สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนมกราคม 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 29, 2008 16:10 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

          ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยรวมเดือนมกราคมปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยด้านอุปทาน ผลผลิตข้าว  มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาหัวมันสำปะหลัง และราคาข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ขณะที่ราคาข้าวเปลือกเหนียวลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน  ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นตาม  อุตสาหกรรมน้ำตาล อุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์  ด้านอุปสงค์ การอุปโภค  บริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น แต่การลงทุนภาคเอกชนยังชะลอตัวจากเดือนก่อน เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจยังไม่มั่นใจต่อสถานการณ์  ทางเศรษฐกิจและการเมือง  อย่างไรก็ตาม ภาคการค้าชายแดนยังขยายตัวดีต่อเนื่องโดยเฉพาะการค้าชายแดนไทย - ลาว ที่เพิ่มขึ้น  จากการส่งออกในหมวดสินค้าทุนและหมวดน้ำมันปิโตรเลียม ในส่วนการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าสินแร่ทองแดงเป็นสำคัญ    การค้าชายแดนไทย - กัมพูชา เพิ่มขึ้นจากการส่งออกยานพาหนะและส่วนประกอบ และน้ำตาล ส่วนการนำเข้าส่วนใหญ่เป็นพืชไร่  โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง ทางด้านเงินฝากและสินเชื่อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน  สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป  อยู่ที่ร้อยละ 4.3
รายละเอียดของแต่ละภาคเศรษฐกิจ มีดังนี้
1. ภาคเกษตรกรรม เดือนนี้ผลผลิตข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ออกสู่ตลาดลดลงจากเดือนก่อน ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ราคาข้าวเปลือกเหนียวลดลง โดยราคาขายส่งข้าวเปลือกหอมมะลิเฉลี่ยเกวียนละ 10,738 บาท สูงขึ้นร้อยละ 26.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีความต้องการ จากทั้งภายในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ราคาขายส่งหัวมันสำปะหลังเฉลี่ยกิโลกรัมละ 1.98 บาท สูงขึ้นร้อยละ75.2 เมื่อเทียบกับ เดือนเดียวกันของปีก่อน และราคาขายส่งมันเส้นเฉลี่ยกิโลกรัมละ 4.50 บาท สูงขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ50.5 เนื่องจาก ผลผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ และเพื่อการส่งออก ราคาขายส่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เฉลี่ยกิโลกรัมละ 7.53 บาท เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนสูงขึ้นร้อยละ 10.4 โดยผลผลิตที่ออกมาในช่วงนี้มีคุณภาพดี แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ของอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ที่มีต่อเนื่อง
2. ภาคอุตสาหกรรม เดือนนี้ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากมีอุตสาหกรรมที่ผลิตได้เพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำตาล อุตสาหกรรม เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ที่ผลิตเพิ่มขึ้นตามคำสั่งซื้อ และอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ตามการส่งออกที่ยังขยายตัวในเกณฑ์ดี ในส่วนอุตสาหกรรมที่ผลิตลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำอัดลม และอุตสาหกรรมแป้งมันที่วัตถุดิบในการผลิตลดลง
3. ภาคบริการ จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในเดือนมกราคม 2551 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลดลงร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะจังหวัดมุกดาหารลดลงร้อยละ 38.3 เนื่องจากในช่วงเดียวกันของปีก่อน จำนวนนักท่องเที่ยวมีเป็นจำนวนมากจากการเปิดสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 2 สำหรับกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำให้นักท่องเที่ยว ชาวต่างชาติเดินทางมาในภาคได้แก่ การจัดการแข่งขันกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ครั้งที่ 4 การฝึกร่วมผสมโครงการ COPE TIGER 2008 กอปรกับในเดือนนี้ยังเป็นเดือนที่มีวันหยุดนักขัตฤกษ์ต่อเนื่องจากช่วงเทศกาลวันส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ และมีอุณหภูมิที่ลดลง เหมาะแก่การเดินทางท่องเที่ยวธรรมชาติเป็นอย่างยิ่ง โดยมีอัตราการเข้าพักของโรงแรมอยู่ที่ระดับร้อยละ 53.56 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 50.77
4. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 814.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือน เดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.6 ส่วนหนึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นจากยอดจำหน่ายของห้างสรรพสินค้า และธุรกิจค้าส่ง - ค้าปลีก สำหรับปริมาณ การใช้ไฟฟ้าในที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.4 ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนที่ลดลงร้อยละ 6.9 อย่างไรก็ตาม การจดทะเบียนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจำนวน 5,930 คัน และรถจักรยานยนต์จำนวน 31,772 คัน ลดลง ร้อยละ 10.3 และร้อยละ 5.7 ตามลำดับ ขณะที่การจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลจำนวน 3,834 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6
5. การลงทุนภาคเอกชน ชะลอตัวจากเดือนก่อน โดยการจดทะเบียนนิติบุคคลตั้งใหม่ทั้งบริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด 550.6 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 17.1 โดยลดลงในหมวดอุตสาหกรรม และธุรกิจเกี่ยวกับการก่อสร้างเป็นสำคัญ สำหรับโครงการที่ได้รับอนุมัติ การส่งเสริมการลงทุนมีจำนวน 4 โครงการ ลดลงร้อยละ 71.4 ใช้เงินลงทุน 742.0 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 69.8 ส่วนใหญ่เป็นโครงการ ใช้เงินลงทุนไม่มาก ได้แก่ โครงการผลิตก๊าซชีวภาพ โครงการผลิตชิ้นส่วนเหล็กหล่อ โครงการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป และโครงการผลิต ถุงพลาสติก ส่วนปริมาณการใช้ไฟฟ้าในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.8 อย่างไรก็ตาม พื้นที่ก่อสร้างในเขตเทศบาลเมืองและเทศบาลนคร 138,115.1 ตารางเมตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 เป็นผลจากพื้นที่รับอนุญาต ก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ
6. ภาคการคลัง รายได้ของภาครัฐบาลที่ได้จากการจัดเก็บภาษีอากรเพิ่มขึ้น โดยเดือนนี้สามารถจัดเก็บได้รวม 3,175.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.8 เป็นการเพิ่มขึ้นของภาษีอากรทุกประเภท แยกเป็น ภาษีสรรพากรจัดเก็บได้ 1,657.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรม ผลิตเบียร์ สุรา แป้งมัน ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น นอกจากนั้นเป็นการเพิ่มขึ้นทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้ นิติบุคคล ภาษีสรรพสามิตจัดเก็บได้รวม 1,492.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เก็บจากภาษีเบียร์ ทางด้านอากรขาเข้าจากด่านศุลกากรในภาคจัดเก็บได้ 25.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว ส่วนใหญ่เป็นการจัดเก็บจากการนำเข้าเสื้อผ้า สำเร็จรูปผ่านด่านศุลกากรมุกดาหาร
7. การค้าต่างประเทศ การค้าชายแดนไทย - ลาว มีมูลค่าการค้า 6,163.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 54.3 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 47.7 จำแนกเป็นการส่งออก 4,454.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.2 โดยสินค้าสำคัญที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ น้ำมัน ปิโตรเลียม ยานพาหนะและอุปกรณ์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการส่งออกรถยนต์นั่งพวงมาลัยซ้าย รถใช้งานอื่น เช่น รถบดถนน รถตัก รถยก รถบรรทุก และรถยนต์นั่งเก่า สินค้าบริโภค วัสดุก่อสร้าง และผลิตภัณฑ์เหล็ก เนื่องจากมีการก่อสร้างเขื่อน และโครงการก่อสร้าง พื้นฐานต่าง ๆ หลายโครงการ สำหรับสินค้าที่มีการส่งออกลดลง ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า เนื่องจากมีการนำเข้าจากประเทศจีนและ เวียดนามแทน ทางด้านการนำเข้ามีมูลค่าทั้งสิ้น 1,708.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 89.2 ส่วนใหญ่ยังเป็นการนำเข้าสินแร่ทองแดง และ ยานพาหนะและอุปกรณ์ส่วนใหญ่เป็นรถยนต์นั่งใหม่พวงมาลัยซ้ายเพื่อส่งจำหน่ายต่อประเทศกัมพูชา โดยเป็นรถเก่าที่ใช้งานเสร็จสิ้นแล้ว ประมาณร้อยละ 38
สำหรับการค้าชายแดนไทย - กัมพูชา มีมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 3,862.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.5 ขยายตัวต่อเนื่อง จากเดือนก่อน ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.2 เป็นการส่งออก 3,616.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.8 สินค้าส่งออกสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยานพาหนะและส่วนประกอบ น้ำตาลซึ่งส่วนใหญ่จะส่งต่อไปยังประเทศเวียดนามเพื่อนำไปใช้ในการผลิตในอุตสาหกรรมผลิตอาหาร และเครื่องดื่ม ซึ่งมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น วัสดุก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นปูนซิเมนต์ เหล็กเส้น แผ่นเหล็กและโครงเหล็ก น้ำมันปิโตรเลียม ตามการขยายตัวของการลงทุนด้านอุตสาหกรรม ในส่วนการนำเข้าเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว กว่าร้อยละ 60 เป็นการนำเข้าพืชไร่ประเภท ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง นอกจากนั้นเป็นผลิตภัณฑ์ไม้ เช่น ไม้แปรรูป และไม้ไผ่ลำ
8. ระดับราคา อัตราเงินเฟ้อเดือนนี้สูงขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.3 เป็นผลจากราคาสินค้าหมวดอาหารและ เครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 4.0 และหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 4.4 ราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่มี ราคาสูงขึ้นมาก ได้แก่ หมวดเครื่องประกอบอาหาร โดยสูงขึ้นถึงร้อยละ 12.0 เป็นผลจากเครื่องปรุงอาหารสูงขึ้นร้อยละ 15.8 โดยเฉพาะ น้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลือง ในส่วนราคาสินค้าในหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มที่มีราคาสูงขึ้นมาก คือหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสารสูงขึ้นร้อยละ 10.1 โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้นร้อยละ 27.6 ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเพิ่มขึ้นจาก เดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.1
9. ภาคการจ้างงาน การจ้างงานเดือนนี้ มีผู้สมัครงาน 6,116 คน ตำแหน่งงานว่าง 4,562 อัตรา และผู้ได้รับการบรรจุเข้าทำงาน 2,396 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 41.0 ร้อยละ 22.0 และร้อยละ 80.6 ตามลำดับ โดยมีอัตราการบรรจุเข้าทำงานต่อ ผู้สมัครงานคิดเป็นร้อยละ 39.2 และอัตราการบรรจุเข้าทำงานต่อตำแหน่งงานว่างร้อยละ 52.5 ส่วนใหญ่ได้บรรจุงานในอุตสาหกรรม การผลิต สำหรับคนไทยในภาคที่เดินทางไปทำงานยังต่างประเทศมีจำนวน 9,396 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 26.3 ส่วนใหญ่ไปทำงานยังประเทศไต้หวัน เกาหลีใต้ และสิงคโปร์
สำหรับภาวะการทำงานของประชากรในภาคเดือนธันวาคม 2550 มีกำลังแรงงานรวม 12.4 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 12.3 ล้านคน โดยทำงานในภาคเกษตร 8.2 ล้านคน และนอกภาคเกษตร 4.1 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมการขายส่ง ขายปลีก ซ่อมแซมรถยนต์ และอุตสาหกรรมการผลิต โดยมีผู้ว่างงาน 0.1 ล้านคน อัตราการว่างงานคิดเป็นร้อยละ 0.6 ของกำลังแรงงานรวม
10. ภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2550 ธนาคารพาณิชย์ในภาคมีเงินฝากคงค้าง 337,555 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของเงินฝากออมทรัพย์ ขณะที่เงินฝากประจำลดลงเนื่องจากเงินฝากประจำของ ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งถึงเวลาครบกำหนด และลูกค้ารายใหญ่ถอนเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์อื่นที่ให้ผลตอบแทนที่มากกว่า ด้านสินเชื่อมียอดคงค้าง 352,908 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ธนาคารพาณิชย์ได้เริ่มปล่อยสินเชื่อให้ภาคธุรกิจ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อตั๋วสัญญาใช้เงินเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน สินเชื่อที่ขยายตัว ได้แก่ สินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่อส่วนบุคคล และ สินเชื่ออุตสาหกรรม สำหรับสินเชื่อที่มีแนวโน้มชะลอตัว ได้แก่ สินเชื่อตัวกลางทางการเงิน สินเชื่อเพื่อการก่อสร้าง ทำให้อัตราส่วน สินเชื่อต่อเงินฝากเท่ากับร้อยละ 104.5 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีอัตราส่วนร้อยละ 97.5
ข้อมูลเพิ่มเติม : นางสิรีธร จารุธัญลักษณ์ โทร. 0-4333-3000 ต่อ 3432 e-mail: SireethJ@bot.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ