ฉบับที่ 01/2560
เรื่อง แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนธันวาคม 2559
ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนธันวาคม 2559 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน ตามการใช้จ่ายภาครัฐ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้การใช้จ่ายสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันดีขึ้น กอปรกับรายได้ภาคเกษตรและรายได้ภาคการท่องเที่ยวตลอดจนความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นช่วยจูงใจให้เกิดการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันการลงทุนภาคเอกชนก็มีสัญญาณฟื้นตัว และการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลง สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นตามราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ ด้านเงินฝากและสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เดือนพฤศจิกายน 2559 ชะลอลง
การใช้จ่ายภาครัฐโดยรวมเร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อน โดยรายจ่ายงบประจำขยายตัวสูงจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ส่วนใหญ่เป็นโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ (หมู่บ้านละ 250,000 บาท) ส่วนรายจ่ายลงทุนในงบประมาณชะลอตัวตามหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้าง ขณะที่หมวดครุภัณฑ์ขยายตัว ในส่วนของการเบิกจ่ายเงินนอกงบประมาณในการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนนยังมีการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน
การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ทรงตัวจากเดือนก่อน โดยการใช้จ่ายสินค้าในชีวิตประจำวันปรับดีขึ้น โดยเฉพาะจากหมวดอาหาร เครื่องดื่ม และของใช้ในครัวเรือน ส่วนหนึ่งเนื่องจากมาตรการช็อปช่วยชาติ ขณะเดียวกันรายได้ภาคเกษตรและความเชื่อมั่นผู้บริโภคเริ่มปรับดีขึ้น ส่วนการใช้จ่ายสินค้าคงทนในหมวดยานยนต์หดตัวจากผลของฐานสูงในปีก่อนที่มีการเร่งซื้อก่อนปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ภาคบริการด้านท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง ตามจำนวนนักท่องเที่ยวในอุทยาน จำนวนผู้โดยสารขาเข้า-ขาออกผ่านท่าอากาศยานขยายตัว จากการส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำให้อัตราการเข้าพักแรมเดือนนี้สูงสุดในรอบปีที่ร้อยละ 65.8 และรายได้ภาคบริการสาขาโรงแรมและภัตตาคารโดยเฉพาะหมวดการพักแรมในเกสต์เฮ้าส์ ร้านอาหารและภัตตาคารขยายตัว
การลงทุนภาคเอกชนเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวจากเดือนก่อน สะท้อนจากพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลขยายตัวจากการก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะจังหวัดหลักทั้งนครราชสีมา ขอนแก่น และอุดรธานี สอดคล้องกับยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ที่ยังขยายตัว ทั้งนี้ เงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการขยายตัวถึง 12 เท่าตัว โดยเฉพาะธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้าและไอน้ำ ที่จังหวัดนครราชสีมา
การผลิตภาคเกษตรกรรม มูลค่าผลผลิตพืชสำคัญหดตัวน้อยลงจากเดือนก่อน โดยผลผลิตขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่ราคายังหดตัวมากกว่าผลผลิตที่เพิ่มขึ้น เป็นที่น่าสังเกตว่าราคาสินค้าเกษตรบางชนิดปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น ราคายางพาราเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำยางออกสู่ตลาดน้อย จากการที่แหล่งผลิตสำคัญในภาคใต้ประสบอุทกภัย ขณะที่ความต้องการซื้อจากจีนเพิ่มขึ้นจากการเร่งผลิตยางล้อเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา เนื่องจากคาดว่าจะถูกออกมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มเติมในปี 2560 และความต้องการซื้อรถยนต์ในประเทศจีนเร่งตัวก่อนนโยบายปรับลดภาษีซื้อรถยนต์ของภาครัฐสิ้นสุดในเดือนนี้ นอกจากนี้ ยังได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันโลกปรับสูงขึ้น ราคาอ้อยโรงงานเพิ่มขึ้น ตามทิศทางราคาน้ำตาลโลกที่อยู่ในเกณฑ์สูง เนื่องจากดุลน้ำตาลโลกขาดดุล ขณะที่ราคาข้าวหอมมะลิและข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวหดตัวน้อยลง เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการส่งเสริมการตลาดในประเทศหลายช่องทาง ประกอบกับตลาดต่างประเทศมีคำสั่งซื้อข้าวฤดูการผลิตใหม่เข้ามาบ้าง ราคามันสำปะหลังหดตัวน้อยลง เนื่องจากเป็นช่วงต้นฤดูเก็บเกี่ยวซึ่งผลผลิตออกสู่ตลาดไม่มากและมีเปอร์เซ็นต์แป้งสูง ขณะที่ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยังหดตัวต่อเนื่อง สำหรับผลผลิตพืชสำคัญเพิ่มขึ้น ตามผลผลิตข้าว มันสำปะหลัง และยางพารา เนื่องจากปริมาณฝนเพียงพอหลังจากปัญหาภัยแล้งคลี่คลายในช่วงกลางปี การผลิตภาคอุตสาหกรรม หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อน โดยการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม Hard Disk Drive (HDD) ยังขยายตัวต่อเนื่องจากผลของการย้ายฐานการผลิตมาในภาค ส่วนการผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ปรับดีขึ้น จากความต้องการของผู้ค้าส่งเพื่อรองรับเทศกาลปีใหม่ และเพิ่มสต็อกที่ลดลงจากการปรับสายการผลิตบางสาย ขณะที่การผลิตในอุตสาหกรรมน้ำตาลหดตัว จากปริมาณอ้อยที่เข้าหีบน้อยกว่าปีก่อน สอดคล้องกับการส่งออกน้ำตาลโดยรวมที่โน้มลง
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 1.39 สูงขึ้นจากเดือนก่อน ตามราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น สำหรับอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.7
ภาคการเงิน เงินฝากคงค้างของธนาคารพาณิชย์เดือนพฤศจิกายน 2559 ชะลอลงจากเดือนก่อน ตามเงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวันของส่วนราชการ ด้านสินเชื่อคงค้างชะลอลง ตามการเบิกใช้สินเชื่อประเภทเงินให้กู้และตั๋วเงินที่ลดลงเป็นสำคัญ
สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
31 มกราคม 2560
ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค
โทร. 0 4391 3542
E-mail: PornnipT@bot.or.th
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย