ฉบับที่ 2/2560
เรื่อง สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ ไตรมาส 4 ปี 2559
ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ไตรมาส 4 ปี 2559 ขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ตามการเร่งตัวของรายได้เกษตรกร โดยเฉพาะราคายางพาราที่ปรับสูงขึ้นมาก ซึ่งสนับสนุนการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขณะเดียวกันการลงทุนภาครัฐยังทำได้ดี นอกจากนี้ มูลค่าส่งออกสินค้าหลักภาคใต้ขยายตัวเนื่องจากผลทางด้านราคาเป็นสำคัญ ขณะที่การผลิตในภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกทรงตัว ส่วนภาคการท่องเที่ยวชะลอลง เป็นผลจากการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมายและเงินริงกิตอ่อนค่า แต่ยังได้รับปัจจัยบวกจากนักท่องเที่ยวรัสเซียและยุโรปเพิ่มขึ้น ประกอบกับการลดค่าธรรมเนียม Visa on arrival ของภาครัฐ จากภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัว ทำให้การลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนอัตราว่างงานเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน สอดคล้องกับการจ้างงานที่ลดลง โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรม
รายได้เกษตรกรเร่งตัวจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน จากด้านราคาเป็นสำคัญ โดยเฉพาะราคายางพาราที่ปรับสูงขึ้นมาก ตามความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมยางล้อของจีน ขณะที่ราคาปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตลดลงจากภาวะภัยแล้ง อย่างไรก็ดี ผลผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมันหดตัวน้อยลง จากผลกระทบภัยแล้งที่คลี่คลาย ส่วนกุ้งขาว แม้ว่าผลผลิตจะเพิ่มขึ้นหลังจากสถานการณ์โรคตายด่วนคลี่คลาย แต่ราคาปรับสูงขึ้นเช่นกัน เนื่องจากยังมีความต้องการซื้อจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับผลผลิตกุ้งของคู่แข่งลดลง รายได้เกษตรกรที่เร่งตัว เป็นปัจจัยสนับสนุนการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนให้ขยายตัว สะท้อนจากยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภค และยอดจดทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่เพิ่มขึ้น
การใช้จ่ายภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน โดยรายจ่ายประจำเพิ่มขึ้นตามการเบิกจ่ายในโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ เงินอุดหนุนทั่วไปของสถานศึกษา และการเบิกจ่ายของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนรายจ่ายลงทุนขยายตัวตามเงินอุดหนุนทั่วไปของสถานศึกษาและการเบิกจ่ายของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบทและกรมชลประทานในหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้าง ด้านรายได้จากการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นตามการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีมูลค่าเพิ่มจากกิจการขายส่งขายปลีก ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร เป็นสำคัญ
มูลค่าการส่งออกขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาส่งออกที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาสินค้าเกษตรหลัก ขณะที่การผลิตในภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกทรงตัว โดยมูลค่าการส่งออกไม้ยางแปรรูปและถุงมือยางยังคงขยายตัวดีต่อเนื่อง ตามความต้องการของคู่ค้าหลักที่เพิ่มขึ้น ขณะที่มูลค่าการส่งออกยางพาราแปรรูปเพิ่มขึ้น จากราคายางที่เร่งตัว ประกอบกับความต้องการซื้อจากจีนเพิ่มขึ้นเพื่อสะสมสต็อกหลังจากที่เร่งผลิตยางล้อในช่วงก่อนหน้า ทำให้สต็อกอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งราคายางที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการในจีนเร่งซื้อก่อนที่ราคาจะปรับสูงขึ้นอีก สำหรับมูลค่าการส่งออกอาหารทะเลกระป๋องลดลงต่อเนื่อง จากวัตถุดิบทูน่าที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ตลาดหลักตะวันออกกลางชะลอการซื้อ นอกจากนี้ การส่งออกอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปลดลง ตามวัตถุดิบปลาที่ลดลงเป็นสำคัญ ส่วนการผลิตน้ำมันปาล์มดิบลดลงตามปริมาณผลปาล์มดิบที่เข้าสู่โรงงาน
ภาคการท่องเที่ยวชะลอลง จากผลกระทบของมาตรการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมาย ทำให้นักท่องเที่ยวจีนชะลอลง สะท้อนจากจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศทางฝั่งอันดามันโดยเฉพาะจังหวัดกระบี่ที่ชะลอลง ประกอบกับเงินริงกิตที่อ่อนค่าทำให้นักท่องเที่ยวมาเลเซียในภาคใต้ชายแดนลดลง อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยบวกจากจำนวนนักท่องเที่ยวรัสเซียและยุโรปที่เพิ่มขึ้น จากเที่ยวบินเช่าเหมาลำและเส้นทางบินตรงที่เพิ่มขึ้นในจังหวัดภูเก็ต รวมทั้งมาตรการลดค่าธรรมเนียม Visa on arrival ของภาครัฐในเดือนธันวาคม 2559
การลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัวแต่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างที่ขยายตัวเล็กน้อย จากพื้นที่เพื่อที่อยู่อาศัย รวมถึงพื้นที่เพื่อการพาณิชย์และบริการ/ขนส่ง โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งอันดามันและอ่าวไทย ตามภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ นอกจากนี้ ดัชนีจดทะเบียนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลปรับดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ยังทรงตัว ทำให้การลงทุนอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนจากมูลค่าการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่หดตัว
เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อยู่ที่ร้อยละ 0.91 ตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนการจ้างงานลดลงตามการจ้างงานภาคเกษตรกรรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลดลงในการปลูกยางพารา ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมชะลอลง โดยเฉพาะในภาคการผลิตและภาคบริการ ส่งผลให้อัตราว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.50 สูงขึ้นจากร้อยละ 1.14 ในไตรมาสก่อน
สิ้นไตรมาส 4 ปี 2559 เงินฝากคงค้างของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 3.0 โดยขยายตัวเกือบทุกธนาคาร จากการเร่งระดมเงินฝากเพื่อรองรับสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น ขณะที่เงินให้สินเชื่อขยายตัวร้อยละ 2.2 จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ตามสินเชื่อธุรกิจที่ขยายตัว โดยเฉพาะสินเชื่อขายส่งขายปลีกและสินเชื่อเพื่อการผลิต ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคยังคงลดลงจากการให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเช่าซื้อรถ
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้
2 กุมภาพันธ์ 2560
ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค
โทรศัพท์ 074272000 ต่อ 4712
E-mail : RegionalEconSouth1@bot.or.th
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย