ฉบับที่ 17/2559
เรื่อง แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนตุลาคม 2559
ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนตุลาคม 2559 ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน จากการบริโภคภาคเอกชนที่ยังทรงตัว โดยการใช้จ่ายสินค้าในชีวิตประจำวันปรับดีขึ้น ขณะที่การใช้จ่ายสินค้าคงทนในหมวดยานยนต์หดตัวเล็กน้อย ทั้งนี้ รายได้ภาคเกษตรยังคงหดตัวจากผลของราคา แม้ว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับดีขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ ด้านการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวตามภาคการก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม แรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐแผ่วลง ผนวกกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัว สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลง ตามราคาอาหารสด และอาหารสำเร็จรูป ส่วนอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ ด้านเงินฝากของธนาคารพาณิชย์เดือนกันยายน 2559 ขยายตัวใกล้เคียงเดือนสิงหาคม ขณะที่สินเชื่อคงค้างยังชะลอลง
การบริโภคภาคเอกชนดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.4 และทรงตัวจากเดือนก่อน โดยการใช้จ่ายสินค้าในชีวิตประจำวันปรับดีขึ้น ตามการบริโภคสินค้าหมวดอาหาร เครื่องดื่ม อาทิ น้ำตาล ไข่ไก่ นม ส่วนหมวดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และยาสูบหดตัวน้อยลง ขณะที่การบริโภคสินค้าคงทนในหมวดยานยนต์หดตัวเล็กน้อย ตามยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่งและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ภายหลังเร่งตัวแรงในช่วงก่อนหน้า แต่รถจักรยานยนต์ยังขยายตัว อย่างไรก็ดี รายได้ภาคเกษตรยังคงหดตัวจากผลทางด้านราคา แม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ ภาคบริการ รายได้ภาคบริการสาขาโรงแรมและภัตตาคารหดตัวน้อยลงจากเดือนก่อน ตามรายได้ในหมวดการบริการที่พักแรมในโรงแรมและรีสอร์ทที่หดตัวน้อยลง ขณะที่รายได้ในร้านอาหารและภัตตาคารชะลอลง สำหรับอัตราการเข้าพักแรมในเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 52.2 ใกล้เคียงกับเดือนก่อน
ด้านการใช้จ่ายภาครัฐโดยรวมลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.0 และแผ่วลงจากเดือนก่อน ที่เพิ่มขึ้น ตามการเบิกจ่ายงบประจำที่ลดลงจากผลของฐานสูงในปีก่อนที่มีการจ่ายเงินตกเบิกให้ข้าราชการของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขณะที่เงินโอนหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปที่ให้สถาบันการศึกษาขยายตัวสำหรับการเบิกจ่ายงบลงทุนลดลงจากเงินโอนในหมวดเงินอุดหนุนเฉพาะกิจให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น รวมทั้งค่าครุภัณฑ์ที่ลดลง ส่วนหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างชะลอลง
สำหรับการเบิกจ่ายตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐมีการเบิกจ่ายเล็กน้อยหลังจากที่ทยอยเบิกจ่ายไปมากแล้วก่อนสิ้นสุดมาตรการ โดยมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (ตำบลละ 5 ล้านบาท) มีการเบิกจ่าย 4.7 ล้านบาท โครงการลงทุนขนาดเล็ก 1.3 ล้านบาท ในส่วนของการเบิกจ่ายเงินนอกงบประมาณในการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนนมี 76.1 ล้านบาท
การลงทุนภาคเอกชน ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.1 จากที่ลดลงในเดือนก่อน ตามภาคการก่อสร้าง โดยพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลปรับดีขึ้นในบางพื้นที่ทั้งการก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัย การพาณิชย์ และบริการ ขณะเดียวกันยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนยอดจดทะเบียนรถยนต์เพื่อการพาณิชย์หดตัวน้อยลง ด้านเงินลงทุนของโรงงานอุตสาหกรรมที่เปิดดำเนินการปรับเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องทางการเกษตรเป็นหลัก สำหรับเงินลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ลดลง อย่างไรก็ดี ยังมีโครงการขนาดใหญ่ที่สนใจมาลงทุนในภาค อาทิ กิจการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง จังหวัดนครราชสีมา เงินลงทุน 1,710 ล้านบาท
การผลิตภาคเกษตรกรรม ดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญหดตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 21.4 และหดตัวมากขึ้นจากเดือนก่อน เป็นผลจากด้านราคาเป็นสำคัญ ทั้งราคาข้าวเปลือกหอมมะลิที่หดตัว เนื่องจากสต็อกที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่ตลาดมีความต้องการลดลง ส่วนหนึ่งเนื่องจากประเทศคู่ค้าชะลอการสั่งซื้อ ราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวลดลงเป็นเดือนแรกในรอบปี เนื่องจากบางพื้นที่เริ่มมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ราคามันสำปะหลังยังคงหดตัวในทิศทางเดียวกับราคาส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เนื่องจากคำสั่งซื้อของจีนลดลง และราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หดตัว เนื่องจากมีการใช้สินค้าทดแทนอื่นในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ อย่างไรก็ดี ราคายางพาราเพิ่มขึ้นเป็นเดือนแรกในรอบ 5 ปี ตามราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับสูงขึ้น สำหรับผลผลิตพืชสำคัญ ปรับเพิ่มขึ้น ตามผลผลิตข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากปริมาณน้ำฝนเพียงพอในช่วงเพาะปลูกและในช่วงเจริญเติบโตฝนตกกระจายตัวดีกว่าปีการผลิตก่อนหน้า ทำให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ส่วนผลผลิตยางพาราเพิ่มขึ้น แต่ผลผลิตต่อไร่ลดลง เนื่องจากเป็นต้นยางเปิดกรีดใหม่
การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.8 จากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้น โดยการผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หดตัว จากการปรับปรุงสายการผลิตบางสาย ขณะที่การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม Hard Disk Drive (HDD) ชะลอลงตามความต้องการจากต่างประเทศ อย่างไรก็ดี การผลิตในอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายขาวขยายตัวต่อเนื่อง ตามการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นประกอบกับปีก่อนฐานต่ำ
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 0.63 ชะลอลงจากเดือนก่อน ตามราคาอาหารสด และอาหารสำเร็จรูป ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.97 ชะลอลงจากเดือนก่อนตามราคาอาหารสำเร็จรูป สำหรับอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.1 ปรับสูงขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อย โดยเดือนนี้มีแรงงานรอฤดูกาลเพื่อรอเก็บเกี่ยวผลผลิตเกษตรมากขึ้น
ภาคการเงินเงินฝากคงค้างของธนาคารพาณิชย์เดือนกันยายน 2559 เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.6 และขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนสิงหาคม ด้านสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.2 แต่ชะลอลงต่อเนื่อง ทั้งสินเชื่อที่ให้แก่ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ส่วนหนึ่งเนื่องจากสถาบันการเงินระมัดระวังในการให้สินเชื่อ
สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
30 พฤศจิกายน 2559
ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค
โทร. 04333 3000 ต่อ 3415
E-mail: PornnipT@bot.or.th
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย