ฉบับที่ 13/2559
เรื่อง แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนกันยายน 2559
ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือเดือนกันยายน ภาพรวมทรงตัว โดยภาคธุรกิจท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัวยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ด้านรายได้เกษตรเพิ่มเล็กน้อยจากที่หดตัวต่อเนื่อง โดยเป็นส่วนของผลผลิตเพิ่มขึ้นในช่วงผลผลิตข้าวเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยว และช่วยให้มีวัตถุดิบสำหรับการผลิตสินค้าเกษตรแปรรูปเพิ่มขึ้น การบริโภคภาคเอกชนทรงตัว แม้ยอดจดทะเบียนรถยนต์จะกระเตื้องขึ้นเล็กน้อย แต่การบริโภคหมวดสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันยังหดตัวจากกำลังซื้อยังอ่อนแรง ภาคเศรษฐกิจที่ยังซบเซา ได้แก่ ภาคการผลิตเพื่อส่งออก การลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อทรงตัว อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี จำนวนผู้ที่มาขอรับสิทธิประโยชน์จากการออกจากงานเพิ่มขึ้น ด้านเงินให้สินเชื่อและเงินฝากของธนาคารพาณิชย์มีทิศทางชะลอลง
ภาคการท่องเที่ยว ขยายตัวในเกณฑ์ดี สะท้อนจากทุกเครื่องชี้สำคัญเพิ่มขึ้น ได้แก่ จำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยาน อัตราเข้าพักของโรงแรม การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทโรงแรมและภัตตาคาร จำนวนเที่ยวบินตรงและนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานเชียงใหม่ ส่วนสำคัญจากนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีนที่นิยมเดินทางเข้ามาโดยเฉพาะในจังหวัดภาคเหนือตอนบน รวมถึงนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางร่วมประชุมและสัมมนาของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
การใช้จ่ายของภาครัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ต่ำกว่าที่คาด โดยมีการเร่งเบิกจ่ายไปก่อนหน้ามากแล้ว การเบิกจ่ายเพิ่มขึ้นในโครงการก่อสร้างและปรับปรุงซ่อมแซมระบบชลประทานและถนนของกรมชลประทาน กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท การก่อสร้างอาคารของโรงพยาบาลและสถาบันการศึกษาและโรงพยาบาล รวมถึงการโอนเงินอุดหนุนให้กับท้องถิ่นเพื่อใช้ในโครงการของรัฐบาล นอกจากนี้ มีการเร่งการจ่ายเงินวิทยฐานะและค่าตอบแทนให้กับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 3.3 โดยในหมวดสินค้าคงทน ยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่งบุคคลเพิ่มขึ้นจากการทยอยส่งมอบรถยนต์รุ่นใหม่ที่ได้เปิดตัวในช่วงก่อนหน้า แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นอุปสงค์มากขึ้นชัดเจนนัก โดยเฉพาะการบริโภคในหมวดสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันและหมวดน้ำมันเชื้อเพลิง จากที่ภาคเกษตรและภาคการผลิตยังอ่อนแอและความกังวลต่อภาระหนี้ครัวเรือน รวมถึงสถาบันการเงินส่วนใหญ่ยังระมัดระวังต่อการพิจารณาสินเชื่ออยู่
รายได้เกษตรกร โน้มหดตัวน้อยลงและกลับเป็นบวกเล็กน้อยในเดือนนี้ โดยหลัก ๆ เป็นการเพิ่มของผลผลิตสินค้าเกษตร ร้อยละ 0.3 ในผลผลิตปศุสัตว์ทั้งสุกร ไก่เนื้อ และไข่ไก่ ตามความต้องการมากขึ้นจากทั้งในและต่างประเทศ ผลผลิตพืชสำคัญเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยว เช่น ข้าวนาปี หอมแดงและสับปะรดโรงงานเพิ่มขึ้น แต่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง ถั่วลิสง มันสำปะหลังและลำไยมีผลผลิตลดลง ขณะที่ราคาสินค้าเกษตร ลดลงร้อยละ 0.2 จากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลัง โดยมีการนำเข้าข้าวสาลีมาใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์มากขึ้น ด้านราคาปศุสัตว์หดตัวจากราคาไก่เนื้อตามปริมาณผลผลิตที่มากกว่าความต้องการ อย่างไรก็ดี ราคาข้าวและลำไยปรับเพิ่มขึ้นช่วยพยุงให้ราคาสินค้าเกษตรโดยรวมไม่ลดลงไปมากนัก
สำหรับภาคเศรษฐกิจที่ซบเซายัง ได้แก่ ผลผลิตอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 16.9 โดยเฉพาะการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หดตัวจากที่ได้เร่งผลิตในช่วงก่อนหน้า นอกจากนี้ การผลิตเพื่อส่งออกหดตัวโดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนประกอบฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และสิ่งทอ จากอุปสงค์ต่างประเทศลดลงและภาวะการแข่งขันสูง อย่างไรก็ดี ในเดือนนี้ การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ประเภทเครื่องตัดต่อวงจรไฟฟ้าและหม้อแปลงไฟฟ้ากลับเพิ่มขึ้น รวมถึงผลผลิตสินค้าเกษตรแปรรูปเพิ่มขึ้น เช่น การสีข้าวตามฤดูเก็บเกี่ยว
การส่งออก ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.6 ส่วนสำคัญมาจากการลดลงของอุปสงค์ในสินค้าประเภทชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จากตลาดฮ่องกงและสิงคโปร์ แม้การส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นและจีนเห็นปรับดีขึ้นบ้าง ด้านการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านด่านชายแดนหดตัว โดยหลัก ๆ มาจากการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ น้ำตาลทราย และน้ำมันเชื้อเพลงไป สปป.ลาว แม้การส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคไปสหภาพเมียนมายังขยายตัวเล็กน้อย ด้านมูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 14.8 จากการนำเข้ากระแสไฟฟ้าจาก สปป.ลาว รวมถึงพืชผักและผลไม้จากจีนตอนใต้ ขณะที่การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางหดตัวสอดคล้องกับการส่งออกชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
การลงทุนภาคเอกชน ลดลงร้อยละ 6.7 จากอุปสงค์ที่ยังอ่อนแอ สะท้อนจากภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และภาคการก่อสร้างยังไม่ฟื้นตัว รวมถึงการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมชะลอตัว สะท้อนจากในบางอุตสาหกรรมยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่ ทั้งนี้ เครื่องชี้การลงทุนลดลงทุกประเภท ได้แก่ พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล ปริมาณจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ ยอดขายวัสดุก่อสร้าง และยอดการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์
เสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือ โดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ใกล้เคียงกับปีก่อนที่ร้อยละ 0.3 โดยราคาอาหารสดประเภทไข่ไก่ ผักและผลไม้สดเพิ่มขึ้น ส่วนราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศยังลดลง แม้ราคามีทิศทางเพิ่มขึ้นในช่วงหลัง ด้านอัตราการว่างงาน อยู่ในระดับต่ำและปรับลดลงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 0.8 อย่างไรก็ดี พบว่าจำนวนผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานยังเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะการถูกเลิกจ้าง
ภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนกันยายน 2559 สาขาธนาคารพาณิชย์ มียอดคงค้างเงินให้สินเชื่อ 581,831 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 ชะลอลงต่อเนื่อง ส่วนสำคัญมาจากสินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ขนส่ง และธุรกิจการเงินยังหดตัว อย่างไรก็ดี สินเชื่อธุรกิจโรงแรมและด้านสุขภาพขยายตัวดี สอดคล้องกับภาคธุรกิจท่องเที่ยว ขณะที่สินเชื่อภาคการก่อสร้าง ค้าปลีกค้าส่ง อุตสาหกรรมการผลิต และสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล โดยเฉพาะเพื่อที่อยู่อาศัยยังขยายตัวได้แม้ในอัตราไม่สูงนัก ด้านเงินฝากมียอดคงค้าง 628,754 ล้านบาท เพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลงร้อยละ 4.0 ส่วนหนึ่งจากการถอนเงินฝากของส่วนราชการและเงินฝากที่ครบกำหนด ทั้งนี้ สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 92.5 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ
31 ตุลาคม 2559
ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค
โทร. 0 5393 1164
e-mail: Kusolc@bot.or.th
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย