อน ตามการส่งออกยางแปรรูปทั้งน้ำยางข้น ยางแท่ง และยางแผ่นรมควัน ซึ่งเป็นผลจากราคายางพาราที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ นอกจากนี้ มูลค่าการส่งออกไม้ยางพาราแปรรูป ไฟเบอร์บอร์ด พาร์ติเกิลบอร์ด ถุงมือยาง และอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็ง เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการผลิตในอุตสาหกรรมดังกล่าวที่เพิ่มขึ้น สำหรับมูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อน โดยขยายตัวในหมวดอากาศยาน เรือ แท่นและรถไฟ รวมทั้งสินค้าประมง ซึ่งเป็นการนำเข้าปลา กุ้ง และปลาหมึกแช่แข็ง

การลงทุนภาคเอกชนยังหดตัวจากเดือนเดียวกันปีก่อน ตามการลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังซบเซาโดยเฉพาะที่อยู่อาศัยระดับกลางถึงล่าง อย่างไรก็ดี ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาวะการค้าภายในประเทศที่ขยายตัว ประกอบกับการท่องเที่ยวฝั่งอันดามันที่ยังมีทิศทางที่ดี ทำให้ผู้ประกอบการขยายการลงทุน สะท้อนจากพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างเพื่อการพาณิชย์และบริการที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับยอดจำหน่ายปูนถัง (Bulk Cement) และยอดจดทะเบียนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน

จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนและเดือนก่อน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวมาเลเซียและจีนที่ลดลง เป็นผลจากเงินริงกิตที่อ่อนค่า และผลกระทบจากการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมายซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวจีนลดลง อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวรัสเซีย สิงคโปร์ และยุโรปเพิ่มขึ้นในพื้นที่ จ.ภูเก็ต ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเปิดบริการเส้นทางบินตรง แฟรงก์เฟิร์ต-ภูเก็ต

การผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนและเดือนก่อน ตามการลดลงของการผลิตอาหารทะเลกระป๋องเป็นสำคัญ ตามการชะลอซื้อจากคู่ค้าหลัก เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบทูน่ามีราคาสูง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการชะลอการส่งออกไปยังตลาดตะวันออกกลางเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งภายใน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการชำระเงิน นอกจากนี้ การผลิตยางแปรรูปลดลงเล็กน้อยตามปริมาณวัตถุดิบ ทำให้การส่งออกไปยังตลาดหลักจีนลดลง แม้ความต้องการซื้อจะยังขยายตัว การผลิตน้ำมันปาล์มดิบหดตัวเช่นกัน ตามผลผลิตปาล์มน้ำมันที่เข้าสู่โรงงานลดลงจากภาวะภัยแล้งที่ส่งผลต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การผลิตอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปขยายตัวตามการผลิตและส่งออกกุ้งขาวเป็นสำคัญ นอกจากนี้ การผลิตถุงมือยางและไม้ยางและผลิตภัณฑ์ยังคงขยายตัวดีต่อเนื่อง ตามคำสั่งซื้อจากตลาดหลักทั้งสหรัฐอเมริกาและจีนที่เพิ่มขึ้น

เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 0.78 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามหมวดอาหารสด โดยเฉพาะผักและผลไม้ที่ราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ส่งผ่านต้นทุนไปยังอาหารสำเร็จรูป ประกอบกับราคาหมวดพลังงานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิง อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.83 ทรงตัวจากเดือนก่อน เนื่องจากแรงงานภาคเกษตรและภาคบริการที่ลดลง ขณะที่การจ้างงานในภาคการผลิต ภาคก่อสร้าง และภาคการค้าเพิ่มขึ้น

ณ สิ้นเดือนตุลาคม ปี 2559 เงินฝากรวมทั้งระบบของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเงินฝากภาครัฐที่โอนมาเพื่อเตรียมเบิกจ่ายให้หน่วยงานต่าง ๆ และเงินฝากจากการออกสลากออมทรัพย์ชุดใหม่ของธนาคารเฉพาะกิจ ส่วนสินเชื่อคงค้างของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามการให้สินเชื่อแก่ลูกค้าชั้นดี ด้านสินเชื่อคงค้างของสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินเชื่อกลุ่มเกษตรกร และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

30 ธันวาคม 2559

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทรศัพท์ 074272000 ต่อ 4712

E-mail : RegionalEconSouth1@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ