สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนเมษายน 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 30, 2008 15:52 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

          ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนเมษายน 2551 ชะลอตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย  ด้านอุปทาน ผลผลิตเกษตรสำคัญออกสู่ตลาดลดลง แต่ราคาพืชผลสำคัญส่วนใหญ่สูงขึ้นโดยเฉพาะราคาข้าวเปลือกหอมมะลิที่สูงขึ้น  เกือบเท่าตัว การผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงตามการลดลงของอุตสาหกรรมน้ำตาล อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอกนิกส์ และ อุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ด้านอุปสงค์ การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเริ่มชะลอตัว แต่การลงทุนภาคเอกชนยังปรับตัว  ดีขึ้นต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมผลิตพลังงานทดแทน และอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ การค้าชายแดน ไทย - ลาว เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอจากเดือนก่อนเล็กน้อย  ด้านการค้าชายแดนไทย - กัมพูชายังขยายตัวดี  รายได้ของภาครัฐบาล ที่จัดเก็บจากภาษีอากรเพิ่มขึ้น  ทางด้านเงินฝากและสินเชื่อยังเพิ่มขึ้น สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 6.5 เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อน  ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 เป็นผลจากสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มสำคัญหลายชนิดปรับสูงขึ้นส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.0
รายละเอียดของแต่ละภาคเศรษฐกิจ มีดังนี้
1. ภาคเกษตรกรรม ผลผลิตข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ออกสู่ตลาดลดลง เพราะเป็นช่วงปลายฤดู โดยราคาขายส่งข้าวเปลือกหอมมะลิเฉลี่ยเกวียนละ 17,561 บาท และข้าวเปลือกเหนียว 10% (เมล็ดยาว) เฉลี่ยเกวียนละ 11,720 บาท สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 96.1 และร้อยละ 8.4 ตามลำดับ เนื่องจากผลผลิตข้าวของประเทศผู้ผลิตและส่งออกสำคัญ ไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภค และผลผลิตได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ จนต้องชะลอหรือหยุดการส่งออกชั่วคราว โดยเฉพาะประเทศเวียดนามห้ามบริษัทเอกชนส่งออกข้าวจนถึงเดือนกรกฎาคม 2551 ราคาขายส่งหัวมันสำปะหลังเฉลี่ยกิโลกรัมละ 2.27 บาท และราคาขายส่งมันเส้นเฉลี่ยกิโลกรัมละ 4.84 บาท สูงขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 84.6 และร้อยละ 52.2 ตามลำดับ เนื่องจากปริมาณผลผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการทั้งในอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ภายในประเทศ และเพื่อการส่งออก ราคาขายส่ง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เฉลี่ยกิโลกรัมละ 9.08 บาท สูงขึ้นร้อยละ 21.2 เนื่องจากยังมีความต้องการของอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ที่มีอย่าง ต่อเนื่อง
2. ภาคอุตสาหกรรม การผลิตอุตสาหกรรมลดลง โดยอุตสาหกรรมที่มีการผลิตลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำตาล โดยเฉพาะการผลิตน้ำตาลทรายขาวที่ลดลง แม้ยังมีการผลิตน้ำตาลดิบต่อเนื่อง อุตสาหกรรมผลิต ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ชะลอการส่งออก และอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ในส่วนอุตสาหกรรมที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์โดยเฉพาะเบียร์ ตามความต้องการบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัว อุตสาหกรรมผลิต แป้งมันสำปะหลัง และอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์
3. ภาคบริการ เดือนนี้การท่องเที่ยวขยายตัว จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในเดือนนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 56.0 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ซึ่งมีวันหยุดต่อเนื่องหลายวัน ทำให้ ในหลายพื้นที่มีการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ เช่น จังหวัดหนองคายจัดงาน งานเย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์อีสานหนองคายสานสัมพันธ์ สองฝั่งโขง ไทย - ลาว จังหวัดสุรินทร์จัดงานสงกรานต์ช้าง ณ ศูนย์คชศึกษา หมู่บ้านช้าง นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่นิยมเดินทางมาทาง จังหวัดหนองคายและมุกดาหารซึ่งมีสะพานมิตรภาพไทย - ลาว ที่อำนวยความสะดวกในการเดินทาง สำหรับอัตราการเข้าพักของ โรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 48.6 ซึ่งลดลงจากปีก่อนที่มีอัตราการเข้าพักที่ร้อยละ 61.3
4. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน เริ่มชะลอลง เครื่องชี้สำคัญคือการจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และรถยนต์ บรรทุกส่วนบุคคลมีจำนวน 8,178 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในที่อยู่อาศัย ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.2 อย่างไรก็ตาม ประชาชนยังมีการจับจ่ายใช้สอยสินค้าอุปโภคบริโภคต่อเนื่อง โดย การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งสิ้น 858.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.4 ส่วนหนึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นจาก ยอดจำหน่ายของห้างสรรพสินค้า และธุรกิจค้าปลีก - ค้าส่ง การจดทะเบียนรถจักรยานยนต์มีจำนวน 28,759 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายภาครัฐที่เร่งการกระตุ้นเศรษฐกิจสู่ระดับฐานราก และราคาสินค้าภาคเกษตรที่สูงขึ้น ส่งผลให้ประชาชน มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น
5. การลงทุนภาคเอกชน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น นักลงทุนให้ความสนใจในการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยโครงการที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมีจำนวน 8 โครงการ ใช้เงินลงทุนถึง 1,924.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว โครงการที่สำคัญ ได้แก่ โครงการผลิตสิ่งพิมพ์ เงินลงทุน 553.0 ล้านบาท ที่จังหวัดขอนแก่น โครงการพลังงานไฟฟ้าจากไบโอแมส เงินลงทุน 400.0 ล้านบาท ที่จังหวัดบุรีรัมย์ และโครงการผลิตลูกสูบสำหรับยานพาหนะ เงินลงทุน 348 ล้านบาท ที่จังหวัดนครราชสีมา การจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่มีทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 495.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว เป็นการเพิ่มขึ้นจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำ เงินลงทุน 100.0 ล้านบาท ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นสำคัญ ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในภาคธุรกิจและ อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 อย่างไรก็ดี พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลเมืองและเทศบาลนครมีจำนวน 191,290.2 ตารางเมตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.1 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.5 ส่วนใหญ่เป็นการก่อสร้างที่อยู่อาศัยเป็นสำคัญ
6. ภาคการคลัง รายได้ของภาครัฐบาลที่จัดเก็บจากภาษีอากรเพิ่มขึ้น โดยสามารถจัดเก็บได้ทั้งสิ้น 3,443.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.3 ขยายตัวจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 ตามการขยายตัวของภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บได้ 1,548.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.3 ขยายตัวจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.2 เป็นผลจากภาษีสุรา เบียร์และภาษีเครื่องดื่มที่ไม่มี แอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น สำหรับภาษีสรรพากรจัดเก็บได้ 1,873.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 เป็นการเพิ่มขึ้นของภาษีมูลค่าเพิ่ม และ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามผลประกอบการของภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตสุรา อุตสาหกรรมผลิตวิทยุโทรทัศน์ อุตสาหกรรมผลิตแป้งมันและธุรกิจค้าส่ง - ค้าปลีก เป็นต้น ส่วนการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน เนื่องจากในเดือนเดียวกันปีก่อนมีการยื่นชำระภาษีไว้เหลื่อมเดือน ทำให้ฐานภาษีสูง และภาษีธุรกิจเฉพาะลดลง ส่วนหนึ่งจากมาตรการ ปรับลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าหรือกำไร ส่งผลให้ภาษีจากที่ดินจัดเก็บลดลงจากปีก่อนและเดือนก่อน การจัดเก็บอากรขาเข้ารวม 21.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปผ่านด่านศุลกากรมุกดาหารและ ด่านศุลกากรนครพนม
7. การค้าต่างประเทศ การค้าชายแดนไทย - ลาว ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน โดยมีมูลค่าการค้า 5,731.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.0 ขณะที่เดือนก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.6 แยกเป็น มูลค่าการส่งออก 4,418.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.4 เป็นการส่งออกสินค้าประเภท น้ำมันปิโตรเลียมและเชื้อเพลิง ยานพาหนะและอุปกรณ์ สินค้าบริโภค วัสดุก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์เหล็ก เครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยเป็น การส่งออกเครื่องขุดเจาะสำรวจแร่ เครื่องจักรใช้ในโรงงานน้ำตาล เครื่องดื่ม เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นเท่าตัว ส่วนสินค้า ที่ลดลง ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า และผ้าผืน ในส่วนมูลค่าการนำเข้า 1,312.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 ชะลอจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 46.0 เป็นผลจากการลดลงของผลิตภัณฑ์ไม้ เนื่องจากนโยบายปิดป่าของ สปป. ลาว ที่กำหนดให้ส่งออกได้เฉพาะไม้สำเร็จรูป และสินค้าที่ตกค้างก่อนที่จะมีนโยบายปิดป่า ยานพาหนะ อุปกรณ์ และส่วนประกอบนำเข้า 106.1 ล้านบาท กว่าครึ่งหนึ่งเป็นการนำกลับ รถที่เสร็จสิ้นการใช้งาน ในขณะที่การนำเข้าทองแดง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น การค้าชายแดนไทย - กัมพูชา มีมูลค่าการค้า 4,125.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 54.8 เป็นมูลค่าการส่งออก 3,970.2 เพิ่มขึ้นร้อยละ 54.5 สินค้าส่งออกสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยานพาหนะและส่วนประกอบ วัสดุก่อสร้าง สิ่งทอ น้ำตาล น้ำมันปิโตรเลียมและเชื้อเพลิง ส่วนสินค้าประเภทอาหารสัตว์ พลาสติกและผลิตภัณฑ์ลดลง สำหรับมูลค่าการนำเข้า 155.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 62.6 สินค้านำเข้าสำคัญที่เพิ่มขึ้นได้แก่ วัสดุใช้แล้ว ส่วนใหญ่เป็นอลูมิเนียม เหล็ก กระดาษ ทองแดง และ พืชไร่ส่วนใหญ่เป็น มันสำปะหลัง พริกแห้ง ส่วนสินค้าที่ลดลงได้แก่ ผลิตภัณฑ์ไม้
8. ระดับราคา อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.5 เป็นผลจากราคาสินค้าหมวดอาหารและ เครื่องดื่มสูงขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.9 จากการเพิ่มขึ้นของราคาเนื้อสัตว์ที่สูงขึ้นร้อยละ 24.9 ไข่สูงขึ้นร้อยละ 23.0 ข้าวสูงขึ้นร้อยละ 21.0 และเครื่องประกอบอาหารสูงขึ้นร้อยละ 20.1 หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นจากเดือนเดียวกัน ปีก่อนร้อยละ 4.3 เป็นผลจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้นร้อยละ 25.2 หนังสือสูงขึ้นร้อยละ 13.1 ยาสูบและสุราสูงขึ้น ร้อยละ 4.2 และร้อยละ 3.6 ตามลำดับ ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเดือนนี้สูงขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.0
9. ภาคการจ้างงาน ภาวะการทำงานของประชากรเดือนมีนาคม 2551 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีกำลังแรงงาน รวมทั้งสิ้น 11.2 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 10.8 ล้านคน โดยทำงานในภาคเกษตรกรรม 5.0 ล้านคน และนอกภาคเกษตร 5.8 ล้านคน ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ทำงานในสาขาการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์ รถจักรยานยนต์ ของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ ในครัวเรือน และสาขาการผลิต สำหรับการว่างงานมีผู้ว่างงานจำนวน 0.2 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 2.1 ด้านภาวะการจ้างงานในภาค มีตำแหน่งงานว่าง 6,776 อัตรา เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 56.1 ส่วนใหญ่เป็นความต้องการพนักงานในงานพื้นฐานต่าง ๆ ได้แก่ พนักงานบริการ พนักงานขายของในร้านค้า โดยมีผู้สมัครงาน 8,683 คน ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.1 และผู้ที่ได้รับการบรรจุงาน 2,817 คน ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 15.5 โดยเป็นการบรรจุงานในอุตสาหกรรมการผลิตและในธุรกิจค้าส่งค้าปลีก สำหรับคนไทยในภาคที่เดินทางไปทำงาน ยังต่างประเทศจำนวน 8,701 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.7 ส่วนใหญ่ไปทำงานยังประเทศไต้หวัน สิงคโปร์ เกาหลีใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรท และกาตาร์
10. ภาคการเงิน ณ เดือนมีนาคม 2551 ธนาคารพาณิชย์ในภาคมีเงินฝากคงค้าง 356,659 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนเล็กน้อยตามการลดลงของเงินฝากตั๋วสัญญาใช้เงิน ทางด้านสินเชื่อมียอดคงค้าง 356,629 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.0 ขยายตัวจากเดือนก่อน เนื่องจากธนาคารพาณิชย์เริ่มปล่อยสินเชื่อแก่ภาคธุรกิจ และภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล สินเชื่อเพื่อการผลิต และสินเชื่อเพื่อการขายส่ง และการขายปลีก ส่วนสินเชื่อที่มีแนวโน้มลดลง ได้แก่ สินเชื่อตัวกลางทางการเงิน และสินเชื่อเพื่อการโรงแรมและภัตตาคาร ทำให้อัตราส่วนสินเชื่อต่อ เงินฝากในเดือนนี้เป็นร้อยละ 100.0 เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนที่มีอัตราส่วนร้อยละ 96.0
ข้อมูลเพิ่มเติม : นางสิรีธร จารุธัญลักษณ์ โทร. 0-4333-3000 ต่อ 3432 e-mail: SireethJ@bot.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ