แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนกุมภาพันธ์ 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 31, 2008 18:01 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

          ภาวะเศรษฐกิจในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 โดยรวมยังคงอยู่ในทิศทางที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการผลิตที่ดัชนีผลผลิต  อุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวขยายตัวสูงต่อเนื่อง ขณะที่ดัชนีผลผลิตพืชผลสำคัญขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อประกอบกับราคาพืชผลที่ขยายตัวดี ส่งผลให้รายได้เกษตรกรจากการขายพืชผลสำคัญขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สำหรับด้านอุปสงค์ แม้ว่าการบริโภคภาคเอกชน  การส่งออกและการนำเข้า จะชะลอตัวลงบ้างเมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่โดยรวมยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดี รวมทั้งการลงทุนภาคเอกชน  ยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง
เสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเกินดุลต่อเนื่องและเงินสำรองระหว่างประเทศ อยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงเร่งตัวต่อเนื่อง
รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 มีดังนี้
1. ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) ขยายตัวดีต่อเนื่องที่ร้อยละ 14.7 จากระยะเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อน ตามการผลิตในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ และหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่เพิ่มขึ้นจากอุปสงค์จากต่างประเทศ รวมทั้งหมวดยานยนต์ที่ ขยายตัวสูงต่อเนื่องจากเดือนก่อนโดยเฉพาะรถยนต์นั่ง สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมในเดือนนี้อยู่ที่ ร้อยละ 73.9 ซึ่งเมื่อปรับฤดูกาลแล้วใกล้เคียงกับเดือนก่อน
2. ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (ประมาณการ) ขยายตัวร้อยละ 6.0 จากระยะเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อน ตามการชะลอตัวของมูลค่าการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคและภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งเร่งตัวมากในเดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ปริมาณ จำหน่ายรถยนต์นั่ง ยังคงขยายตัวในเกณฑ์สูงตามการจำหน่ายรถยนต์รุ่นใหม่ที่ใช้พลังงานทางเลือกหรือ E20 สำหรับดัชนีการลงทุน ภาคเอกชน (ประมาณการ) อยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อน แต่เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนขยายตัวร้อยละ 5.6 โดยเป็นผลจาก มูลค่าการนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ ที่ยังคงขยายตัวดี
3. ภาคการคลัง รัฐบาลจัดเก็บรายได้ได้ 131.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 9.5 จากทั้งรายได้ภาษี ที่ขยายตัวดีในทุกฐานภาษี และรายได้ที่มิใช่ภาษีที่เพิ่มขึ้นตามการจัดเก็บรายได้ของรัฐวิสาหกิจเนื่องจากมีการนำส่งเหลื่อมเดือน เมื่อเทียบกับปีก่อน ดุลเงินสด รัฐบาลเกินดุล 1.4 พันล้านบาท เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนเพิ่มขึ้น 16.0 พันล้านบาท อยู่ที่ 67.1 พันล้านบาท
4. ภาคต่างประเทศ ดุลการค้า ขาดดุล 620 ล้านดอลลาร์ สรอ. เป็นการขาดดุลครั้งแรกในรอบ 10 เดือน จากการนำเข้าที่ยังคง ขยายตัวในเกณฑ์สูงในทุกหมวด โดยเฉพาะในหมวดเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นมากจากราคาเป็นสำคัญ ทำให้โดยรวมการนำเข้า มีมูลค่า 13,514 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 32.5 ขณะที่การส่งออกมีมูลค่า 12,894 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 16.2 ชะลอลงเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะสินค้าประมงที่ลดลงตามการส่งออกกุ้ง หมวดสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานในการผลิตสูงชะลอลง โดยเฉพาะอัญมณีและเครื่องประดับที่ได้มีการเร่งส่งออกทองคำในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม เมื่อรวมกับดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ที่เกินดุลสูงตามดุลการท่องเที่ยวที่เกินดุลเพิ่มขึ้น ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัด เกินดุล 752 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขณะที่ดุลการชำระเงินเกินดุล 6,571 ล้านดอลลาร์ สรอ. และเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2551 อยู่ที่ระดับ 100.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. โดยมี ยอดคงค้างการซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าสุทธิเท่ากับ 23.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ.
5. อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ร้อยละ 5.4 เร่งขึ้นจากเดือนก่อน แม้ว่าราคาในหมวดพลังงานจะค่อนข้างทรงตัว แต่ราคาอาหารสด เร่งตัวขึ้นค่อนข้างมาก โดยเฉพาะราคาผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ นอกจากนี้ ราคาเครื่องประกอบอาหาร โดยเฉพาะน้ำมันพืชและน้ำมันสัตว์ เร่งตัวขึ้น ทำให้มีการส่งผ่านไปยังราคาอาหารบริโภคใน-นอกบ้าน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อน มาอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตสูงขึ้นร้อยละ 11.2 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาในทุกหมวด
6. ภาวะการเงิน เงินฝากของสถาบันรับฝากเงิน1/ (Depository Corporations) ขยายตัวร้อยละ 1.8 จากระยะเดียวกันปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของเงินฝากภาคครัวเรือน เนื่องจากธนาคารพาณิชย์หลายแห่งได้เสนออัตราดอกเบี้ยพิเศษเพื่อจูงใจผู้ฝาก สำหรับ สินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินขยายตัวร้อยละ 5.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน จากสินเชื่อที่ให้แก่ภาคธุรกิจที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น ฐานเงิน ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ขยายตัวร้อยละ 7.0 จากระยะเดียวกันปีก่อน ขณะที่ปริมาณเงินตามความหมายกว้าง (Broad Money) ขยายตัวร้อยละ 1.9 จากการขยายตัวของเงินฝากที่สถาบันการเงิน อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงิน อัตราดอกเบี้ยธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วันทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.25 ต่อปีตาม ทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่อัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารระยะ 1 วันล่าสุดระหว่างวันที่ 1-21 มีนาคม 2551 เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.21 ต่อปี
7. ค่าเงินบาทและดัชนีค่าเงินบาท ในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ค่าเงินบาทเฉลี่ยเท่ากับ 32.60 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้น จากค่าเฉลี่ยในเดือนมกราคมที่ 33.18 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. จากค่าเงินดอลลาร์ สรอ. ที่อ่อนลง กอปรกับมีการคาดการณ์ว่า ธปท. จะยกเลิกมาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้น ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 78.94 จากระดับ 78.06 ในเดือนก่อน ในช่วงวันที่ 1-21 มีนาคม 2551 ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 31.45 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้น จากการที่ ธปท. ประกาศยกเลิกมาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้น และการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ สรอ. หลังจากธนาคาร กลางของสหรัฐฯ ประกาศลดอัตราดอกเบี้ย Fed funds ลงอีกร้อยละ 0.75 ต่อปี เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2551 เป็นสำคัญ
ข้อมูลเพิ่มเติม: พรรณพิลาส เรืองวิสุทธิ์ โทร. 0-2283-5648, 0-2283-5639 e-mail: punpilay@bot.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ