สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนพฤศจิกายน 2550

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 28, 2007 15:46 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

          ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนนี้ ชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยด้านอุปทาน ผลผลิตข้าว    มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ฤดูการผลิตใหม่ออกสู่ตลาดมากขึ้น ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิปรับตัวสูงขึ้น ราคาหัวมันสำปะหลัง  และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ชะลอตัวลง ขณะที่ราคาข้าวเปลือกเหนียวลดลง ภาคอุตสาหกรรมลดลงตามอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม เป็นสำคัญ  ภาคบริการยังขยายตัวดี เนื่องจากมีกิจกรรมทางการท่องเที่ยวในเทศกาลออกพรรษาในหลายจังหวัด  รวมถึงงานบั้งไฟพญานาคที่จังหวัด  หนองคาย  ด้านอุปสงค์ ยังชะลอตัวต่อเนื่องตามการอุปโภคบริโภค และการลงทุนภาคเอกชน รายได้ภาครัฐจากภาษีอากรลดลงตาม  ภาษีสรรพสามิต ซึ่งเป็นผลจากภาษีสุราเป็นสำคัญ  อย่างไรก็ตาม ภาคการค้าชายแดนยังขยายตัวดีต่อเนื่องโดยเฉพาะการค้าชายแดน ไทย - ลาว จากการเพิ่มขึ้นของการส่งออกในหมวดสินค้าทุน และหมวดน้ำมันปิโตรเลียม  ในส่วนการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าสินแร่ ทองแดงเป็นสำคัญ  การค้าชายแดนไทย - กัมพูชา เพิ่มขึ้นจากการส่งออกยานพาหนะและส่วนประกอบ น้ำตาลและเครื่องดื่ม และ  การนำเข้าพืชไร่ ได้แก่ เมล็ดถั่วเหลือง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ขยายตัวต่อเนื่อง ทางด้านเงินฝากและสินเชื่อขยายตัวเพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อ  อยู่ที่ร้อยละ 3.2
รายละเอียดของแต่ละภาคเศรษฐกิจ มีดังนี้
1. ภาคเกษตรกรรม เดือนนี้ผลผลิตข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูการผลิตปี 2550/51 ออกสู่ตลาดมากขึ้น ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิปรับตัวสูงขึ้น ราคาหัวมันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ชะลอตัวลง ขณะที่ราคาข้าวเปลือกเหนียวลดลง โดยราคาขายส่งข้าวเปลือกหอมมะลิเฉลี่ยเกวียนละ 8,949 บาท สูงขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.0 เป็นผลจากการแข่งขันกัน รับซื้อข้าวเปลือก จากการประเมินว่าในปีนี้ผลผลิตข้าวหอมมะลิจะลดลง เนื่องจากเกษตรกรหันมาปลูกข้าวเหนียวมากขึ้น เพราะช่วง ที่ผ่านมาราคาข้าวเหนียวสูงเป็นประวัติการณ์ ราคาขายส่งหัวมันสำปะหลังเฉลี่ยกิโลกรัมละ 1.78 บาท สูงขึ้นร้อยละ 64.8 เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 95.7 ราคาขายส่งมันเส้นเฉลี่ยกิโลกรัมละ 4.07 บาท สูงขึ้นร้อยละ 35.2 แม้ว่าผลผลิตจะเริ่มทยอยออกสู่ตลาด แต่ปริมาณยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ทั้งภายในประเทศและเพื่อการส่งออก ราคาขายส่ง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เฉลี่ยกิโลกรัมละ 7.45 บาท สูงขึ้นร้อยละ 32.8 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 43.1 สำหรับราคาขายส่ง ข้าวเปลือกเหนียว 10% (เมล็ดยาว) เฉลี่ยเกวียนละ 8,794 บาท ลดลงร้อยละ 11.9 เนื่องจากประเทศจีนชะลอการสั่งซื้อ และข้าวเหนียว ที่ออกสู่ตลาดช่วงนี้มีความชื้นสูง
2. ภาคอุตสาหกรรม การผลิตโดยรวมลดลง เนื่องจากการลดลงของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะ เบียร์และเครื่องดื่มทั่วไปเป็นสำคัญ ซึ่งได้มีการเร่งผลิตเพื่อสต็อกไว้มากในช่วงก่อนหน้านี้ อุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมแป้งมัน อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และอุตสาหกรรมน้ำอัดลม สำหรับอุตสาหกรรมน้ำตาลเริ่มเปิดหีบในเดือนนี้ 2 แห่ง ที่จังหวัดขอนแก่นและกาฬสินธุ์ ผลผลิตจึงยังมีไม่มากนัก ในส่วนอุตสาหกรรมที่ขยายตัวได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
3. ภาคบริการ จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคเดือนตุลาคม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 57.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน กิจกรรมทางการท่องเที่ยวที่สำคัญในเดือนนี้ได้แก่ งานเทศกาลออกพรรษาที่จังหวัด อุบลราชธานี งานบั้งไฟพญานาคที่จังหวัดหนองคาย สำหรับอัตราการเข้าพักของโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 49.7 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากเดือนเดียวกันของปีก่อนที่มีอัตราร้อยละ 47.1
4. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ชะลอตัวจากเดือนก่อนตามภาวะเศรษฐกิจ ประชาชนยังระมัดระวังในการใช้จ่าย เครื่องชี้สำคัญได้แก่ การจดทะเบียนรถยนต์นั่งและรถบรรทุกส่วนบุคคล จำนวน 6,912 คัน และรถจักรยานยนต์ จำนวน 29,180 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.2 และร้อยละ 13.8 ตามลำดับ ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในภาคที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 อย่างไรก็ตาม การจับจ่ายใช้สอยสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้สูงขึ้นจำนวน 681.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจาก การเพิ่มขึ้นของยอดจำหน่ายห้างสรรพสินค้าและธุรกิจค้าส่ง - ค้าปลีก
5. การลงทุนภาคเอกชน ชะลอตัวจากเดือนก่อน โดยทุนจดทะเบียนนิติบุคคลตั้งใหม่ทั้งบริษัทจำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัด 473.8 ล้านบาท ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 37.2 ส่วนใหญ่เป็นการลดลงของธุรกิจประเภทรับเหมาก่อสร้าง ปริมาณการใช้ไฟฟ้า ในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0 อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังให้ความสนใจ ลงทุนทางด้านภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะทางด้านพลังงานทดแทน ทำให้เงินลงทุนในโครงการที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริม การลงทุนทั้งสิ้น 24,566 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหลายเท่าตัว เนื่องจากมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ได้แก่ โครงการ ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานลมที่จังหวัดมุกดาหาร เงินลงทุน 10,133 ล้านบาท และที่จังหวัดสกลนคร เงินลงทุน 4,424 ล้านบาท โครงการผลิตเอทานอล ที่จังหวัดนครราชสีมา เงินลงทุน 5,384 ล้านบาท และที่จังหวัดอุบลราชธานี เงินลงทุน 4,230 ล้านบาท ในส่วนการก่อสร้างภาคเอกชนขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยพื้นที่ขอรับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลเมืองและนคร 422,850.6 ตารางเมตร เพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่าตัว เนื่องจากมีการก่อสร้างห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีพื้นที่ถึง 263,446 ตารางเมตร
6. ภาคการคลัง รายได้ของภาคระฐบาล ที่ได้จากการจัดเก็บภาษีอากร เดือนนี้สามารถจัดเก็บได้รวม 2,692.3 ล้านบาท ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.2 เนื่องจากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตลดลง ในขณะที่การจัดเก็บภาษีสรรพากรและอากรขา เข้าเพิ่มขึ้น แยกเป็น ภาษีสรรพากรจัดเก็บได้ 1,368.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 เนื่องจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้บุคคล ธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้น การจัดเก็บอากรขาเข้า 31.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ่านด่านศุลกากรมุกดาหาร และการนำเข้าอุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ และไม้แปรรูปผ่านด่านศุลกากรหนองคาย ในส่วน การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตทั้งสิ้น 1,292.9 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 9.0 เนื่องจากการจัดเก็บภาษีสุราลดลงตามภาษีเบียร์เป็นสำคัญ ซึ่งเดือนนี้มีการผลิตลดลง ภาษีเครื่องดื่มลดลงตามการผลิตโซดา
7. การค้าต่างประเทศ การค้าชายแดนไทย - ลาว ยังขยายตัวดีต่อเนื่องทั้งการส่งออกและการนำเข้า โดยมูลค่าการค้า ชายแดนไทย - ลาวเดือนนี้ 5,951.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 41.1 แยกเป็น การส่งออกมูลค่า 4,300.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.3 ประเภทสินค้าสำคัญที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้นได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียม ยานพาหนะและอุปกรณ์ส่วนใหญ่ เป็นการส่งออกรถเพื่อใช้งาน อาทิ รถเกรด รถบรรทุกและรถแทรกเตอร์ สินค้าบริโภคส่วนใหญ่เป็นน้ำปลา สบู่ ผงชูรส ผงซักฟอก วัสดุก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์เหล็ก เป็นต้น ทางด้านการนำเข้ามีมูลค่า 1,651.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 52.2 กว่าร้อยละ 70 เป็นการนำเข้า สินแร่ทองแดงผ่านด่านศุลกากรมุกดาหาร นอกจากนั้นเป็นยานพาหนะอุปกรณ์และส่วนประกอบส่วนใหญ่เป็นการนำเข้ารถยนต์ใหม่ พวงมาลัยซ้ายเพื่อส่งไปขายต่อประเทศกัมพูชา ผลิตภัณฑ์เกษตรส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กล้วยดิบ ลูกเดือย และ กะหล่ำปลีทางด้านมูลค่าการค้าชายแดนไทย - กัมพูชา 3,558.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 18.2 เป็นการส่งออกมูลค่า 3,248.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.8 สินค้าส่งออกสำคัญที่เพิ่มขึ้นได้แก่ ยานพาหนะและส่วนประกอบส่วนใหญ่ เป็นรถจักรยานยนต์ น้ำตาล เครื่องดื่มส่วนใหญ่เป็นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เช่น เบียร์และสุรา ส่วนสินค้าส่งออกที่ลดลงได้แก่ วัสดุก่อสร้าง น้ำมันปิโตรเลียม และสิ่งทอ ในส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 310.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.2 สินค้านำเข้าสำคัญ ที่เพิ่มขึ้นได้แก่ พืชไร่ ส่วนใหญ่เป็นเมล็ดถั่วเหลือง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เสื้อผ้าเก่า/ผ้าห่มเก่า และไม้แปรรูป
8. ระดับราคา อัตราเงินเฟ้อเดือนนี้สูงขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.2 เป็นผลจากราคาสินค้าหมวดอาหาร และเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 2.7 และหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 3.7 ราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ที่มีราคาสูงขึ้นมาก ได้แก่ ข้าวสารเหนียว เครื่องปรุงอาหาร และผลิตภัณฑ์นม ในส่วนราคาสินค้าในหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและ เครื่องดื่มที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง หนังสือ ผลิตภัณฑ์ไวน์ และยาสูบ สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเพิ่มขึ้น จากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.2
9. ภาคการจ้างงาน ภาวะการทำงานของประชากรเดือนตุลาคม 2550 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีผู้มีงานทำทั้งสิ้น 11.3 ล้านคน เป็นผู้ทำงานในภาคเกษตร 6.3 ล้านคน และนอกภาคเกษตร 45.0 ล้านคน ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ทำงานในสาขาการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์ รถจักรยานยนต์ ของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน และสาขาการผลิต สำหรับการว่างงาน มีผู้ว่างงานจำนวน 0.2 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.5 ด้านภาวะการจ้างงานในภาคเดือนนี้มีตำแหน่งงานว่าง 4,707 อัตรา ลดลงร้อยละ 10.2 โดยมีผู้สมัครงาน 5,328 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.5 และผู้ได้รับการบรรจุเข้าทำงาน 1,890 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.7 ส่วนใหญ่จะเป็นงานในอุตสาหกรรมการผลิต สำหรับคนไทยในภาคที่เดินทางไปทำงานยังต่างประเทศ จำนวน 8,880 คน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.8 ส่วนใหญ่ไปทำงานยังประเทศไต้หวัน อิสราเอล และเกาหลีใต้
10. ภาคการเงิน ณ สิ้นตุลาคม 2550 ธนาคารพาณิชย์ในภาคมีเงินฝากคงค้าง 348,322 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 ส่วนใหญ่เป็นเงินฝากประเภทกระแสรายวันและออมทรัพย์ของส่วนราชการ ในขณะที่เงินฝากประจำลดลง เนื่องจากผลของการปรับลด อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ และเงินฝากประจำถึงเวลาครบกำหนด ส่งผลให้ลูกค้าบางส่วนถอนเงินไปลงทุนด้านอื่นแทน ทางด้านสินเชื่อคงค้าง 328,450 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 ใกล้เคียงกับเดือนก่อน สินเชื่อคงค้างสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ สินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากเท่ากับร้อยละ 94.3
ข้อมูลเพิ่มเติม : นางสิรีธร จารุธัญลักษณ์ โทร. 0-4333-3000 ต่อ 3432 e-mail: SireethJ@bot.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ