สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนกุมภาพันธ์ 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 31, 2008 15:58 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

          ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยด้านอุปทาน ผลผลิตข้าวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ออกสู่ตลาดลดลง แต่หัวมันสำปะหลังยังเพิ่มขึ้น ทางด้านราคาพืชผลส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น  การผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น  ภาคบริการยังขยายตัวต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดในเทศกาลตรุษจีน มีการท่องเที่ยวตามแหล่ง ท่องเที่ยวตามธรรมชาติเพิ่มขึ้น ด้านอุปสงค์ การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน แต่การลงทุนภาคเอกชน ยังชะลอตัว เนื่องจากผู้ประกอบการยังไม่มั่นใจในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะทางด้านราคาน้ำมันที่ยังสูงขึ้นต่อเนื่อง โครงการ  ลงทุนส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก  การค้าชายแดนไทย - ลาว เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอจากเดือนก่อนเล็กน้อย ด้านการค้าชายแดนไทย - กัมพูชา ยังขยายตัวดี รายได้ของภาครัฐบาลที่จัดเก็บจากภาษีอากรเพิ่มขึ้นทุกประเภท ทางด้านเงินฝากและสินเชื่อยังเพิ่มขึ้น  สำหรับอัตราเงินเฟ้อ  ทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 6.0 เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3
รายละเอียดของแต่ละภาคเศรษฐกิจ มีดังนี้
1. ภาคเกษตรกรรม ผลผลิตข้าวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ออกสู่ตลาดลดลง แต่ผลผลิตหัวมันสำปะหลังยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทางด้านราคาพืชสำคัญส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น ทั้งราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่วนราคาข้าวเปลือกเหนียว ลดลง โดยราคาขายส่งข้าวเปลือกหอมมะลิเฉลี่ยเกวียนละ 12,009 บาท สูงขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 38.2 เนื่องจาก ความต้องการจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ประเทศผู้ผลิตสำคัญต่างประสบปัญหาในการส่งออกข้าว และค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ราคาขายส่ง หัวมันสำปะหลังเฉลี่ยกิโลกรัมละ 2.13 บาท สูงขึ้นถึงร้อยละ 82.1 และราคาขายส่งมันเส้นเฉลี่ยกิโลกรัมละ 4.65 บาท เทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อนสูงขึ้นร้อยละ 49.5 เนื่องจากผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออก โดยเฉพาะมันเส้นที่ประเทศจีนมีความต้องการเพิ่มขึ้น และอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ภายในประเทศ ราคาขายส่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 7.80 บาท สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.0 เนื่องจากผลผลิตในช่วงนี้มีคุณภาพดี และยังมีปริมาณ ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ของโรงงานผลิตอาหารสัตว์ ส่วนราคาขายส่งข้าวเปลือกเหนียว 10% (เมล็ดยาว) เฉลี่ยเกวียนละ 8,469 บาท ลดลงร้อยละ 19.7 จากปีก่อนเนื่องจากมีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น
2. ภาคอุตสาหกรรม การผลิตอุตสาหกรรมสำคัญเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตของอุตสาหกรรมหลายประเภทเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำตาลซึ่งมีอ้อยเข้าหีบเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน อุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และไม่มีแอลกอฮอล์ อุตสาหกรรม ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ที่ขยายตัวตามการส่งออก สำหรับอุตสาหกรรมที่ผลิตลดลงได้แก่ อุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลัง เนื่องจาก การชะลอการสั่งซื้อจากผู้ส่งออก และมีวัตถุดิบเข้าสู่โรงงานน้อย
3. ภาคบริการ เดือนนี้การท่องเที่ยวยังอยู่ในเกณฑ์ดี และเป็นช่วงเทศกาลตรุษจีน มีนักท่องเที่ยวชาวไทยและ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติตาดโตน อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง และการท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เพิ่มขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในเดือนนี้เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 39.8 ส่วนใหญ่เป็น นักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองหนองคายเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม อัตราการเข้าพักของโรงแรมอยู่ที่ระดับร้อยละ 45.6 ลดลงจากร้อยละ 50.0 ในเดือนก่อน
4. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน ประชาชนเริ่มมั่นใจในสถานการณ์การเมืองและ เศรษฐกิจ มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น เครื่องชี้สำคัญคือการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งสิ้น 720.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 22.8 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของยอดจำหน่ายของห้างสรรพสินค้า และธุรกิจค้าส่ง - ค้าปลีก การจดทะเบียน รถจักรยานยนต์จำนวน 33,958 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.6 และรถยนต์นั่งส่วนบุคคลจำนวน 3,154 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 เนื่องจาก ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากรายได้ภาคการเกษตรที่เพิ่มขึ้น และราคารถยนต์รุ่นใหม่ที่ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในภาคที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6
5. การลงทุนภาคเอกชน ยังชะลอตัว นักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงชะลอการลงทุน เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ยัง เพิ่มขึ้นส่งผลให้ต้นทุนการประกอบการสูงขึ้น ในเดือนนี้โครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนมีเพียง 3 โครงการ ใช้เงินลงทุน 130 ล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 95.2 ส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดเล็กได้แก่ โครงการผลิตแผ่นยางผสม โครงการคัดคุณภาพและบรรจุพืชการเกษตร และโครงการผลิตชิ้นส่วนโครงหลังคาเหล็ก การจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่มีเงินทุนทั้งสิ้น 405.5 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 10.2 เป็นการลดลงของธุรกิจประเภทการเกษตรและการก่อสร้างเป็นสำคัญ พื้นที่ขอรับอนุญาตก่อสร้าง ในเทศบาลเมืองและเทศบาลนคร 155,577.1 ตารางเมตร ลดลงร้อยละ 0.6 เป็นผลจากการลดลงของพื้นที่ก่อสร้างที่อยู่อาศัย และปริมาณ การใช้ไฟฟ้าในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4
6. ภาคการคลัง ทางด้านรายได้ของภาครัฐบาลที่จัดเก็บจากภาษีอากรสามารถจัดเก็บได้ทั้งสิ้น 2,898.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 37.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จำแนกได้เป็น ภาษีสรรพากรจัดเก็บได้ 1,566.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 15.2 เป็นการเพิ่มขึ้นของภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล ด้านภาษีสรรพสามิตจัดเก็บได้รวม 1,319.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนถึงร้อยละ 77.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.2 เป็นผลจากภาษีสุรา ซึ่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 79.4 ส่วนใหญ่เป็นการจัดเก็บจากเบียร์ เป็นสำคัญ สำหรับอากรขาเข้าจัดเก็บได้รวม 12.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 71.8 จากปีก่อนกว่าครึ่งหนึ่ง เป็นการนำเข้าสินแร่ทองแดงและเสื้อผ้าสำเร็จรูปผ่านด่านศุลกากรมุกดาหาร ที่เหลือเป็นการนำเข้า ยานพาหนะและอุปกรณ์ผ่านด่านศุลกากรหนองคาย
7. การค้าต่างประเทศ มูลค่าการค้าชายแดนไทย - ลาว ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน โดยมีมูลค่าการค้า 5,487.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 38.9 ชะลอจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 54.3 ตามภาคการส่งออก โดยมูลค่าการส่งออก 4,069.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.4 เป็นการส่งออกสินค้าประเภทน้ำมันปิโตรเลียม ยานพาหนะและอุปกรณ์ ส่วนใหญ่เป็นรถยนต์นั่ง พวงมาลัยซ้าย รถแทรกเตอร์ รถเครน รถเกรด สินค้าบริโภค วัสดุก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์เหล็ก และเครื่องใช้ไฟฟ้า สำหรับสินค้านำเข้า มีมูลค่า 1,418.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปีก่อน ส่วนใหญ่ยังคงเป็นการนำเข้าสินแร่ทองแดงผ่านด่านศุลกากรมุกดาหาร และ ส่วนอื่น ๆ เป็นการนำเข้ายานพาหนะและอุปกรณ์กว่าร้อยละ 60 เป็นการนำกลับรถที่เสร็จสิ้นการใช้ในงานก่อสร้างต่าง ๆ และข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ ส่วนสินค้าที่นำเข้าลดลงได้แก่ ผลิตภัณฑ์ไม้ เนื่องจากมาตรการเข้มงวดการส่งออกไม้ของ สปป. ลาว ทางด้านการค้าชายแดนไทย - กัมพูชา ยังขยายตัวดี ทั้งการส่งออกและการนำเข้า โดยมีมูลค่าการค้า 3,795.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.2 จำแนกเป็นมูลค่าการส่งออก 3,617.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.7 เป็นการเพิ่มขึ้นของสินค้าเกือบทุกหมวด สินค้าส่งออกสำคัญที่เพิ่มขึ้นได้แก่ ยานพาหนะและส่วนประกอบ วัสดุก่อสร้างจำพวกผลิตภัณฑ์เหล็ก ผลิตภัณฑ์สี ผลิตภัณฑ์ท่อพีวีซี เนื่องจากมีการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานภายในประเทศเพื่อรองรับการขยายตัวด้านการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศหลาย โครงการ และน้ำมันปิโตรเลียม/เชื้อเพลิงอื่น ๆ สำหรับมูลค่าการนำเข้า 177.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าหนึ่งเท่าตัว สินค้านำเข้าสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ สินค้าที่มิได้จำแนกส่วนใหญ่เป็นวัสดุที่ใช้งานแล้ว เช่น ทองแดง เหล็ก อลูมิเนียม และกระดาษ พืชไร่เพิ่มขึ้นกว่าเจ็ดเท่าตัว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้ามันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
8. ระดับราคา อัตราเงินเฟ้อเดือนนี้สูงขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.0 เป็นผลจากราคาสินค้าหมวดอาหาร และเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 8.7 เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของสินค้าสำคัญหลายชนิดได้แก่ ผักสดสูงขึ้นร้อยละ 20.0 เครื่องปรุงอาหารสูงขึ้นร้อยละ 20.0 เป็นผลจากการปรับราคาน้ำมันพืชและน้ำมันสัตว์เป็นสำคัญ เนื้อสัตว์ สูงขึ้นร้อยละ21.6 ตามราคาเนื้อสุกรที่ปรับราคาขึ้นตามต้นทุนอาหารสัตว์ รวมทั้งผลิตภัณฑ์นมที่สูงขึ้นร้อยละ 11.2 และหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 4.4 ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้นถึงร้อยละ 26.6 ราคาหนังสือสูงขึ้นร้อยละ 13.1 ค่าเรียนพิเศษสูงขึ้นร้อยละ 8.0 และผลิตภัณฑ์ยาสูบและสุราสูงขึ้นร้อยละ 4.2 และร้อยละ 3.9 ตามลำดับ สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภค พื้นฐานเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.1
9. ภาคการจ้างงาน ภาวะการทำงานของประชากรเดือนมกราคม 2551 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีผู้มีงานทำทั้งสิ้น 11.0 ล้านคน เป็นผู้ทำงานในภาคเกษตร 5.4 ล้านคน และนอกภาคเกษตร 5.6 ล้านคน ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ทำงานในสาขาการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์ รถจักรยานยนต์ ของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน และสาขาการผลิต สำหรับการว่างงาน มีผู้ว่างงานจำนวน 0.3 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 2.4 ด้านภาวะการจ้างงานในภาคเดือนนี้ มีผู้สมัครงาน 7,077 คน ลดลง จากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.1 โดยมีตำแหน่งงานว่าง 4,298 อัตรา เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.0 ส่วนใหญ่เป็นความต้องการช่างฝีมือ ในอุตสาหกรรมการผลิต และมีผู้ที่ได้รับการบรรจุงาน 2,343 คน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 74.6 โดยเป็นการบรรจุในอุตสาหกรรมการผลิตและ ในธุรกิจค้าส่งค้าปลีก สำหรับคนไทยในภาคที่เดินทางไปทำงานยังต่างประเทศจำนวน 8,200 คน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 3.0 ส่วนใหญ่ไปทำงานยังประเทศไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และกาตาร์
10. ภาคการเงิน ณ เดือนมกราคม 2551 ธนาคารพาณิชย์ในภาคมีเงินฝากคงค้าง 347,752 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของเงินฝากประเภทกระแสรายวันและเงินฝากออมทรัพย์ เนื่องจากส่วนราชการ มีการนำเงินงบประมาณมาฝากเพื่อรอการใช้จ่าย ทางด้านสินเชื่อมียอดคงค้าง 350,855 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 11.1 ส่วนใหญ่เป็นเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.5 สินเชื่อที่ขยายตัวยังคงเป็นสินเชื่อเช่าซื้อ รถยนต์ และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เป็นต้น อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากเดือนนี้คิดเป็นร้อยละ 100.9 เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของ ปีก่อนที่มีอัตราส่วนร้อยละ 97.7
ข้อมูลเพิ่มเติม : นางสิรีธร จารุธัญลักษณ์ โทร. 0-4333-3000 ต่อ 3432 e-mail: SireethJ@bot.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ