ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ชะลอตัว โดยด้านอุปทาน ผลผลิตเกษตรสำคัญ ส่วนใหญ่ออกสู่ตลาดน้อยลง ขณะที่ราคาข้าวเปลือก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันเส้นยังคงสูงขึ้น แต่ราคาหัวมันสำปะหลังยังลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม รายได้เกษตรกรยังขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน สำหรับภาคอุตสาหกรรมชะลอตัว ตามการผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปมันสำปะหลัง และเครื่องดื่ม ส่วนอุตสาหกรรมน้ำตาลมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ด้านอุปสงค์ ชะลอตัวตามการ อุปโภคบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังสนใจลงทุนในโครงการขนาดใหญ่โดยเฉพาะ ด้านพลังงานทดแทน สำหรับมูลค่าการค้าชายแดนไทย - ลาว ชะลอตัว แต่มูลค่าการค้าชายแดนไทย - กัมพูชา ลดลงตามการส่งออกเป็น สำคัญ การจัดเก็บภาษีอากรลดลงตามภาษีสรรพาสามิต อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 2.9 สำหรับเงินฝากและสินเชื่อของ ธนาคารพาณิชย์ชะลอตัวจากเดือนก่อนเล็กน้อย
รายละเอียดของแต่ละภาคเศรษฐกิจ มีดังนี้
1. ภาคเกษตรกรรม ข้าวออกสู่ตลาดน้อยลง ขณะที่ความต้องการของตลาดยังมีต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น ราคาขายส่งข้าวเปลือกเจ้า 5% เฉลี่ยเกวียนละ 8,692 บาท และข้าวเปลือกเหนียว 10% (เมล็ดยาว) เฉลี่ยเกวียนละ 10,548 บาท สูงขึ้นร้อยละ 9.8 และร้อยละ 58.6 ตามลำดับ ผลผลิตมันสำปะหลังออกสู่ตลาดน้อยลง เนื่องจากภาวะความแห้งแล้งเป็นอุปสรรค ในการขุดหัวมัน แต่ความต้องการของลานมันเส้นและโรงแป้งมันยังมีต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาสูงขึ้นจากเดือนที่แล้วเล็กน้อย โดยราคา ขายส่งหัวมันสำปะหลังเฉลี่ยกิโลกรัมละ 1.17 บาท แต่ลดลงร้อยละ 19.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ราคาขายส่ง มันเส้นเฉลี่ยกิโลกรัมละ 3.11 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 เนื่องจากมีการส่งมันเส้นไปประเทศจีน และโรงงานอาหารสัตว์มีความต้องการ เพิ่มขึ้น สำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ขณะที่โรงงานอาหารสัตว์มีความต้องการมาก เพราะคาดว่าผลผลิตฤดูใหม่ จะลดลง ส่งผลให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยราคาขายส่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เฉลี่ยกิโลกรัมละ 7.10 บาท สูงขึ้นถึงร้อยละ 43.2
2. ภาคอุตสาหกรรม ชะลอตัว โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมแปรรูปมันสำปะหลังตามปริมาณวัตถุดิบที่ลดลง ขณะที่ตลาดต่างประเทศได้แก่ ประเทศจีนและประเทศในยุโรปยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมเครื่องดื่มลดลง ในส่วน โรงงานน้ำตาลผลิตได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.6 เนื่องจากเป็นช่วงใกล้ปิดหีบจึงมีปริมาณอ้อยเข้าหีบมาก
3. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ชะลอตัว โดยเดือนนี้มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้ 586.9 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.1 ซึ่งเป็นผลจากการจัดเก็บภาษีจากภาคธุรกิจบางประเภทลดลง เช่น ธุรกิจจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง และธุรกิจเช่าซื้อ เป็นต้น สอดคล้องกับ ยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถจักรยานยนต์ลดลง โดยยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ 29,364 คัน และยอดจดทะเบียน รถยนต์นั่งส่วนบุคคล 2,971 คัน ลดลงร้อยละ 22.7 และร้อยละ 2.7 เนื่องจากประชาชนมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น ประกอบกับบริษัทเช่าซื้อมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อสำหรับการซื้อรถเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การจดทะเบียนรถยนต์บรรทุก ส่วนบุคคล 5,916 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 ชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนที่มีอัตราเพิ่มร้อยละ 19.4
4. การลงทุนภาคเอกชน ชะลอตัว โดยทุนจดทะเบียนของบริษัทจำกัดตั้งใหม่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว โดยมีทุนจดทะเบียน 263.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.8 (เทียบกับที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 103.1 ในเดือนมกราคม) เนื่องจากมีการก่อตั้ง โรงสีข้าวซึ่งใช้เงินทุนสูงที่จังหวัดสกลนคร ทุนจดทะเบียนของห้างหุ้นส่วนจำกัดตั้งใหม่ 188.7 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 30.2 ส่วนใหญ่เป็นการลดลงของธุรกิจค้าส่ง - ค้าปลีก พื้นที่ขอรับอนุญาตก่อสร้าง 156,460.9 ตารางเมตร ลดลงร้อยละ 56.3 เป็นผลจากฐาน ในปีก่อนสูงเนื่องจากมีการขออนุญาตก่อสร้างห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ที่จังหวัดขอนแก่น อย่างไรก็ตาม บรรยากาศการลงทุนยังดี เห็นได้จากเงินลงทุนในโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนที่เพิ่มขึ้นมาก โดยมีเงินลงทุน 2,693.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8 เท่า จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการลงทุนสูงในหลายโครงการ เช่น โครงการผลิตเอทานอล ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ โครงการ ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล ที่จังหวัดบุรีรัมย์ และโครงการผลิตชิ้นส่วนเหล็กหล่อ ที่จังหวัดขอนแก่น
5. ภาคการคลัง ภาครัฐจัดเก็บรายได้จากภาษีอากรรวมทั้งสิ้น 2,114.2 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 8.6 เนื่องจากจัดเก็บภาษี สรรพสามิตลดลง แต่ภาษีสรรพากรและอากรขาเข้ายังเก็บได้เพิ่มขึ้น จำแนกได้ดังนี้ ภาษีสรรพสามิตเดือนนี้จัดเก็บได้ 744.5 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 27.5 โดยเป็นภาษีสุรา 720.8 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 28.0 เป็นผลจากโรงงานผลิตเบียร์ลดการผลิตลงเพื่อปรับปรุงเครื่องจักร และภาษีเครื่องดื่ม 15.0 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 13.3 ทางด้านภาษีสรรพากรจัดเก็บได้ 1,359.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 เป็นผลจาก ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 364.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 เนื่องจากการหักภาษี ณ ที่จ่ายจากเงินเดือนของข้าราชการ และพนักงานบริษัทเอกชนเพิ่มขึ้น และภาษีเงินได้นิติบุคคล 170.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.6 ตามผลประกอบการที่เพิ่มขึ้น ของภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง สำหรับการจัดเก็บอากรขาเข้า 10.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0
6. การค้าชายแดน การค้าชายแดนชะลอตัว โดยด้านชายแดนไทย ลาว มีมูลค่าการค้า 3,950.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.1 จำแนกเป็นมูลค่าการส่งออก 3,269.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.3 สินค้าส่งออกสำคัญที่เพิ่มขึ้นได้แก่ ยานพาหนะและ อุปกรณ์ สินค้าบริโภค วัสดุก่อสร้าง ผ้าผืน เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก พืชไร่ ส่วนใหญ่เป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด และลูกเดือย ส่วนมูลค่าการนำเข้า 680.2 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 24.3 เนื่องจากมีการนำเข้าทองแดง ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ลดลงเป็นสำคัญ สำหรับการค้าชายแดนไทย - กัมพูชา มีมูลค่าการค้า 2,785.5 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.3 เป็นมูลค่าการส่งออก 2,705.1 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.5 สินค้าส่งออกสำคัญที่ลดลงได้แก่ วัสดุก่อสร้าง น้ำมันปิโตรเลียมและเชื้อเพลิงอื่น ๆ เนื่องจากกัมพูชามีการปรับเพิ่มภาษี ศุลกากรทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้น ส่งผลให้การส่งออกลดลง ส่วนการนำเข้า 80.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 สินค้านำเข้าสำคัญ ที่เพิ่มขึ้นได้แก่ วัสดุใช้แล้ว เช่น เหล็กและกระดาษ เป็นต้น พืชไร่ ได้แก่ มันสำปะหลัง และไม้แปรรูป
7. ระดับราคา อัตราเงินเฟ้อเดือนนี้สูงขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.9 เป็นผลจากราคาสินค้าหมวดอาหาร และเครื่องดื่มสูงขึ้นเป็นสำคัญโดยสูงขึ้นร้อยละ 7.1 ประเภทสินค้าสำคัญที่มีราคาสูงขึ้นมากได้แก่ สินค้าในหมวดผักและผลไม้สูงขึ้น ร้อยละ 23.8 และหมวดข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้นร้อยละ 20.2 (ข้าวสารเหนียวสูงขึ้นร้อยละ 50.4) ส่วนหมวดอื่น ๆ ที่มิใช่ อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 0.4 สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานสูงขึ้นร้อยละ 1.6
8. ภาคการจ้างงาน จากรายงานของศูนย์ข่าวสารตลาดแรงงานจังหวัดขอนแก่น เดือนนี้ภาวะการจ้างงานในภาค มีตำแหน่งงานว่าง 3,387 อัตรา ลดลงร้อยละ 59.0 เนื่องจากฐานในปีก่อนค่อนข้างสูงจากการจัดตลาดนัดแรงงานในบางจังหวัด ขณะที่มีผู้สมัครงาน 8,241 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.2 ส่วนใหญ่สนใจสมัครงานในอาชีพ แม่บ้าน และพนักงานทำความสะอาด สำหรับผู้ที่ได้รับการบรรจุเข้าทำงาน 1,342 คน ใกล้เคียงกับปีก่อนที่มี 1,352 คน ส่วนใหญ่จะได้ทำงานในธุรกิจผลิตอาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจในภาคการค้า อัตราส่วนผู้ได้รับการบรรจุเข้าทำงานต่อผู้สมัครงานคิดเป็นร้อยละ 16.3 สำหรับแรงงานที่เดินทางไปทำงาน ยังต่างประเทศในเดือนนี้มีจำนวน 8,455 คน ลดลงร้อยละ 10.0 ส่วนใหญ่ไปทำงานที่ประเทศไต้หวันมากที่สุด รองลงมาได้แก่ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ อิสราเอล และบรูไน
9. ภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนมกราคม 2550 ธนาคารพาณิชย์ในภาคฯ มีเงินฝากคงค้าง 323,190 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.6 ด้านสินเชื่อคงค้าง 315,778 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.2 ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ แห่งใหม่ ประเภทสินเชื่อสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากร้อยละ 97.7
ข้อมูลเพิ่มเติม : นายโรจน์ลักษณ์ ปรีชา โทร. 0-4333-3000 ต่อ 3421 e-mail: rotelakP@bot.or.th