แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือเดือนตุลาคม 2559

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday November 30, 2016 17:08 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 15/2559

เรื่อง แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนตุลาคม 2559

ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือเดือนตุลาคม ชะลอลงเป็นส่วนใหญ่ ส่วนสำคัญจากการบริโภคภาคเอกชนแผ่วลง จากที่รายได้ภาคเกษตรยังอ่อนแอ แม้ผลผลิตมีปริมาณมากขึ้น ในขณะที่ราคาพืชผลส่วนใหญ่กลับลดลงมาก ภาคธุรกิจท่องเที่ยวชะลอลงกว่าที่คาดไว้จากนักท่องเที่ยวจีนเป็นหลัก รวมถึงนักท่องเที่ยวไทยที่เลื่อนการจัดกิจกรรมบางประเภทออกไป ประกอบกับการค้าชายแดนหดตัว เนื่องจากมีการเลื่อนการส่งออกน้ำตาลทรายไปสหภาพเมียนมาและจีน โดยน่าจะเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายลงทุนภาครัฐและการผลิตในกลุ่มเครื่องดื่มและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งออกไปญี่ปุ่นปรับตัวดีขึ้น สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจของภาคเหนือโดยทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อทรงตัว อัตราการว่างงานแม้ปรับเพิ่มขึ้นบ้าง สอดคล้องกับจำนวนผู้มาขอรับสิทธิประโยชน์จากการออกจากงาน แต่โดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำ ด้านเงินให้สินเชื่อและเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ชะลอลง

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือ มีดังนี้

การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวในอัตราชะลอลงร้อยละ 1.0 องค์ประกอบสำคัญมาจากการใช้จ่ายหมวดยานยนต์ หมวดสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงลดลงตามแนวโน้มราคาขายปลีกน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ปัจจัยฉุดรั้งการใช้จ่ายมาจากกำลังซื้อยังคงอ่อนแอ โดยเฉพาะรายได้ครัวเรือนภาคเกษตรปรับลดลง ประกอบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับโน้มลง อีกทั้งหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง และสถาบันการเงินยังคงรักษามาตรฐานในการพิจารณาสินเชื่อ

ภาคการท่องเที่ยว ขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ แม้จำนวนนักท่องเที่ยวยุโรปเพิ่มขึ้น แต่นักท่องเที่ยวจีนที่คาดว่าจะเข้ามามากช่วง Golden week เดือนตุลาคมกลับลดลงโดยเฉพาะกลุ่มทัวร์ รวมถึงกิจกรรมจากนักท่องเที่ยวไทยบางส่วน และการจัดประชุมสัมมนาถูกเลื่อนออกไป เครื่องชี้สำคัญจึงขยายตัวชะลอลง ได้แก่ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง และจำนวนเที่ยวบินตรงเข้าสู่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ขณะที่อัตราเข้าพักของโรงแรมอยู่ในระดับทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน

การส่งออก หดตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.0 ส่วนสำคัญมาจากการหดตัวของการค้าชายแดน ตามยอดการส่งออกน้ำตาลทรายไปสหภาพเมียนมาและจีนลดลง เพราะผู้นำเข้าคาดว่าราคาน้ำตาลอาจลดลงจึงชะลอการนำเข้า อย่างไรก็ดี การส่งออกไปจีนตอนใต้กลับมาขยายตัวเป็นเดือนที่ 2 หลังจากที่หดตัวมาโดยตลอด ยอดส่งออกสินค้ากลุ่มอาหาร กลุ่มชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไปญี่ปุ่นปรับดีขึ้นในเดือนนี้ ด้านมูลค่าการนำเข้า ขยายตัวร้อยละ 35.4 จากการนำเข้ากระแสไฟฟ้าจาก สปป.ลาว เป็นสำคัญ ขณะที่การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางกลับมาเพิ่มขึ้นได้ในเดือนนี้

การลงทุนภาคเอกชน ลดลงร้อยละ 5.7 โดยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างยังซบเซา สอดคล้องกับสินเชื่อในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างมีทิศทางโน้มตัวลง ขณะที่การลงทุนภาคการผลิตยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน ทั้งนี้ เครื่องชี้การลงทุนทุกประเภทลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อน ทั้งพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล ปริมาณจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ ยอดขายวัสดุก่อสร้าง และยอดการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์

การใช้จ่ายลงทุนภาครัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 ต่ำกว่าที่คาดไว้ ส่วนสำคัญยังมีการเบิกจ่ายการก่อสร้างอาคารของสถาบันการศึกษาและโรงพยาบาล รวมถึงการก่อสร้างและซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานระบบถนนและชลประทานของกรมทางหลวงชนบทและกรมชลประทาน ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่อยู่ระหว่างเริ่มดำเนินการและคาดว่าจะทยอยเบิกจ่ายในช่วงต่อไป

ภาคเกษตร ผลผลิต เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 โดยเฉพาะผลผลิตพืชสำคัญเพิ่มขึ้นทั้งข้าวนาปีและหอมแดง รวมถึงผลผลิตปศุสัตว์ทั้งสุกร ไก่เนื้อ และไข่ไก่ ขณะที่ราคาสินค้าเกษตร ลดลงร้อยละ 5.8 โดยเฉพาะราคาข้าว ซึ่งมีแรงกดดันจากผลผลิตที่คาดว่ามีปริมาณมาก ทำให้ราคารับซื้อมีแนวโน้มลดลง นอกจากนี้ ราคาปศุสัตว์ทั้งไก่เนื้อ และไข่ไก่ยังลดลง เนื่องจากผลผลิตมากกว่าความต้องการของตลาด ส่งผลให้รายได้เกษตรกร ลดลงร้อยละ 3.7 ผลผลิตอุตสาหกรรม ขยายตัวเล็กน้อยร้อยละ 0.9 ดีกว่าที่คาดไว้ หลังจากหดตัวต่อเนื่องมานาน โดยกลุ่มสินค้าที่ผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องดื่มที่มีและไม่มีแอลกอฮอล์ สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป รวมถึงการสีข้าวที่เพิ่มขึ้นตามวัตถุดิบในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ประกอบกับการหดตัวน้อยลงในกลุ่มชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผลจากการเริ่มผลิตสินค้าชนิดใหม่ที่ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด หลังจากได้ลงทุนเพิ่มในเครื่องจักรในช่วงก่อนหน้า

เสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือ โดยทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ทรงตัวร้อยละ 0.3 โดยราคาอาหารสดประเภทไข่ไก่ ผัก และผลไม้สดชะลอลง ขณะที่ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศทยอยปรับเพิ่มขึ้น ด้านอัตราการว่างงาน อยู่ในระดับต่ำ แม้ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 1.1 สอดคล้องกับจำนวนผู้มาขอรับสิทธิประโยชน์จากการออกจากงานที่เพิ่มขึ้น

ภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนกันยายน 2559 ยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์มีจำนวน 581,824 ล้านบาท ชะลอลงเหลือร้อยละ 1.2 ส่วนสำคัญมาจากการหดตัวในสินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ขนส่ง และธุรกิจการเงิน ขณะที่สินเชื่อภาคการก่อสร้าง ค้าปลีกค้าส่ง อุตสาหกรรมการผลิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยทรงตัว อย่างไรก็ดี สินเชื่อธุรกิจโรงแรมและด้านสุขภาพขยายตัวดี สอดคล้องกับภาคธุรกิจท่องเที่ยว ด้านเงินฝากมียอดคงค้างจำนวน 628,307 ล้านบาท หรือชะลอลงเป็นร้อยละ 3.9 ส่วนหนึ่งจากการถอนเงินฝากของส่วนราชการและเงินฝากที่ครบกำหนด ทั้งนี้ สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากสูงขึ้นเล็กน้อยเป็นร้อยละ92.6

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ

30 พฤศจิกายน 2559

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร. 0 5393 1164

e-mail: Kusolc@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ