สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนสิงหาคม

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday September 30, 2007 17:38 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

          ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนนี้ ชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยด้านอุปทาน ผลผลิตข้าว  มันสำปะหลังลดลง ขณะที่ราคาพืชผลเกษตรสำคัญส่วนใหญ่ยังคงสูงขึ้นยกเว้นข้าวเปลือกหอมมะลิ  สำหรับการผลิตภาคอุตสาหกรรม  ชะลอตัว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแปรรูปมันสำปะหลัง และอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม  ภาคบริการยังขยายตัวดี เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาล  เข้าพรรษาและมีการจัดการแข่งขันกีฬาระดับชาติ ด้านอุปสงค์ ยังชะลอตัวต่อเนื่องตามการอุปโภคบริโภค และการลงทุนภาคเอกชน  อีกทั้งรายได้ภาครัฐที่เก็บจากภาษีอากรต่าง ๆ ลดลงต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากภาษีสรรพสามิตจัดเก็บได้ลดลง  อย่างไรก็ตาม ทางด้านการค้า  ชายแดนยังขยายตัวดีโดยเฉพาะการค้าชายแดนไทย - ลาวที่เพิ่มขึ้นทั้งมูลค่าการส่งออกและการนำเข้า ส่วนการค้าชายแดนไทย - กัมพูชา เพิ่มขึ้นตามการนำเข้าซึ่งขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับเงินฝากและสินเชื่อยังเพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 2.3 
รายละเอียดของแต่ละภาคเศรษฐกิจ มีดังนี้
1. ภาคเกษตรกรรม ผลผลิตข้าว มันสำปะหลัง ออกสู่ตลาดลดลง ในขณะที่ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูใหม่เริ่มทยอย ออกสู่ตลาด ทางด้านราคาข้าวเปลือกเหนียว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงขึ้น แต่ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิลดลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยราคาขายส่งข้าวเปลือกเหนียว 10% (เมล็ดยาว) เฉลี่ยเกวียนละ 11,896 บาท สูงขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 27.9 ราคาขายส่งหัวมันสำปะหลังเฉลี่ยกิโลกรัมละ 1.72 บาท สูงขึ้นร้อยละ 65.4 ราคาขายส่งมันเส้นเฉลี่ยกิโลกรัมละ 3.94 บาท สูงขึ้นร้อยละ 7.9 เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ขณะที่ความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศมีมาก ราคาขายส่งข้าวโพด เลี้ยงสัตว์เฉลี่ยกิโลกรัมละ 6.35 บาท สูงขึ้นร้อยละ 30.1 ในส่วนราคาข้าวเปลือกหอมมะลิเฉลี่ยเกวียนละ 8,960 บาท ลดลงร้อยละ 2.0
2. ภาคอุตสาหกรรม เดือนนี้ชะลอตัว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแปรรูปมันสำปะหลังที่ยังชะลอตัวต่อเนื่อง ถึงแม้จะมี ความต้องการจากตลาดทั้งในและต่างประเทศมากก็ตาม เนื่องจากขาดแคลนหัวมันสำปะหลัง อุตสาหกรรมเครื่องดื่มผลิตลดลง จากภาวะแข่งขัน ทำให้ความต้องการของตลาดลดลง
3. ภาคบริการ จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคเดือนกรกฎาคม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 41.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย - ลาวแห่งที่ 2 (มุกดาหาร - สะหวันนะเขต) การจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษาที่จังหวัดอุบลราชธานี และการแข่งขันวอลเลย์บอลเยาวชนหญิงชิงแชมป์โลกปี 2007 ที่จังหวัด นครราชสีมา สำหรับอัตราการเข้าพักของโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 51.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนที่มีอัตราร้อยละ 50.1
4. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ยังชะลอตัวต่อเนื่อง เนื่องจากประชาชนบางส่วนยังชะลอการใช้จ่าย โดยการจดทะเบียน รถจักรยานยนต์จำนวน 32,861 คัน และรถบรรทุกส่วนบุคคลจำนวน 4,659 คัน ลดลงร้อยละ 20.9 และร้อยละ 3.9 ตามลำดับ ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในภาคที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บ ภาษีมูลค่าเพิ่ม 642.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 เป็นผลจากยอดจำหน่ายของห้างสรรพสินค้าและธุรกิจค้าส่ง - ค้าปลีกบางส่วนยังมี ยอดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้น ยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลจำนวน 3,011 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.5 เนื่องจากบริษัทจำหน่ายรถยนต์ มีการ เร่งจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง ทำให้จูงใจประชาชนบางส่วนที่ยังมีกำลังซื้อให้ตัดสินใจซื้อรถยนต์ใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นรถยนต์ขนาดเล็ก
5. การลงทุนภาคเอกชน ชะลอตัวทั้งภาคการค้าและภาคอุตสาหกรรม เห็นได้จากเครื่องชี้ที่สำคัญได้แก่ เงินทุน จดทะเบียนนิติบุคคลตั้งใหม่ของบริษัทจำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัดทั้งสิ้น 382.9 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 21.4 ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจ ที่เกี่ยวกับการผลิต และธุรกิจขายส่ง - ขายปลีก สำหรับเงินลงทุนของโครงการที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุน 1,534.0 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 82.0 เนื่องจากในช่วงเดียวกันของปีก่อนมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ได้แก่ โครงการผลิตกระดาษ ที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งใช้เงินลงทุนถึง 7,300 ล้านบาท โดยโครงการที่สำคัญในเดือนนี้ได้แก่ โครงการผลิตแป้งแปรรูป โครงการผลิตพลังงานไฟฟ้า จากก๊าซชีวภาพ ที่จังหวัดมหาสารคาม และนครราชสีมา และโครงการอบพืชและไซโลข้าวสารคัดคุณภาพ ที่จังหวัดอุบลราชธานี ในส่วนการก่อสร้างภาคเอกชนลดลง โดยมีพื้นที่ขอรับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลเมืองและนคร 181,004.8 ตารางเมตร ลดลง ร้อยละ 3.6 อย่างไรก็ตาม การใช้ไฟฟ้าในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0 ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.1
6. ภาคการคลัง เดือนนี้การจัดเก็บภาษีอากรลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ลดลงร้อยละ 0.2 โดยมีการจัดเก็บภาษีอากร รวม 2,886.1 ล้านบาท ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.1 เนื่องจากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตลดลงแต่ภาษีสรรพากรและ อากรขาเข้ายังเพิ่มขึ้น ซึ่งพิจารณาภาษีแต่ละประเภทได้ดังนี้ มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรวม 708.1 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 23.4 ซึ่งเป็นผลมาจากการลดลงของภาษีสุรา (ส่วนใหญ่เป็นภาษีเบียร์) และภาษีเครื่องดื่ม เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บภาษียาสูบ กลับจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 44.4 สำหรับภาษีสรรพากรจัดเก็บได้ 2,158.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 เนื่องจากการจัดเก็บ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีมูลค่าเพิ่ม เพิ่มขึ้น และการจัดเก็บอากรขาเข้า 19.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ซึ่งเป็นผลจากการเก็บอากรจากสินแร่ทองแดงที่ด่านศุลกากรมุกดาหารเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 4 เท่าตัว
7. การค้าต่างประเทศ การค้าชายแดนยังขยายตัวดี โดยเฉพาะการค้าชายแดนไทย - ลาว ทั้งการส่งออกและการนำเข้า ส่วนการค้าไทย - กัมพูชา ขยายตัวตามการนำเข้าเป็นสำคัญ โดยเฉพาะพืชไร่ในโครงการ Contract Farming โดยมูลค่าการค้าชายแดน ไทย - ลาว 5,468.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.5 จากเดือนเดียวกันของปีก่อน จำแนกเป็นมูลค่าการส่งออก 3,618.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 28.2 สินค้าสำคัญที่เพิ่มขึ้นได้แก่ ยานพาหนะและอุปกรณ์ ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกรถยนต์นั่งใหม่พวงมาลัยซ้าย นอกจากนั้น เป็นรถที่ใช้ในการก่อสร้าง (รถแทรคเตอร์ รถขุด) รถยนต์บรรทุก และรถจักรยานยนต์ สินค้าอื่น ๆ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมเชื้อเพลิง สินค้าบริโภค ผ้าผืน เหล็กและเหล็กกล้า เครื่องดื่ม เป็นต้น สำหรับมูลค่าการนำเข้า 1,849.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 64.7 สินค้าสำคัญ ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าสินแร่ทองแดงผ่านด่านศุลกากรมุกดาหาร ยานพาหนะและอุปกรณ์ กว่าครึ่งหนึ่งเป็นการนำกลับรถยนต์ ที่ใช้ในโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ที่เสร็จสิ้นแล้ว ได้แก่ รถแทรคเตอร์ รถบรรทุกและรถเกรด ที่เหลือส่วนใหญ่จะเป็นรถยนต์นั่งใหม่ พวงมาลัยซ้ายเพื่อส่งไปขายต่อยังประเทศกัมพูชา พืชไร่ (กล้วยดิบ กะหล่ำปลี ถั่วลิสง)
ทางด้านการค้าชายแดนไทย - กัมพูชา มีมูลค่าการค้า 3,015.8 ล้านบาท ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.6 เป็นผลจากมูลค่าการส่งออก 2,790.4 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5.2 สินค้าส่งออกสำคัญที่ลดลง ได้แก่ น้ำตาล วัสดุก่อสร้าง น้ำมัน ปิโตรเลียม/เชื้อเพลิง เครื่องแต่งกายและรองเท้า (ลดลงกว่า 1 เท่าตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากกัมพูชาได้รับสิทธิพิเศษ ทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ทำให้มีการเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปเป็นจำนวนมาก จึงลดการนำเข้า จากประเทศไทย) อย่างไรก็ตาม การส่งออกยานพาหนะ อาหารสัตว์ และเครื่องใช้ไฟฟ้ายังขยายตัวดี ในส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 225.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว สินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้นมากเป็นที่น่าสังเกต ได้แก่ พืชไร่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งนำเข้ามาทางจังหวดสระแก้วและจันทบุรี ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้
8. ระดับราคา อัตราเงินเฟ้อเดือนนี้ สูงขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.3 เป็นผลจากราคาสินค้าหมวดอาหาร และเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 7.5 โดยราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ได้แก่ ผักและผลไม้ และข้าวสารเหนียว เป็นสำคัญ ส่วนราคาสินค้า หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลงร้อยละ 0.9 เป็นผลจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และค่ากระแสไฟฟ้า เป็นต้น สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0
9. ภาคการจ้างงาน ภาวะการทำงานของประชากรเดือนกรกฏาคม 2550 ในภาค มีผู้มีงานทำทั้งสิ้น 12.2 ล้านคน เป็นผู้ทำงานในภาคเกษตร 7.9 ล้านคน และนอกภาคเกษตร 4.3 ล้านคน ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ทำงานในสาขาขายส่ง การขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์ รถจักรยานยนต์ ของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน และสาขาการผลิต สำหรับการว่างงานมีผู้ว่างงาน จำนวน 0.2 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.2 ทางด้านภาวะการจ้างงานในภาคเดือนนี้มีตำแหน่งงานว่าง 5,042 อัตรา เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 โดยมีผู้สมัครงาน 6,212 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.6 และผู้ได้รับการบรรจุเข้าทำงาน 2,408 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.5 ส่วนใหญ่จะเป็นงานในโรงงานอุตสาหกรรม สำหรับคนไทยในภาคที่เดินทางไปทำงานยังต่างประเทศจำนวน 8,603 คน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.7 ส่วนหนึ่งเนื่องจากมีการเดินทางไปทำงานในภาคเกษตรยังประเทศฟินแลนด์เป็นระยะเวลาประมาณ 3 เดือน
10. ภาคการเงิน ณ สิ้นกรกฎาคม 2550 ธนาคารพาณิชย์ในภาคมีเงินฝากคงค้าง 345,027 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 ส่วนหนึ่งจากการถอนเงินฝากของส่วนราชการเพื่อไปใช้จ่ายตามเงินงบประมาณ ส่วนสินเชื่อคงค้าง 322,309 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.0 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.5 เนื่องจากมีสหกรณ์ออมทรัพย์ บางแห่งนำเงินมาชำระหนี้แก่ธนาคารพาณิชย์ สินเชื่อคงค้างสำคัญที่ขยายตัวได้แก่ สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากเท่ากับร้อยละ 93.4
ข้อมูลเพิ่มเติม : นางสิรีธร จารุธัญลักษณ์ โทร. 0-4333-3000 ต่อ 3432 e-mail: SireethJ@bot.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ