ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนมกราคม 2550 ชะลอตัวลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยด้านอุปทาน ชะลอตัวตามรายได้ของเกษตรกรและการผลิตในอุตสาหกรรมน้ำตาลและมันสำปะหลัง ด้านอุปสงค์ ชะลอตัวตามการอุปโภคบริโภค และการลงทุนภาคเอกชน ส่วนการจัดเก็บภาษีอากรยังคงเพิ่มขึ้น มูลค่าการค้าชายแดนขยายตัวทั้งด้านไทย - ลาว และไทย - กัมพูชา โดยเป็นการเพิ่มขึ้นทั้งการส่งออกและการนำเข้า อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 4.1 สำหรับเงินฝากและสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ยังขยายตัว ต่อเนื่อง
รายละเอียดของแต่ละภาคเศรษฐกิจ มีดังนี้
1. ภาคเกษตรกรรม ผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดน้อยลง กอปรกับในช่วงปลายเดือนนี้ผู้ส่งออกมีความต้องการปลายข้าวขาว ปลายข้าวหอมมะลิ และข้าว 25 % เพื่อส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ ส่งผลให้ราคาข้าวอยู่ในเกณฑ์ดี โดยในเดือนนี้ ราคาขายส่งข้าวเปลือกเจ้า 5 % เฉลี่ยเกวียนละ 8,474 บาท และราคาขายส่งข้าวเปลือกเหนียว 10% (เมล็ดยาว) เฉลี่ยเกวียนละ 10,377 บาท สูงขึ้นร้อยละ 11.8 และร้อยละ 62.6 ผลผลิตมันสำปะหลังออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ราคาหัวมันสำปะหลังยังคงลดลง โดยราคาขายส่งหัวมันสำปะหลังเฉลี่ยกิโลกรัมละ 1.13 บาท ราคาขายส่งมันเส้นเฉลี่ยกิโลกรัมละ 2.99 บาท ลดลงร้อยละ 22.6 และ ร้อยละ 4.5 สำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง ขณะที่ความต้องการของโรงงานอาหารสัตว์มีอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ ราคายังอยู่ในเกณฑ์สูง โดยราคาขายส่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เฉลี่ยกิโลกรัมละ 6.82 บาท สูงขึ้นร้อยละ 41.0
2. ภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ตามปริมาณวัตถุดิบที่ออกสู่ตลาดน้อยลง โดยเฉพาะโรงงานน้ำตาล ส่วนโรงงานแปรรูปมันสำปะหลังแม้ขยายตัวในอัตราที่ลดลงแต่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องจากมีความต้องการจากประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง สำหรับอุตสาหกรรมผลิตเครื่องดื่มขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวตามความต้องการของตลาดซึ่งลดลงหลังจากเทศกาลปีใหม่
3. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ชะลอตัว โดยภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ 716.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 ชะลอตัวลง เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2549 ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.5 ประกอบกับการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ 33,679 คัน ลดลงร้อยละ 8.4 เนื่องจากสถาบันการเงินชะลอการปล่อยสินเชื่อ อย่างไรก็ตาม ยอดการจดทะเบียนรถยนต์นั่ง และรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลใหม่ ปรับตัวดีขึ้น เป็นผลจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างมากในช่วงปลายปี ทำให้การจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลใหม่จำนวน 3,700 คัน และรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลใหม่จำนวน 6,611 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 และร้อยละ 19.4 สำหรับการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2549 ที่เพิ่มร้อยละ 18.5
4. การลงทุนภาคเอกชน ชะลอตัว โดยพื้นที่ขอรับอนุญาตก่อสร้าง 127,190.6 ตารางเมตร ลดลงร้อยละ 28.0 ทุนจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัดตั้งใหม่ 296.1 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 20.6 อย่างไรก็ตาม ทุนจดทะเบียนบริษัทจำกัดตั้งใหม่ 368.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว เนื่องจากมีการจดทะเบียนของโรงงานผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ขนาดใหญ่ที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีทุนจดทะเบียนกว่า 200 ล้านบาท สำหรับบรรยากาศการลงทุนยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยโครงการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริม การลงทุนมีเงินลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 90.0 เนื่องจากมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ได้แก่ โครงการผลิตเอทานอล โครงการเลี้ยงสุกรพันธุ์ และสุกรเนื้อ และโครงการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป สำหรับการใช้ไฟฟ้าเพื่อธุรกิจและอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.8 ชะลอตัวลง เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2549 ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.5
5. ภาคการคลัง มีการจัดเก็บรายได้จากภาษีอากรรวมทั้งสิ้น 2,740.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.0 จำแนกเป็น การจัดเก็บภาษีสรรพากร 1,484.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0 ส่วนใหญ่เป็นการจัดเก็บจากภาษีมูลค่าเพิ่ม 716.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 (โรงงานผลิตเบียร์ โรงงานผลิตอาหารสัตว์ โรงงานน้ำตาล และห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ มีการชำระภาษีเพิ่มขึ้น) การจัดเก็บภาษีสรรพสามิต 1,251.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.0 เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีสุราเป็นสำคัญ 1,226.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.6 สำหรับการจัดเก็บอากรขาเข้า 5.2 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 47.0 เนื่องจากผู้นำเข้าสินค้าได้เปลี่ยนไปทำพิธีผ่านด่าน และชำระอากรขาเข้าที่ด่านศุลกากรนอกภาคเพิ่มขึ้น
6. การค้าชายแดน การค้าชายแดนไทย - ลาว และไทย - กัมพูชา ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นการเพิ่มขึ้น ทั้งการส่งออกและนำเข้า ซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานทั้งใน สปป. ลาว และกัมพูชา เป็นสำคัญ มูลค่าการค้า ไทย - ลาว 3,993.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 จำแนกเป็นมูลค่าการส่งออก 3,090.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 โดยสินค้า ส่งออกสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียม วัสดุก่อสร้าง เหล็กและเหล็กกล้า ส่วนมูลค่าการนำเข้า 903.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 21.0 จากการนำเข้าสินแร่ทองแดงเป็นสำคัญ สำหรับการค้าไทย - กัมพูชา มีมูลค่าการค้า 2,748.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 จำแนกเป็นมูลค่าการส่งออก 2,662.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง สิ่งทอ และอาหารสัตว์ สำหรับมูลค่าการนำเข้า 85.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.7 ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าวัสดุที่ใช้แล้ว (เหล็ก กระดาษ ฯลฯ)
7. ระดับราคา อัตราเงินเฟ้อเดือนนี้สูงขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.1 เป็นผลจากราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 10.0 และราคาสินค้าหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 0.6 สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7
8. ภาคการจ้างงาน จากรายงานของศูนย์ข่าวสารตลาดแรงงานจังหวัดขอนแก่น เดือนนี้ภาวะการจ้างงานในภาค ผู้สมัครงาน 4,339 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.7 ขณะที่มีตำแหน่งงานว่าง 3,738 อัตรา ลดลงร้อยละ 46.0 โดยผู้ที่ได้รับการบรรจุ เข้าทำงาน 1,327 คน ลดลงร้อยละ 2.8 ส่วนใหญ่เป็นงานในธุรกิจผลิตอาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจขายส่ง ขายปลีก และ การซ่อมแซมยานยนต์ ทำให้อัตราส่วนผู้ที่ได้รับการบรรจุเข้าทำงานต่อผู้สมัครงานคิดเป็นร้อยละ 30.6 และผู้ได้รับการบรรจุงาน ต่อตำแหน่งงานว่าง คิดเป็นร้อยละ 35.5 สำหรับคนไทยในภาคเดินทางไปทำงานต่างประเทศมีจำนวน 7,442 คน ลดลงร้อยละ 9.7 ส่วนใหญ่ไปทำงานในไต้หวันมากที่สุด รองลงมาได้แก่ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และอิสราเอล
9. ภาคการเงิน ณ สิ้นธันวาคม 2549 ธนาคารพาณิชย์ในภาคมีเงินฝากคงค้าง 323,266 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.4 ส่วนสินเชื่อคงค้าง 315,090 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.4 สินเชื่อคงค้างสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อเพื่อการค้าส่ง - ค้าปลีก ทำให้อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากเป็นร้อยละ 97.5
ข้อมูลเพิ่มเติม : นายโรจน์ลักษณ์ ปรีชา โทร. 0-4333-3000 ต่อ 3421 e-mail: rotelakP@bot.or.th