สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนเมษายน 2550

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 2, 2007 17:05 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

        ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนนี้ ชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดย อุปทาน ผลผลิตเกษตรส่วนใหญ่ลดลง ขณะที่ราคาข้าวเปลือก มันเส้น และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน สำหรับภาคอุตสาหกรรมชะลอตัว ตามการผลิตของอุตสาหกรรมน้ำตาล และอุตสาหกรรมแปรรูปมันสำปะหลัง ด้านอุปสงค์ ชะลอตัวต่อเนื่อง เนื่องจากการลงทุนภาคเอกชนลดลงโดยเฉพาะภาคธุรกิจการค้า ขณะที่การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น มูลค่าการค้าชายแดนไทย - ลาว ยังขยายตัว ขณะที่มูลค่าการค้าชายแดนไทย - กัมพูชาลดลงเล็กน้อย การจัดเก็บภาษีอากรของภาครัฐเพิ่มขึ้นทุกประเภท ทางด้านเงินฝากและสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ยังคงขยายตัว โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 2.6
รายละเอียดของแต่ละภาคเศรษฐกิจ มีดังนี้
1. ภาคเกษตรกรรม ผลผลิตเกษตรส่วนใหญ่ทั้งข้าว มันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ออกสู่ตลาดลดลง ราคาสินค้าเกษตรสำคัญส่วนใหญ่สูงขึ้น โดยราคาขายส่งข้าวเปลือกหอมมะลิเฉลี่ยเกวียนละ 8,953 บาท สูงขึ้นร้อยละ 8.7 ราคาขายส่งข้าวเปลือกเหนียว 10% (เมล็ดยาว) เฉลี่ยเกวียนละ 10,808 บาท สูงขึ้นร้อยละ 52.4 ราคาขายส่งมันเส้นเฉลี่ยกิโลกรัมละ 3.18 บาท สูงขึ้นร้อยละ 8.2 ราคาขายส่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เฉลี่ยกิโลกรัมละ 7.49 บาท สูงขึ้นร้อยละ 39.7 สำหรับราคาขายส่งหัวมันสำปะหลังเฉลี่ยกิโลกรัมละ 1.23 บาท เท่ากับระยะเดียวกันของปีก่อน
2. ภาคอตสาหกรรม ชะลอตัว แม้ว่าโรงงานน้ำตาลผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 86.0 แต่ก็ชะลอตัวจากเดือนก่อนที่เพิ่มกว่า 3 เท่า โรงงานแปรรูปมันสำปะหลัง ผลผลิตลดลงเนื่องจากขาดแคลนหัวมันสำปะหลัง และสภาพฝนตกชุกที่เป็นอุปสรรคต่อการผลิต 3. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ปรับตัวดีขึ้น เห็นได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม 719.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการจับจ่ายใช้สอยสินค้าอุปโภคบริโภคของประชาชนที่เพิ่มขึ้น การจดทะเบียนรถยนต์เพิ่มขึ้น เนื่องจาก บริษัทจำหน่ายรถยนต์มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการนำรถยนต์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาด โดยรถยนต์นั่ง ส่วนบุคคลมีจำนวน 2,765 คัน และรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลมีจำนวน 4,923 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.7 และร้อยละ 2.4 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ยอดการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์มีจำนวน 28,489 คัน ลดลงร้อยละ 15.7 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนที่ลดลงร้อยละ 25.7 ปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4
4. การลงทุนภาคเอกชน ชะลอตัว โดยพิจารณาจากทุนจดทะเบียนนิติบุคคลตั้งใหม่ทั้งบริษัทจำกัดและห้างหุ้นส่วนจำกัด 235.4 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 11.3 เป็นการลดลงของธุรกิจที่เกี่ยวกับการก่อสร้างเป็นสำคัญ การใช้ไฟฟ้าในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 ชะลอตัวจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.0 อย่างไรก็ตาม พื้นที่ขอรับอนุญาตก่อสร้าง 151,668 ตารางเมตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.6 เนื่องจากมีการก่อสร้างอาคารจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ที่จังหวัดอุดรธานี แนวโน้มการลงทุนทางด้านภาคอุตสาหกรรมยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเงินลงทุนในโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน 855.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 45.4 ทั้งนี้ เป็นผลจากการลงทุนโครงการผลิตเฮลิคอปเตอร์ ที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งใช้เงินลงทุนสูงถึง 662.0 ล้านบาท
5. ภาคการคลัง การจัดเก็บภาษีอากรเดือนนี้ 3,094.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.3 โดยเพิ่มขึ้นในภาษีทุกประเภทจำแนกเป็น ภาษีอากร 1,829.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.6 เนื่องจากการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเกือบเท่าตัว โดยเฉพาะผลจากการจัดเก็บภาษีเงินได้ ภ.ง.ด. 91 ซึ่งมีการเหลื่อมจ่ายในช่วงต้นเดือนเมษายน ภาษีสรรพสามิตส่วนใหญ่จัดเก็บจากโรงงานผลิตเบียร์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น สำหรับการจัดเก็บอากรขาเข้า 8.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 เป็นผลจากการนำเข้าสินแร่ทองแดง ไม้แปรรูป ทางด่านศุลกากรมุกดาหาร และไม้แปรรูป อะไหล่เครื่องยนต์ทางด่านศุลกากรหนองคาย
6. การค้าชายแดน การค้าชายแดนไทย-ลาว มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การค้าชายแดนไทย — กัมพูชา มีมูลค่าการค้าลดลง มูลค่าการค้าชายแดนไทย-ลาว 4,552.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.0 จำแนกเป็นมูลค่าการส่งออก 3,193.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.3 สินค้าส่งออกสำคัญที่เพิ่มขึ้นได้แก่ น้ำมันเชอเพลิง ยานพาหนะและอุปกรณ์ (รถเก่าเพื่อไปใช้งานเช่น รถบดถนน รถบรรทุก รถแทรกเตอร์ และรถยนต์ใหม่เพื่อไปจำหน่ายเช่นรถยนต์นั่งพวงมาลัยซ้าย รถจักรยานยนต์) สินค้าอุปโภคบริโภค และ วัสดุก่อสร้าง เป็นต้น ทางด้านมูลค่าการนำเข้า 1,358.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.9 ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าสินแร่ทองแดง ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรและอุปกรณ์ สำหรับการค้าชายแดนไทย - กัมพูชา มูลค่าการค้า 2,665.8 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.1โดยเป็นมูลค่าการส่งออก 2,570.1 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.3 สินค้าส่งออกที่ลดลง ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียม อาหารสัตว์ สิ่งทอ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ รวมถึงน้ำตาลที่ลดลงมากอย่างน่าสังเกต เนื่องจากประเทศเวียดนามซึ่งเคยนำเข้าน้ำตาลจากไทย ผ่านทางกัมพูชา ได้มีการนำเข้าน้ำตาลจากประเทศอื่นซึ่งมีราคาถูกกว่าแทน สำหรับมูลค่าการนำเข้า 95.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้า เศษโลหะและกระดาษ
7. ระดับราคา อัตราเงินเฟ้อเดือนนี้สูงขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.6 เป็นผลจากราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 5.6 โดยราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ได้แก่ ข้าวสารเหนียว ผักและผลไม้ ส่วนราคาสินค้าหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 0.8 เนื่องจากค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษา ราคาวัสดุก่อสร้าง และค่าโดยสารสาธารณะสูงขึ้น สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานสูงขึ้นร้อยละ 1.6
8. ภาคการจ้างงาน ภาวะการทำงานของประชากรเดือนมีนาคม 2550 มีกำลังแรงงานรวม 11.2 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 10.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 95.0 ของกำลังแรงงานรวม การจ้างงานภาคเกษตร เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.7 ส่วน การจ้างงานนอกภาคเกษตรลดลงร้อยละ 6.1 โดยลดลงมากในสาขาอุตสาหกรรมการก่อสร้าง โรงแรมและภัตตาคาร และธุรกิจขายส่ง ขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์ ของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 2.5 สำหรับภาวะการจ้างงานในภาคเดือนนี้ มีตำแหน่งงานว่าง 4,340 อัตรา ลดลงร้อยละ 68.2 โดยมีผู้สมัครงาน 8,782 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.6 และมีผู้ได้รับการบรรจุเข้าทำงาน 3,336 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.2 สำหรับแรงงานไทยในภาคที่เดินทางไปทำงานยังต่างประเทศจำนวน 8,639 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0
9. ภาคการเงิน ณ สิ้นมีนาคม 2550 ธนาคารพาณิชย์ในภาคมีเงินฝากคงค้าง 334,753 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 ส่วนสินเชื่อคงค้าง 320,987 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.0 สินเชื่อคงค้างสำคัญที่ขยายตัวได้แก่ สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนการดำเนินงานจากบริษัทเงินทุนเป็นธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อยของธนาคารเอไอจีเพื่อรายย่อยจำกัด (มหาชน) โดยส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อเช่าซื้อของธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่ อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 95.9
ข้อมูลเพิ่มเติม : นายโรจน์ลักษณ์ ปรีชา โทร. 0-4333-3000 ต่อ 3421 e-mail: rotelakP@bot.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ