แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนกันยายน 2559

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday October 31, 2016 10:48 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 15/2559

เรื่อง แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนกันยายน 2559

ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนกันยายน 2559 ทรงตัวจากเดือนก่อน ตามการบริโภคภาคเอกชนที่ทรงตัว โดยการใช้จ่ายสินค้าคงทนหมวดยานยนต์ชะลอลง ส่วนการใช้จ่ายสินค้าในชีวิตประจำวันหมวดเครื่องดื่มลดลง ขณะที่หมวดอาหาร และของใช้ในครัวเรือนปรับดีขึ้น ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคใกล้เคียงกับเดือนก่อน ด้านรายได้ภาคเกษตรยังคงหดตัวแต่รายได้นอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเล็กน้อย สำหรับการลงทุนภาคเอกชนหดตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐยังขยายตัวตามรายจ่ายประจำ ผนวกกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่กลับมาขยายตัว สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นตามราคาน้ำมันขายปลีกส่วนอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ ด้านเงินฝากและสินเชื่อคงค้างของธนาคารพาณิชย์เดือนสิงหาคมชะลอลง

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้

การบริโภคภาคเอกชนดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.8 และยังคงทรงตัวจากเดือนก่อน โดยการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนชะลอลงภายหลังจากที่ขยายตัวในเดือนก่อน ทั้งนี้ หากพิจารณายอดจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลรวมทั้งปี (ม.ค.-ก.ย.) ยังสูงกว่าปีก่อนเล็กน้อย ขณะที่ยอดจดทะเบียนรถยนต์เพื่อการพาณิชย์และรถจักรยานยนต์ต่ำกว่าปีก่อน ด้านการใช้จ่ายสินค้าในชีวิตประจำวัน ซึ่งสะท้อนจากดัชนีสินค้าอุปโภคบริโภคหมุนเวียนเร็ว (Nielsen's Fast Moving Consumer Goods) ลดลงในหมวดสินค้าประเภทเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์และยาสูบ ขณะที่หมวดอาหาร ขนมขบเคี้ยว และของใช้ในครัวเรือนปรับดีขึ้น สอดคล้องกับยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า รองเท้า และเครื่องหนังที่ยังขยายตัวได้แม้รายได้ในภาคเกษตรยังคงหดตัว แต่รายได้นอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังทรงตัวในระดับต่ำเนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ ประกอบกับภาระหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงสำหรับภาคบริการ รายได้ภาคบริการสาขาโรงแรมและภัตตาคารลดลงในหมวดการบริการที่พักแรมในโรงแรมรีสอร์ท และเกสต์เฮ้าส์ อย่างไรก็ดี รายได้หมวดบริการที่พักแรมขนาดเล็ก ร้านอาหารและภัตตาคารยังขยายตัว สำหรับอัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 52.3 ปรับลดลงจากเดือนก่อน เช่นเดียวกับสัดส่วนรายได้การจัดสัมมนาที่ลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากส่วนราชการลดการสัมมนาต่างพื้นที่

ด้านการใช้จ่ายภาครัฐโดยรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.8 และขยายตัวจากเดือนก่อนตามการเบิกจ่ายงบประจำในหมวดเงินเดือน ส่วนใหญ่จากการเบิกจ่ายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขณะที่การเบิกจ่ายงบลงทุนลดลงในหมวดครุภัณฑ์ ส่วนหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างชะลอลงเล็กน้อย สำหรับการเบิกจ่ายตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (ตำบลละ 5 ล้านบาท) ยังมีการเบิกจ่าย 287.7 ล้านบาท แต่ลดลงจากเดือนก่อนที่มีการเบิกจ่าย 463.8 ล้านบาท ในส่วนของการเบิกจ่ายเงินนอกงบประมาณในการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนนมีการเบิกจ่าย 364.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่เบิกจ่าย 285.1 ล้านบาท

การลงทุนภาคเอกชน ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.7 และ หดตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลหดตัวทั้งการก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัยและเพื่อการพาณิชย์ ส่วนยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ชะลอลงตามงบลงทุนภาครัฐ ด้านโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการขยายตัวต่อเนื่องจากทุกขนาดกิจการ อาทิ โรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลจังหวัดนครราชสีมา เงินลงทุน 1,070 ล้านบาท โรงงานผลิตและจำหน่ายก๊าซชีวภาพ จังหวัดนครราชสีมา เงินลงทุน 421 ล้านบาท เป็นต้น สำหรับเงินลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ลดลงในเกือบทุกหมวดอุตสาหกรรม

การผลิตภาคเกษตรกรรม

ดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญหดตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 18.3 และหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน เป็นผลจากด้านราคาที่หดตัวมากขึ้น โดยราคามันสำปะหลังหดตัว เนื่องจาก อุปสงค์ของจีนที่ชะลอลง ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิหดตัว เนื่องจากผู้ประกอบการชะลอการรับซื้อเพื่อรอดูทิศทางราคาผลผลิตฤดูกาลใหม่ที่ใกล้ออกสู่ตลาด ขณะที่ ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และยางพาราแม้จะหดตัวน้อยลงแต่ผู้ประกอบการยังชะลอการซื้อ ด้านราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวยังอยู่ในเกณฑ์ดี สำหรับผลผลิตพืชสำคัญหดตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนจากภาวะภัยแล้งในช่วงก่อนหน้า ขณะที่ผลผลิตยางพาราเพิ่มขึ้นใกล้เคียงเดือนก่อน

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.8 และกลับมาเพิ่มขึ้นหลังจากที่หดตัวต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกันยายนของปีก่อน โดยการผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ขยายตัวจากคำสั่งซื้อของผู้ค้าส่งที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการผลิตในอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายขาวที่ขยายตัวจากสต็อกน้ำตาลโลกที่ลดลง ขณะที่ความต้องการบริโภคน้ำตาลเพิ่มขึ้นนอกจากนี้ การผลิตเพื่อการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม Hard Disk Drive (HDD) ขยายตัวตามการเพิ่มกำลังการผลิตของโรงงานบางแห่ง

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 0.72 สูงขึ้นจากเดือนก่อนตามราคาน้ำมันขายปลีก ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.25 ชะลอลงจากเดือนก่อนตามราคาอาหารสำเร็จรูปบริโภคในบ้าน สำหรับอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.8 ภาคการเงิน เงินฝากคงค้างของธนาคารพาณิชย์เดือนสิงหาคม 2559 เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.5 แต่ชะลอลงต่อเนื่องจากเดือนกรกฎาคม ตามเงินฝากประจำและเงินฝากกระแสรายวัน ด้านสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.6 แต่ชะลอลงต่อเนื่อง ตามการทยอยชำระคืนเงินให้สินเชื่อประเภทตั๋วเงิน ขณะเดียวกันธนาคารยังมีความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพหนี้ จึงเพิ่มความระมัดระวังในการให้สินเชื่อ

สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

31 ตุลาคม 2559

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร. 04333 3000 ต่อ 3415

E-mail: PornnipT@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ