สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนพฤษภาคม 2550

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 29, 2007 16:18 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

          ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนนี้  ยังชะลอตัวต่อเนื่อง โดยด้านอุปทาน ผลผลิตเกษตรสำคัญลดลง ขณะที่ราคาข้าวเปลือก หัวมันสำปะหลัง มันเส้น และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังคงสูงกว่าระยะเดียวกันของปีก่อน  ทางด้านการผลิต  ภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวในอุตสาหกรรมแปรรูปมันสำปะหลัง  ขณะที่โรงงานน้ำตาลได้ทำการปิดหีบในเดือนนี้ ด้านอุปสงค์ ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ตามการอุปโภคบริโภค และการลงทุนภาคเอกชน รายได้จากการจัดเก็บภาษีอากรของภาครัฐชะลอตัว ทางด้าน มูลค่าการค้าชายแดนไทย - ลาว ยังขยายตัว แต่มูลค่าการค้าชายแดนไทย - กัมพูชาลดลงเล็กน้อย  สำหรับเงินฝากและสินเชื่อของ ธนาคารพาณิชย์ยังคงขยายตัว โดยเฉพาะสินเชื่อสำหรับธุรกิจจำหน่ายรถยนต์ และสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่  ร้อยละ 2.2
รายละเอียดของแต่ละภาคเศรษฐกิจ มีดังนี้
1. ภาคเกษตรกรรม ผลผลิตเกษตรสำคัญทั้งข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ออกสู่ตลาดลดลง ราคาพืชผล ส่วนใหญ่สูงขึ้น โดยราคาขายส่งข้าวเปลือกหอมมะลิเฉลี่ยเกวียนละ 8,921 บาท สูงขึ้นร้อยละ 6.7 ราคาขายส่งข้าวเปลือกเหนียว 10 % (เมล็ดยาว) เฉลี่ยเกวียนละ 10,894 บาท สูงขึ้นร้อยละ 48.2 ราคาขายส่งหัวมันสำปะหลังเฉลี่ยกิโลกรัมละ 1.33 บาท สูงขึ้นร้อยละ 16.7 ราคาขายส่งมันเส้นเฉลี่ยกิโลกรัมละ 3.35 บาท สูงขึ้นร้อยละ 17.1 และราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เฉลี่ยกิโลกรัมละ 6.91 บาท สูงขึ้นร้อยละ 12.7
2. ภาคอุตสาหกรรม ชะลอตัว โดยการผลิตของอุตสาหกรรมแปรรูปมันสำปะหลัง ยังขาดแคลนหัวมันสำปะหลังใน การผลิตถึงแม้ว่าจะมีความต้องการเพื่อส่งออกมากก็ตาม ในส่วนการผลิตของโรงงานน้ำตาลซึ่งได้ทำการปิดหีบในเดือนนี้ แต่หลายแห่ง ยังมีการนำน้ำตาลทรายดิบมาผลิตเป็นน้ำตาลทรายขาว
3. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ชะลอตัว เนื่องจากเครื่องชี้ที่สำคัญ ได้แก่ การจดทะเบียนรถลดลงทุกประเภท โดยการจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคล 3,015 คัน รถบรรทุกส่วนบุคคล 5,802 คัน และรถจักรยานยนต์ 35,582 คัน ลดลงร้อยละ 2.4 ร้อยละ 1.8 และร้อยละ 21.0 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 689.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.8 ส่วนหนึ่งเป็นผลจาก ยอดจำหน่ายของห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ และธุรกิจค้าส่ง - ค้าปลีก ที่ยังเพิ่มขึ้นแต่ชะลอลงจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 และ ปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพื่อที่อยู่อาศัย เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 ชะลอจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4
4. การลงทุนภาคเอกชน ลดลง ทั้งด้านภาคการค้าและภาคอุตสาหกรรม เห็นได้จากทุนจดทะเบียนนิติบุคคลตั้งใหม่ ทั้งบริษัทจำกัดและห้างหุ้นส่วนจำกัด 285.1 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 60.3 ประเภทของธุรกิจสำคัญที่ลดลง ได้แก่ ธุรกิจขายส่ง - ขายปลีก และธุรกิจที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง ทางด้านโครงการที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมีเงินลงทุน 1,511.0 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 78.1 เนื่องจากปีก่อนมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของบริษัท ซีเกทเทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด โครงการในเดือนนี้ที่สำคัญ ได้แก่ โครงการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล โครงการผลิตก๊าซชีวภาพ และโครงการผลิตชิ้นส่วนอลูมิเนียมฉีดขึ้นรูป การใช้ไฟฟ้าใน ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 สำหรับพื้นที่ขอรับอนุญาตก่อสร้าง 131,466 ตารางเมตร ลดลงร้อยละ 27.5 โดยเป็นการลดลงของพื้นที่ก่อสร้างที่อยู่อาศัยเป็นสำคัญ
5. ภาคการคลัง รายได้ของภาครัฐบาลจากการเก็บภาษีอากรชะลอตัว โดยมีการจัดเก็บภาษีอากรรวม 3,896.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.2 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.3 จำแนกเป็น ภาษีสรรพากร 2,671.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีสรรพสามิต 1,215.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.4 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของภาษีสุราซึ่งส่วนใหญ่เก็บจากโรงงานผลิตเบียร์ เป็นสำคัญ ทางด้านการจัดเก็บอากรขาเข้า 9.8 ล้านบาท ใกล้เคียงกับช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นการจัดเก็บจากการนำเข้าสินแร่ทองแดงและกระเทียมจาก สปป.ลาว
6. การค้าต่างประเทศ การค้าชายแดนไทย - ลาว มีมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่มูลค่าการค้าไทย - กัมพูชา ยังคงลดลง มูลค่าการค้าชายแดนไทย - ลาว 5,237.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 จำแนกเป็นมูลค่าการส่งออก 3,738.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.4 สินค้าส่งออกสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยานพาหนะและอุปกรณ์ (รถยนต์นั่งใหม่ รถไถ รถที่ใช้ในการก่อสร้าง เช่น รถขุด รถเครน รถแทรกเตอร์) วัสดุก่อสร้าง เหล็กและเหล็กกล้า เพื่อนำไปใช้ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานใน สปป.ลาว เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ทางด้านมูลค่าการนำเข้า 1,499.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.4 ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้ายานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่มขึ้น เกือบ 10 เท่า ซึ่งเป็นรถและอุปกรณ์ที่ใช้ในโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ที่เสร็จสิ้นแล้ว ในขณะที่การนำเข้าสินแร่ ผลิตภัณฑ์ไม้และพืชไร่ ลดลง ทางด้านการค้าชายแดนไทย - กัมพูชามีมูลค่าการค้า 3,189.5 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.0 จำแนกเป็นมูลค่าการส่งออก 3,067.9 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.6 สินค้าส่งออกสำคัญที่ลดลง ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง เนื่องจากในกัมพูชามีโรงงานผลิตปูนซิเมนต์ เพื่อใช้ในประเทศ จึงลดการนำเข้าจากประเทศไทย นอกจากนั้นยังมีเครื่องดื่ม น้ำตาล น้ำมันปิโตรเลียม/เชื้อเพลิง เป็นต้น สำหรับมูลค่า การนำเข้า 121.6 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 9.3 ส่วนใหญ่เป็นการลดลงของการนำเข้าไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เป็นสำคัญ
7. ระดับราคา อัตราเงินเฟ้อเดือนนี้สูงขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.2 เป็นผลจากราคาสินค้าหมวดอาหาร และเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 4.8 โดยราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ได้แก่ ข้าวสารเหนียว และผัก (เนื่องจากแหล่งผลิตได้รับความเสียหาย จากภาวะน้ำท่วม) ส่วนราคาสินค้าหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 0.5 เนื่องจาก ค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียม การศึกษา ราคาวัสดุก่อสร้างและค่าโดยสารสาธารณะสูงขึ้น สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานสูงขึ้นร้อยละ 1.1
8. ภาคการจ้างงาน ภาวะการทำงานของประชากรในเดือนเมษายน 2550 ในภาคมีกำลังแรงงานรวม 11.4 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 10.9 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 95.7 ของกำลังแรงงานรวม โดยเป็นการจ้างงานภาคเกษตร 5.0 ล้านคน และนอกภาคเกษตร 5.9 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานในอุตสาหกรรมการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์ รถจักรยานยนต์ ของใช้ส่วนบุคคลและ ของใช้ในครัวเรือน อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.8 สำหรับภาวะการจ้างงานในเดือนนี้ มีผู้สมัครงาน 8,145 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.9 โดยมีตำแหน่งงานว่าง 5,423 อัตรา ลดลงร้อยละ 24.1 และมีผู้ที่ได้รับการบรรจุเข้าทำงาน 2,991 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.2 ส่วนใหญ่เป็น งานในอุตสาหกรรมการผลิต และพนักงานรักษาความปลอดภัย เป็นต้น สำหรับแรงงานไทยในภาคที่เดินทางไปทำงานยังต่างประเทศ จำนวน 8,666 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0
9. ภาคการเงิน ณ สิ้นเมษายน 2550 ธนาคารพาณิชย์ในภาคมีเงินฝากคงค้าง 340,729 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 ส่วนสินเชื่อคงค้าง 321,755 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.7 สินเชื่อคงค้างสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ สินเชื่อสำหรับธุรกิจตัวแทนจำหน่าย รถยนต์ และสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่ อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 94.4
ข้อมูลเพิ่มเติม : นายโรจน์ลักษณ์ ปรีชา โทร. 0-4333-3000 ต่อ 3421 e-mail: rotelakP@bot.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ