แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนเมษายน 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 30, 2008 15:54 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

          ภาวะเศรษฐกิจในเดือนเมษายน 2551 โดยรวมขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านอุปทานตามผลผลิตพืชผลหลัก   ที่กลับมาขยายตัว  กอปรกับราคายังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้รายได้เกษตรกรจากการขายพืชผลสำคัญเร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อน ส่วนผลผลิต  อุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวขยายตัวดีต่อเนื่อง  ในด้านอุปสงค์ การบริโภคภาคเอกชนและปริมาณการส่งออกขยายตัวในเกณฑ์ดี ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลงบ้าง เสถียรภาพทางเศรษฐกิจด้านต่างประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี  เงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง แต่ดุลการค้าและดุลบัญชี  เดินสะพัดขาดดุลจากมูลค่าการนำเข้าที่เร่งตัวขึ้นมาก แม้มูลค่าการส่งออกขยายตัวในเกณฑ์ดี ในด้านเสถียรภาพในประเทศ อัตราเงินเฟ้อ ทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งตัวขึ้นมากจากเดือนก่อน รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจในเดือนเมษายน 2551 มีดังนี้
1. ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 10.1 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 9.3 ทั้งนี้ หมวดการผลิตที่ขยายตัวดี ได้แก่ หมวดอิเล็กทรอนิกส์ หมวดยานยนต์ และหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า ตามอุปสงค์จากต่างประเทศ รวมทั้งหมวดเครื่องดื่ม ขยายตัวตามการผลิตเบียร์ที่ตัวแทนจำหน่ายเร่งสะสมสต็อกสินค้าก่อนที่ผู้ผลิตจะปรับราคาสินค้า สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมในเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 69.1 ลดลงจากเดือนก่อนจากปัจจัยฤดูกาล
2. ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 7.8 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยมูลค่าสินค้าอุปโภคบริโภคนำเข้า ณ ราคาคงที่ และภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัวสูง เช่นเดียวกับดัชนีหมวดยานยนต์ (Car index) ซึ่งยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดี สำหรับ ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (ประมาณการ) ขยายตัวร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อน จากเครื่องชี้ ในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ชะลอลง แม้มูลค่าการนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ ยังคงขยายตัวในเกณฑ์สูงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกัน ปีก่อน
3. ภาคการคลัง รัฐบาลมีรายได้จัดเก็บ 145.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 21.2 ซึ่งเป็นการขยายตัว ทั้งรายได้ภาษีและรายได้ที่มิใช่ภาษี โดยรายได้ภาษีเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 ในทุกฐานภาษี โดยภาษีฐานรายได้เพิ่มขึ้นตามภาษีเงินได้ นิติบุคคล ส่วนภาษีจากฐานการบริโภคเพิ่มขึ้นตามภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นจากการนำเข้าเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี ภาษีธุรกิจ เฉพาะหดตัวค่อนข้างมาก โดยเป็นผลมาจากมาตรการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 29 มีนาคม 2551 ดุลเงินสด รัฐบาลขาดดุล 26.3 พันล้านบาท เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนเพิ่มขึ้น 13.2 พันล้านบาท อยู่ที่ 67.7 พันล้านบาท
4. ภาคต่างประเทศ ดุลการค้าขาดดุล 1,768 ล้านดอลลาร์ สรอ. จากการนำเข้าที่เร่งตัวขึ้นมากโดยเฉพาะในหมวดเชื้อเพลิง และผลิตภัณฑ์น้ำมัน แม้ว่าการส่งออกจะเร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อน โดยการส่งออกมีมูลค่า 13,631 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 27.7 ซึ่งเป็นการขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นในเกือบทุกหมวด โดยในหมวดสินค้าเกษตรขยายตัวดีจากปัจจัยด้านราคา ขณะที่หมวดสินค้า อุตสาหกรรมเร่งขึ้นจากด้านปริมาณเป็นสำคัญ โดยสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานในการผลิตสูงเร่งตัวขึ้นตามการส่งออกสิ่งทอ และรองเท้า ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงเร่งขึ้นตามการส่งออกคอมพิวเตอร์ ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์เหล็ก และผลิตภัณฑ์ ปิโตรเลียม สำหรับการนำเข้า มีมูลค่า 15,399 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 41.5 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนตามการขยายตัวของ ทั้งปริมาณและราคาโดยเฉพาะหมวดเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นมากตามราคาตลาดโลก นอกจากนี้ ยังมีการนำเข้าทองคำเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่ง เกิดจากราคาทองคำในตลาดโลกที่ปรับลดลง เมื่อรวมกับดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่เกินดุล 107 ล้านดอลลาร์ สรอ. ทำให้ดุลบัญชี เดินสะพัด ขาดดุล 1,661 ล้านดอลลาร์ สรอ. ส่วนดุลการชำระเงินเกินดุล 1,338 ล้านดอลลาร์ สรอ. เงินสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนเมษายน 2551 อยู่ที่ระดับ 109.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. โดยมียอดคงค้างการซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าสุทธิ จำนวน 20.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. จากดุลการชำระเงินที่เกินดุล คาดว่าเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิ 1/ ในเดือนเมษายนจะเกินดุลตามการไหลเข้าของเงินทุน ภาคธุรกิจที่มิใช่ธนาคาร กอปรกับภาคธนาคารมีเงินทุนไหลเข้าจากการลดสินทรัพย์ในต่างประเทศ เป็นสำคัญ
5. อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ร้อยละ 6.2 เร่งตัวขึ้นมากจากเดือนก่อน แม้ว่าราคาในหมวดพลังงานจะเพิ่มขึ้นในอัตราใกล้เคียงกับ เดือนก่อน แต่ราคาสินค้าในหมวดอาหารสดเร่งตัวขึ้นมาก ทำให้มีการส่งผ่านไปยังราคาในหมวดที่ไม่ใช่พลังงานและอาหารสด ได้แก่ อาหารบริโภคในและนอกบ้าน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 2.1 ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตสูงขึ้น ร้อยละ 12.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาในหมวดผลผลิตเกษตรกรรมเป็นสำคัญ
6. ภาวะการเงิน เงินฝากของสถาบันรับฝากเงิน 2/ (Depository Corporations) ขยายตัวร้อยละ 2.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากนับรวมการออกตราสารหนี้ประเภทตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange) เงินฝากของสถาบันการเงินจะขยายตัวร้อยละ 7.6 ชะลอลง เล็กน้อยจากเดือนก่อน สำหรับสินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินขยายตัวร้อยละ 7.0 เร่งตัวขึ้นต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของสินเชื่อ ที่ให้แก่ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในส่วนของเงินทุนหมุนเวียนฐานเงิน ณ สิ้นเดือนเมษายน 2551 ขยายตัวร้อยละ 8.9 จากระยะเดียวกันปีก่อน ขณะที่ปริมาณเงินตามความหมายกว้าง (Broad Money) ขยายตัวร้อยละ 2.1 อย่างไรก็ดี ปริมาณเงินดังกล่าวยังไม่ได้นับรวมการออกตั๋วแลกเงินโดยธนาคารพาณิชย์ซึ่งมีลักษณะ คล้ายการรับฝากเงิน ซึ่งหากรวมการออกตั๋วแลกเงินแล้วจะขยายตัวร้อยละ 4.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงิน การที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.25 ต่อปี ทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้น ในตลาดเงินไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารระยะ 1 วันเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.22 และ 3.20 ต่อปี ในเดือนเมษายนและในช่วงวันที่ 2-23 พฤษภาคม ตามลำดับ
7. อัตราแลกเปลี่ยนและดัชนีค่าเงินบาท ในเดือนเมษายน 2551 ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 31.59 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลง เล็กน้อยจากค่าเฉลี่ยในเดือนมีนาคมที่ 31.46 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. และในช่วงวันที่ 2-23 พฤษภาคม 2551 อ่อนค่าลงต่อเนื่องมาเฉลี่ยอยู่ที่ 32.04 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. โดยมีปัจจัยหลักมาจากความเชื่อมั่นในค่าเงินดอลลาร์ สรอ. ที่ปรับดีขึ้นและการที่ผู้นำเข้าซื้อเงินดอลลาร์สรอ. ล่วงหน้ามากขึ้น ในขณะที่แรงขายดอลลาร์ สรอ. ของผู้ส่งออกลดลง การที่ค่าเงินบาทอ่อนลงเมื่อเทียบกับค่าเงินหลายสกุลทำให้ ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อ่อนลงเล็กน้อย โดยปรับลดลงจากระดับ 79.97 ในเดือนก่อน มาอยู่ในระดับ 79.57 ในเดือนนี้
ข้อมูลเพิ่มเติม: พรรณพิลาส เรืองวิสุทธิ์ โทร. 0-2283-5648, 0-2283-5639 e-mail: punpilay@bot.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ