ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนนี้ ชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยด้านอุปทาน ผลผลิตเกษตร ส่วนใหญ่ลดลง ขณะที่ราคาข้าวเปลือก มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังคงสูงกว่าระยะเดียวกันของปีก่อน สำหรับการผลิต ภาคอุตสาหกรรมลดลง เป็นผลจากอุตสาหกรรมแปรรูปมันสำปะหลังชะลอตัว และอุตสาหกรรมเครื่องดื่มลดลง ด้านอุปสงค์ ชะลอตัว ต่อเนื่อง ตามการชะลอตัวของการอุปโภคบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนเป็นสำคัญ ทางด้านมูลค่าการค้าชายแดนไทย - ลาว ยังขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับมูลค่าการค้าชายแดนไทย - กัมพูชา เริ่มปรับตัวดีขึ้น เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการนำเข้าพืชไร่ ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างประเทศจากโครงการ ACMECS ด้าน Contract farming การจัดเก็บภาษีอากรของภาครัฐลดลงเล็กน้อย เนื่องจากภาษีสรรพสามิตลดลง สำหรับเงินฝากและสินเชื่อธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับเดือนที่แล้ว อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ ร้อยละ 2.6
รายละเอียดของแต่ละภาคเศรษฐกิจ มีดังนี้
1. ภาคเกษตรกรรม ผลผลิตเกษตรสำคัญคือ ข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ออกสู่ตลาดลดลง แต่ราคายังคง สูงขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะข้าวเปลือกเหนียว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยราคาขายส่ง ข้าวเปลือกหอมมะลิเฉลี่ยเกวียนละ 8,911 บาท สูงขึ้นร้อยละ 0.5 ราคาขายส่งข้าวเปลือกเหนียว 10% (เมล็ดยาว) เฉลี่ยเกวียนละ 11,670 บาท สูงขึ้นร้อยละ 39.6 ราคาขายส่งหัวมันสำปะหลังเฉลี่ยกิโลกรัมละ 1.61 บาท สูงขึ้นถึงร้อยละ 47.7 ราคาขายส่งมันเส้นเฉลี่ย กิโลกรัมละ 3.74 บาท สูงขึ้นร้อยละ 14.0 เนื่องจากผลผลิตในช่วงนี้มีน้อยขณะที่มีความต้องการของโรงงานเพื่อผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ราคาขายส่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เฉลี่ยกิโลกรัมละ 6.88 บาท สูงขึ้นร้อยละ 48.3
2. ภาคอุตสาหกรรม การผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมในเดือนนี้ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะ อุตสาหกรรมแปรรูปมันสำปะหลังที่การผลิตยังชะลอตัวต่อเนื่อง เนื่องจากการขาดแคลนหัวมันสำปะหลัง และอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ผลิตลดลง เนื่องจากมีการผลิตเพื่อทำสต็อกไว้ก่อนหน้านี้เป็นจำนวนมากแล้ว
3. ภาคบริการ จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคในเดือนมิถุนายน 2550 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 23.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 2 (มุกดาหาร - สะหวันนะเขต) และมีการจัดการแข่งขันกีฬาระดับประเทศที่จังหวัดมุกดาหาร อย่างไรก็ตามอัตราการเข้าพักของโรงแรมในภาคเท่ากับร้อยละ 46.3 ลดลงจากอัตราการเข้าพักระยะเดียวกันของปีก่อนซึ่งเท่ากับร้อยละ 53.0
4. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ชะลอตัว เครื่องชี้สำคัญคือการจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคล จำนวน 6,560 คัน ลดลงร้อยละ 3.0 การจดทะเบียนรถจักรยานยนต์จำนวน 33,753 คัน ลดลงร้อยละ 22.5 ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในภาคที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 แต่ภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งจัดเก็บได้ 637.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน ที่ลดลงร้อยละ 2.6 เป็นผลจากยอดจำหน่ายของห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ที่ขยายตัวดีขึ้น
5. การลงทุนภาคเอกชน ชะลอตัว พิจารณาจากเงินลงทุนของโครงการที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุน 517.0 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 84.0 เนื่องจากในช่วงเดียวกันของปีก่อนมีโครงการที่ใช้เงินลงทุนสูง โครงการในเดือนนี้ ที่สำคัญ ได้แก่ โครงการผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ โครงการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป และโครงการผลิตไข่ไก่ พื้นที่ขอรับอนุญาตก่อสร้าง ในเขตเทศบาลเมืองและนคร 114,599 .0 ตารางเมตร ลดลงร้อยละ 27.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการลดลงของพื้นที่ ก่อสร้างเพื่อพาณิชยกรรม ซึ่งลดลงร้อยละ 70.0 เป็นสำคัญ ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 อย่างไรก็ตาม การจดทะเบียนนิติบุคคลตั้งใหม่ 1,103.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีธุรกิจขนาดใหญ่ใช้เงินลงทุนสูงในธุรกิจผลิตเอทานอล ธุรกิจจัดสรรที่ดินเป็นต้น
6. ภาคการคลัง รายได้ของภาครัฐบาลที่จัดเก็บได้ในเดือนนี้ลดลงเล็กน้อย เนื่องจากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตลดลง ในส่วนภาษีอื่น ๆ ยังเก็บได้เพิ่มขึ้น โดยจัดเก็บภาษีอากรรวมทั้งสิ้น 2,493.8 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.2 เป็นผลจากภาษีสรรพสามิตซึ่งจัดเก็บได้ 1,112.4 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4.7 เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีสุราและภาษีเครื่องดื่มลดลง แต่สำหรับภาษีสรรพากรจัดเก็บได้ 1,367.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้นิติบุคคล เพิ่มขึ้น แต่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลดลง เนื่องจากมีธนาคารเฉพาะกิจบางแห่งเปลี่ยนไปชำระภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากค่าตอบแทนพิเศษ ที่ส่วนกลางแทน และการจัดเก็บอากรขาเข้า 14.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.8
7. การค้าต่างประเทศ การค้าชายแดนไทย - ลาว ยังขยายตัวต่อเนื่องทั้งการส่งออกและการนำเข้า ขณะที่การค้าชายแดน ไทย - กัมพูชา เริ่มปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่ลดลงติดต่อกันมา 5 เดือน เป็นผลจากการนำเข้าที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ มูลค่าการค้า ชายแดนไทย - ลาว 5,031.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 23.6 จำแนกเป็นมูลค่าการส่งออก 3,440.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1 ประเภทสินค้าสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยานพาหนะและอุปกรณ์ (รถแทรคเตอร์ รถยนต์นั่งใหม่พวงมาลัยซ้าย รถจักรยานยนต์) น้ำมันปิโตรเลียม วัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า ผ้าผืน เครื่องจักรและอุปกรณ์ (ซึ่งมีการส่งออกเพิ่มขึ้นมากเนื่องจาก มีการส่งออกเครื่องจักรและชิ้นส่วนประกอบสำหรับการผลิตเบียร์ และเครื่องจักรที่ใช้ในการก่อสร้าง) สำหรับมูลค่าการนำเข้า 1,591.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 54.4 โดยส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าสินแร่ทองแดงมูลค่า 1,118.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 80.8 ที่เหลือ เป็นยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ส่วนใหญ่เป็นรถยนต์นั่งใหม่พวงมาลัยซ้ายเพื่อส่งไปจำหน่ายต่อยังประเทศกัมพูชา พืชไร่ (กล้วยดิบ กะหล่ำปลี) ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้
การค้าชายแดนไทย - กัมพูชา มีมูลค่าการค้า 2,898.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.7 เป็นผลจาก มูลค่าการนำเข้า 210.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.8 เท่า สินค้าสำคัญที่เพิ่มขึ้นเป็นที่น่าสังเกตได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากมีการนำเข้า ตามข้อตกลง Contract farming ตามโครงการปรับปรุงระบบการผลิตพืชเศรษฐกิจภายใต้แผนปฏิบัติการยุทธศาสตร์ความร่วมมือ ทางเศรษฐกิจ 5 ประเทศได้แก่ พม่า สปป. ลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทย (ACMECS) ในส่วนการส่งออกมีมูลค่า 2,687.5 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.2 สินค้าสำคัญที่ลดลงได้แก่ น้ำตาล วัสดุก่อสร้าง และน้ำมันปิโตรเลียม
8. ระดับราคา อัตราเงินเฟ้อเดือนนี้ สูงขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.6 เป็นผลจากราคาสินค้าหมวดอาหารและ เครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 7.5 โดยราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ได้แก่ ข้าวสารเหนียวและผักผลไม้ ส่วนราคาสินค้าหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหาร และเครื่องดื่มลดลงร้อยละ 0.4 เป็นผลจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และค่ากระแสไฟฟ้า เป็นต้น สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภค พื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0
9. ภาคการจ้างงาน ภาวะการทำงานของประชากรเดือนมิถุนายน 2550 ในภาค มีผู้มีงานทำทั้งสิ้น 11.8 ล้านคน เป็นผู้ทำงานในภาคเกษตร 7.3 ล้านคน และนอกภาคเกษตร 4.5 ล้านคน ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ทำงานในสาขาการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์ รถจักรยานยนต์ ของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน และสาขาการผลิต สำหรับการว่างงานมีผู้ว่างงาน จำนวน 0.2 ล้านคน อัตราการว่างงานร้อยละ 1.4 ทางด้านภาวะการจ้างงานในภาคเดือนนี้มีตำแหน่งงานว่าง 3,055 อัตรา ลดลงร้อยละ 16.0 แต่มีผู้สมัครงาน 6,975 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.6 และผู้ได้รับการบรรจุเข้าทำงาน 2,664 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 94.0 ส่วนใหญ่จะเป็นงาน ในโรงงานอุตสาหกรรม สำหรับคนไทยในภาคที่เดินทางไปทำงานยังต่างประเทศจำนวน 10,306 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
10. ภาคการเงิน ณ สิ้นมิถุนายน 2550 ธนาคารพาณิชย์ในภาคมีเงินฝากคงค้าง 353,121 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 ส่วนสินเชื่อคงค้าง 328,690 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สินเชื่อคงค้างสำคัญที่ขยายตัวได้แก่ สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค สินเชื่อค้าส่งค้าปลีก และสินเชื่อเพื่อการผลิต ในส่วนสินเชื่อที่มีแนวโน้มลดลงได้แก่ สินเชื่อเพื่อ การก่อสร้าง และสินเชื่อด้านอสังหาริมทรัพย์ อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากเท่ากับร้อยละ 93.1
ข้อมูลเพิ่มเติม : นายโรจน์ลักษณ์ ปรีชา โทร. 0-4333-3000 ต่อ 3421 e-mail: rotelakP@bot.or.th