ฉบับที่ 02/2560
เรื่อง แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือไตรมาสที่ 4 ปี 2559
ไตรมาสที่ 4 ปี 2559 ขยายตัวต่อเนื่อง โดยแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญจากการใช้จ่ายภาครัฐที่เร่งขึ้นทั้งงบประจำและงบลงทุน ขณะที่การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคยังขยายตัว โดยมีปัจจัยสนับสนุนทั้งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ รายได้จากการท่องเที่ยว ราคาสินค้าเกษตรบางชนิด และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับดีขึ้นในช่วงปลายปี นอกจากนี้ การลงทุนภาคเอกชนเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวในบางพื้นที่แม้การผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมยังหดตัว ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น ตามราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำและใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน ทั้งนี้ เงินฝากและสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ชะลอลง รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้
การใช้จ่ายภาครัฐ เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนที่หดตัว ทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน โดยรายจ่ายประจำขยายตัวสูง ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐปีงบประมาณ 2560 ส่วนใหญ่ในโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ (หมู่บ้านละ 250,000 บาท) นอกจากนี้ รายจ่ายลงทุนขยายตัวจากหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท รวมทั้งหมวดครุภัณฑ์ และงบกลางจากโครงการลงทุนขนาดเล็กที่ขยายตัว
ยังขยายตัวจากไตรมาสก่อน โดยได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและราคาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะยางพาราและอ้อยที่ปรับดีขึ้น ทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น สะท้อนจากการบริโภคสินค้าอาหารสด เครื่องดื่ม และเครื่องนุ่งห่ม ที่ขยายตัวสำหรับการใช้จ่ายสินค้าคงทนหมวดยานยนต์หดตัวจากฐานสูงในปีก่อนที่มีการเร่งซื้อก่อนปรับภาษีสรรพสามิตรถยนต์ อย่างไรก็ดี ยอดขายยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะค่ายรถยนต์จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อเร่งระบายสต็อกรถยนต์รุ่นเก่ารองรับการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ในปีหน้า ภาคบริการด้านการท่องเที่ยว ขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งจากมาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวปี 2559 โดยจำนวนนักท่องเที่ยวในอุทยาน การขนส่งผ่านท่าอากาศยานยังขยายตัวได้ ส่งผลให้รายได้ภาคบริการสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวตาม โดยเฉพาะการบริการหมวดที่พักแรมแบบเกสต์เฮ้าส์และที่พักแรมระยะสั้น และการบริการอาหารในภัตตาคาร/ร้านอาหาร ทั้งนี้ อัตราการเข้าพักแรมอยู่ที่ร้อยละ 57.8 ปรับสูงขึ้นจากไตรมาสก่อน
การลงทุนภาคเอกชนเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวขึ้น โดยการลงทุนภาคก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัยและเพื่อการพาณิชย์ปรับดีขึ้นในบางพื้นที่ ตามยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์และพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลที่ขยายตัว ด้านเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการขยายตัว โดยเฉพาะกิจการขนาดใหญ่ เช่น โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าและไอน้ำ (13,700 ล้านบาท)โรงงานขัดและคัดคุณภาพข้าวสาร (1,802.1 ล้านบาท) โรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูปสำหรับเลี้ยงสัตว์ (1,343.5 ล้านบาท) และโรงงานผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง (1,310.6 ล้านบาท) เป็นต้น
การผลิตภาคเกษตรกรรม มูลค่าผลผลิตพืชสำคัญ ยังหดตัวจากด้านราคาพืชผลเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่าราคาสินค้าเกษตรบางชนิดปรับตัวเพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้ โดยราคาอ้อยโรงงานเพิ่มขึ้น ตามทิศทางราคาน้ำตาลโลกที่อยู่ในระดับสูง เนื่องจากดุลน้ำตาลโลกขาดดุล และราคายางพาราเพิ่มขึ้น ตามอุปสงค์จากจีนที่เร่งตัวตามความต้องการของอุตสาหกรรมยานยนต์ ขณะที่อุปทานยางพาราออกสู่ตลาดน้อย เนื่องจากแหล่งผลิตสำคัญในภาคใต้ประสบอุทกภัย ขณะที่ราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวหดตัว เนื่องจากผลผลิตเพิ่มขึ้นและออกสู่ตลาดได้ตามภาวะปกติ ราคาข้าวหอมมะลิหดตัว เนื่องจากอุปสงค์ชะลอตัว ประกอบกับปริมาณผลผลิตข้าวโลกมีมาก รวมถึงการแข่งขันด้านราคาที่สูง และราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หดตัว เนื่องจากการใช้สินค้าทดแทนในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ขณะที่ราคามันสำปะหลังหดตัวน้อยลง ตามผลผลิตที่ออกสู่ตลาดยังไม่มาก เนื่องจากเป็นช่วงต้นฤดูเก็บเกี่ยว สำหรับผลผลิตพืชสำคัญปรับดีขึ้น ทั้งผลผลิตข้าวนาปี มันสำปะหลัง และยางพารา หลังจากสถานการณ์ภัยแล้งคลี่คลายในช่วงกลางปี
การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ตามการผลิตน้ำตาล เนื่องจากปริมาณอ้อยเข้าหีบน้อยกว่าปีก่อน ส่วนการผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ลดลง ตามคำสั่งซื้อของผู้ค้าส่ง ประกอบกับโรงงาน มีการปิดซ่อมบำรุงบางสายการผลิต อย่างไรก็ดี การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม Hard Disk Drive (HDD) ขยายตัวจากการรวบฐานการผลิตของผู้ประกอบการมาผลิตในภาค ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 0.99 สูงขึ้นจากไตรมาสก่อน ตามราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.8 ซึ่งใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน
ภาคการเงิน เงินฝากคงค้างของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงร้อยละ 4.1 ตามเงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวันของธนาคารขนาดใหญ่ เนื่องจากผู้ฝากบางส่วนหันไปลงทุนทางอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า ด้านสินเชื่อคงค้างขยายตัวร้อยละ 1.0 ชะลอตัวต่อเนื่อง โดยสินเชื่อภาคครัวเรือนขยายตัวใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน ขณะที่สินเชื่อภาคธุรกิจชะลอลงในหลายธุรกิจ เนื่องจากสถาบันการเงินยังระมัดระวังในการให้สินเชื่อและภาคธุรกิจมีการระดมทุนที่มีต้นทุนต่ำกว่าแทนการขอสินเชื่อ อย่างไรก็ดี สินเชื่อที่ให้แก่ธุรกิจขายส่งขายปลีก กิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ การก่อสร้าง และการเกษตรยังขยายตัว
สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
2 กุมภาพันธ์ 2560
ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค
โทร. 0 4391 3542
E-mail: PornnipT@bot.or.th
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย