สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนกุมภาพันธ์ 2549

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 31, 2006 16:48 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

          เดือนกุมภาพันธ์ 2549  ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ราคาพืชผลหลักปรับตัวสูงขึ้น  การผลิตของอุตสาหกรรมสำคัญในภาคฯ เพิ่มขึ้น  การใช้จ่ายภาคเอกชนยังขยายตัว เห็นได้จากการจัดเก็บ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ยอดจดทะเบียนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล และรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้น  ภาคการก่อสร้างขยายตัว การจัดเก็บรายได้ภาครัฐ  เพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นร้อยละ 5.9  การค้าชายแดนขยายตัวทั้งด้านไทย-ลาวและไทย-กัมพูชา  ส่วนการลงทุนภาคเอกชนลดลง
1. ภาคการเกษตร
ข้าวเปลือกและข้าวโพดผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ขณะที่มันสำปะหลังความต้องการของโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ มันสำปะหลังยังมีอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาสูงขึ้น
ข้าว ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง เป็นผลจากเกษตรกรนำผลผลิตไปจำนำที่ ธกส. ตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ของภาครัฐ ซึ่งสิ้นสุดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2549 ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกในเดือนนี้สูงขึ้น โดยราคาขายส่งข้าวเปลือกเหนียว 10% (เมล็ดยาว) เฉลี่ยเกวียนละ 6,652 บาท เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเกวียนละ 5,765 บาท และเดือนก่อนราคาเกวียนละ 6,382 บาท สูงขึ้นร้อยละ 15.4 และร้อยละ 4.2 ตามลำดับ ราคาขายส่งข้าวเปลือกเจ้า 5% เกวียนละ 7,915 บาท เทียบกับเดือนเดียวกัน ของปีก่อนราคาเกวียนละ 7,861 บาท และเดือนก่อนราคาเกวียนละ 7,577 บาท สูงขึ้นร้อยละ 0.7 และร้อยละ 4.5 ตามลำดับ
มันสำปัหลัง ความต้องการของโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังยังอยู่ในเกณฑ์สูง ส่งผลให้ราคาขายส่ง หัวมันสำปะหลังเฉลี่ยกิโลกรัมละ 1.45 บาท เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนกิโลกรัมละ 1.40 บาท สูงขึ้นร้อยละ 3.6 แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนกิโลกรัมละ 1.46 บาท ลดลงร้อยละ 0.7 ราคาขายส่งมันเส้นเฉลี่ยกิโลกรัมละ 3.05 บาท เทียบกับ เดือนเดียวกันของปีก่อนกิโลกรัมละ 2.93 บาท สูงขึ้นร้อยละ 4.1 แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนกิโลกรัมละ 3.13 บาท ลดลงร้อยละ 2.6
ข้าวโพดเลี้ยงสะตว์ ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยในขณะที่ความต้องการตลาดสูง ส่งผลให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปรับตัวสูงขึ้น ราคาขายส่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เฉลี่ยกิโลกรัมละ 4.96 บาท เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนกิโลกรัมละ 4.72 บาท และเดือนก่อนกิโลกรัมละ 4.84 บาท สูงขึ้นร้อยละ 5.1 และร้อยละ 2.5 ตามลำดับ
2. การใช้จ่ายภาคเอกชน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน พิจารณาจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 605.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 55.8 จากเดือนเดียวกันของปีก่อน 388.6 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในจังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี อุบลราชธานี สุรินทร์ และมุกดาหารเพิ่มขึ้น กิจการสำคัญที่ยื่นชำระภาษีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า ขนาดใหญ่ โรงงานเบียร์ โรงงานสุรา โรงงานชิ้นส่วนอุปกรณ์ยานยนต์ โรงงานอาหารสัตว์ และโรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้น ปริมาณการใช้ ไฟฟ้าในที่อยู่อาศัย 320.0 ล้านหน่วย เทียบจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 307.1 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2
การแข่งขันของตลาดรถยนต์ที่รุนแรงมากขึ้น การนำรถยนต์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาด ทำให้ยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่ง ส่วนบุคคลใหม่ 3,052 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.5 รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล 5,563 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 และรถจักรยานยนต์ 37,961 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7
3. การลงทุนภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชนในเดือนนี้ลดลงทั้งการจดทะเบียนนิติบุคคลตั้งใหม่ และโครงการที่ได้รับ การอนุมัติส่งเสริมการลงทุน
เดือนนี้ มีกิจการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจำนวน 5 โครงการ เงินลงทุน275 ล้านบาท ลดลงจากเดือนเดียวกัน ของปีก่อนร้อยละ 44.4 และร้อยละ 54.5 ตามลำดับ โครงการในเดือนนี้ ได้แก่ โครงการผลิตพรม โครงการผลิตกระสอบพลาสติก โครงการผลิตก๊าซชีวภาพ โครงการเลี้ยงไก่เนื้อ โครงการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตแป้งมันสำปะหลัง
การจดทะเบียนนิติบุคคลตั้งใหม่จำนวน 252 ราย เงินทุน 457.2 ล้านบาท ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 4.2 และร้อยละ 5.4 ตามลำดับ ประเภทของธุรกิจที่สำคัญในเดือนนี้ ได้แก่ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจค้าวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรและฟาร์มเลี้ยงสัตว์
การใช้ไฟฟ้าในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม 427.0 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.3
4. ภาคการก่อสร้าง
เดือนนี้มีพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลเมืองและเทศบาลนคร 357,658 ตารางเมตร เทียบกับเดือนก่อน 176,649 ตารางเมตร และเดือนเดียวกันของปีก่อน 153,718 ตารางเมตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 102.5 และร้อยละ 132.7 ตามลำดับ
พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างอาคารพาณิชย์คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 68.7 ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีการขอ รับอนุญาตก่อสร้างห้างสรรพสินค้าจากกรุงเทพฯ อาคารที่อยู่อาศัยสัดส่วนร้อยละ 27.5 ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา และเพื่อ การบริการ สัดส่วนร้อยละ 3.7 เป็นการขออนุญาตก่อสร้างอาคารเรียน หอพัก สนามกีฬา ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดกาฬสินธุ์และหนองคาย
จังหวัดขอนแก่นมีการขออนุญาตก่อสร้างมากที่สุดในภาคฯ 215,699 ตารางเมตร รองลงมาจังหวัดอุดรธานี 43,874 ตารางเมตร นครราชสีมา 23,501 ตารางเมตร และมหาสารคาม 13,563 ตารางเมตร
5. การผลิตภาคอุตสาหกรรม การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญของภาคฯ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแปรรูป มันสำปะหลัง และอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม
โรงงานแปรรูปมันสำปะหลัง ทั้งโรงงานแป้งมัน และลานมันเส้นผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากชาวไร่นำผลผลิต หัวมันสำปะหลังออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าในช่วงนี้ค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้น ทำให้ผู้ส่งออกชะลอการซื้อเพื่อการส่งออกก็ตาม แต่ความต้องการมันเส้นจากประเทศจีนมีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับนโยบายภาครัฐในการสนับสนุนให้มีอุตสาหกรรมผลิตเอทานอล ทำให้ผู้ประกอบการมันเส้นขยายกิจการเพิ่มขึ้น
โรงงานน้ำตาลผลิตน้ำตาลได้ 555,239 ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.5 เนื่องจากเป็นช่วงใกล้ ปิดหีบ ชาวไร่อ้อยจึงรีบตัดผลผลิตที่เหลือเข้าโรงงาน
6. ภาคการจ้างงาน เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ข้อมูลการสมัครงานภายในภาคฯ และแรงงานที่ขออนุญาต เดินทางไปทำงานในต่างประเทศเพิ่มขึ้น
จากข้อมูลของศูนย์ข่าวสารตลาดแรงงานภาคฯ ผู้สมัครงานและผู้ได้รับการบรรจุเข้าทำงานเพิ่มขึ้น แต่ตำแหน่งงานว่าง ผ่านหน่วยงานจัดหางานของรัฐมีจำนวนลดลง
1) เดือนนี้มีผู้สมัครงาน 5,523 คน เทียบกับเดือนก่อน ผู้สมัครงาน 3,596 คน และเดือนเดียวกันของปีก่อน ผู้สมัครงาน 4,803 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 53.6 และร้อยละ 15.0 ตามลำดับ
ผู้สมัครงานส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา 899 คน ชัยภูมิ 781 คนและศรีสะเกษ 411 คน ซึ่งมีอายุระหว่าง 18 - 24 ปี วุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และตอนปลาย เพื่อทำงานเป็นผู้ช่วยงานบ้าน และพนักงานทำความสะอาด
2) ตำแหน่งงานว่าง 8,248 อัตรา เทียบกับเดือนก่อน ตำแหน่งงานว่าง 6,915 อัตรา เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.3 แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนตำแหน่งงานว่าง 11,755 อัตรา ลดลงร้อยละ 29.8
ตำแหน่งงานว่างส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดชัยภูมิ 2,015 อัตรา ยโสธร 863 อัตรา และอุบลราชธานี 789 อัตรา ซึ่งมีอายุระหว่าง 18 - 24 ปี วุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย เป็นตำแหน่งงานว่างในอุตสาหกรรมการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์ 3,089 อัตรา อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม 2,336 อัตรา
3) ผู้ที่ได้รับการบรรจุเข้าทำงาน 1,352 คน เทียบกับเดือนก่อน 1,365 คน ลดลงร้อยละ 0.1 แต่เมื่อเทียบกับเดือน เดียวกันของปีก่อน 1,319 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5
ผู้ได้รับการบรรจุเข้าทำงานส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา 316 คน ศรีสะเกษ 309 คน และมหาสารคาม 130 คน ซึ่งมีอายุระหว่าง 18-24 ปี วุฒิการศึกษามัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย อาชีพในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารและ เครื่องดื่ม 650 คน การขายส่ง การขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์ 381 คน
เดือนนี้อัตราส่วนการบรรจุเข้าทำงานต่อผู้สมัครงานคิดเป็นร้อยละ 24.5 และต่อตำแหน่งงานว่างคิดเป็น ร้อยละ 16.4
ข้อมูลของสำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ สรุปได้ดังนี้
สำหรับคนไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ขออนุญาตเดินทางไปทำงานในต่างประเทศเดือนนี้ 9,396 คน เพื่อไป ทำงานใน 72 ประเทศ จากคนไทยทั้งประเทศ 14,774 คน ที่เดินทางไปทำงานใน 86 ประเทศ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 63.6 ของคน ทั้งประเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.0 จากเดือนก่อน 8,240 คน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.5 จากเดือนเดียวกันของปีก่อน 7,426 คน
จังหวัดอุดรธานีมีคนไทยขออนุญาตเดินทางไปทำงานต่างประเทศมากที่สุดในภาคฯ 1,910 คน รองลงมาคือ นครราชสีมา 1,304 คน ขอนแก่น 927 คน บุรีรัมย์ 711 คน หนองคาย 683 คน และชัยภูมิ 675 คน
ไต้หวันเป็นประเทศที่คนไทยในภาคฯ เดินทางไปทำงานมากที่สุด 4,791 คน รองลงมาเป็นเกาหลีใต้ 1,359 คน สิงคโปร์ 1,132 คน กาตาร์ 523 คน บรูไน 319 คน ฮ่องกง 185 คน
เดือนนี้คนไทยในภาคฯไปทำงานในต่างประเทศแบบ Re-entry มากที่สุด 3,969 คน รองลงมาเป็นบริษัทจัดหางาน 3,806 คน สำนักงานจัดหางานจังหวัดในภาคฯ จัดส่ง 736 คน เดินทางด้วยตนเอง 626 คน นายจ้างพาไปทำงาน 142 คน และนายจ้าง พาไปฝึกงาน 117 คน
คนไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศเดือนนี้ ร้อยละ 55.0 จบประโยคประถมศึกษา รองลงมาจบประโยคมัธยมศึกษา ตอนต้นร้อยละ 20.7 และประโยคมัธยมศึกษาตอนปลายร้อยละ11.2
7. การค้าชายแดน
7.1 การค้าชายแดนไทย-ลาว เดือนกุมภาพันธ์ มูลค่าการค้า 2,792.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 57.4 เมื่อเทียบกับ เดือนเดียวกันของปีก่อนมูลค่าการค้า 1,774.3 ล้านบาท เป็นการส่งออก 2,055.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.7 และการนำเข้า 736.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.4 เท่า
การส่งออก 2,055.3 ล้านบาท สินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมและเชื้อเพลิงอื่น ๆ 420.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 96.8 ยานพาหนะและอุปกรณ์ 254.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.6 สินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือน (น้ำปลา สบู่ ผงชูรส ผงซักฟอกฯลฯ) 244.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 วัสดุก่อสร้าง 188.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 64.5 เครื่องใช้ไฟฟ้า 129.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 57.5 เหล็กและเหล็กกล้า 57.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าสี่เท่า เครื่องดื่ม สุรา น้ำส้มสายชู 48.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าหนึ่งเท่า
เครื่องจักรและอุปกรณ์ (ยกเว้นเครื่องจักรไฟฟ้า) 46.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.5 เท่า อุปกรณ์ตัดเย็บ 33.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.2 เท่า อาหารสัตว์ 21.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 66.2
การนำเข้า 736.8 ล้านบาท สินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ สินแร่ 413.0 ล้านบาท ซึ่งเดือนเดียวกันของปีก่อน นำเข้าเพียง 2.7 ล้านบาท เนื่องจากมีการทำเหมืองทองแดงใน สปป. ลาว โดยนำเข้าทางด่านศุลกากรพิบูลมังสาหาร และด่านศุลกากร มุกดาหาร ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ 247.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.1 พืชไร่ 26.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.2 ของป่า 6.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.5 กระดาษ กระดาษแข็ง 1.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า ส่วนเครื่องจักร และอุปกรณ์ 19.3 ล้านบาท ลดลง ร้อยละ 13.3 ยานพาหนะ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ 13.8 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 59.0 เศษโลหะไม่มีการนำเข้าในเดือนนี้ ในขณะที่ เดือนเดียวกันของปีก่อนนำเข้า 1.3 ล้านบาท
7.2 การค้าชายแดนไทย-กัมพูชา เดือนนี้มูลค่าการค้า 2,851.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 44.5 โดยเป็นการส่งออก 2,774.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.4 การนำเข้า 76.7 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 25.3
การส่งออก สินค้าส่งออกที่สำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยานพาหนะและส่วนประกอบ 461.7 ล้านบาท และน้ำตาล 238.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว น้ำมันปิโตรเลียม และเชื้อเพลิงอื่น ๆ 229.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.8 วัสดุก่อสร้าง 218.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.4 เครื่องแต่งกายและรองเท้า 188.9 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อนมีการส่งออกเพียง 7.7 ล้านบาท ส่วนสินค้าส่งออกที่ลดลง ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ 36.6 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 66.4 และเครื่องจักรกลการเกษตร 0.1 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อนส่งออกถึง 27.2 ล้านบาท
การนำเข้า สินค้านำเข้าที่สำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ พืชไร่ 1.7 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อนไม่มีข้อมูลการนำเข้า ส่วนสินค้านำเข้าที่ลดลง ได้แก่ เสื้อผ้า/ผ้าห่มเก่า 21.4 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 11.6 ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ 1.2 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 95.7
8. ภาคการเงิน
ธนาคารพาณิชย์
ณ สิ้นกุมภาพันธ์ 2549 มีสาขาธนาคารพาณิชย์เปิดดำเนินการในภาคทั้งสิ้น 528 สำนักงาน (รวมสาขาย่อย 75 สำนักงาน)
จากข้อมูลเบื้องต้นธนาคารพาณิชย์ในภาคฯมีเงินฝากคงค้าง 316,856 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 จากปีก่อนที่มี เงินฝากคงค้าง 291,440 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 จากเดือนก่อนหน้า ที่มีเงินฝากคงค้าง 315,029 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็น การเพิ่มขึ้นของเงินฝากประจำ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเพิ่มขึ้นมีส่วนจูงใจผู้ฝากเงิน ในด้านสินเชื่อมียอดคงค้าง 276,311 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.8 จากปีก่อนที่มีสินเชื่อคงค้าง 242,794 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 จากเดือนก่อนหน้า ที่มีสินเชื่อคงค้าง 274,063 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นลูกค้ารายเก่าที่ขอขยายสินเชื่อ
สินเชื่อเพื่อการเลี้ยงสัตว์ขยายตัวมากที่สุด รองลงมา ได้แก่ อุตสาหกรรมยานพาหนะ สินเชื่อเพื่อการบริโภค ส่วนบุคคล และสินเชื่ออุตสาหกรรมน้ำตาล ฯลฯ ส่วนสินเชื่อที่มียอดคงค้างลดลง ได้แก่ สินเชื่ออุตสาหกรรมธัญพืช ซึ่งเป็น การลดลงของผลผลิตตามฤดูกาล สินเชื่อเพื่อการค้าส่งและค้าปลีก สินเชื่อเพื่อการบริการ สินเชื่ออุตสาหกรรมอาหาร และสินเชื่อ อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ
อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากเดือนนี้ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 83.3 ในเดือนกุมภาพันธ์ปีก่อนเป็นร้อยละ 87.2 ในเดือนนี้
ด้านเงินฝาก เดือนนี้อัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ปรับสูงขึ้นเฉพาะเงินฝากประจำ 12 เดือน
- เงินฝากออมทรัพย์ ร้อยละ 0.75-2.00 ต่อปี (เท่ากับเดือนก่อน)
- เงินฝากประเภท 3 เดือน ร้อยละ 2.50-4.00 ต่อปี (เท่ากับเดือนก่อน)
- เงินฝากประเภท 6 เดือนร้อยละ 2.75-4.25 ต่อปี (เท่ากับเดือนก่อน)
- เงินฝากประเภท 12 เดือนร้อยละ 3.00-4.50 ต่อปี
(เดือนก่อนร้อยละ 3.00-4.25 ต่อปี )
ด้านสินเชื่อ อัตราดอกเบี้ยเท่ากับเดือนก่อน
- MLR ร้อยละ 6.75-7.30 ต่อปี
- MOR ร้อยละ 7.00-7.75 ต่อปี
- MRR ร้อยละ 7.25-8.00 ต่อปี
ปริมาณการใช้เช็ค
เดือนนี้ปริมาณการใช้เช็คผ่านสำนักหักบัญชีในภาคฯ 278,533 ฉบับ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ที่มีการใช้เช็ค 270,275 ฉบับ ในขณะที่จำนวนเงินที่สั่งจ่ายตามเช็คทั้งสิ้น 42,617.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.6 จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ที่มีการสั่งจ่าย 37,840.8 ล้านบาท
สำหรับปริมาณเช็คคืนทั้งสิ้น 5,053 ฉบับ ลดลงร้อยละ 4.7 จากเดือนเดียวกันของปีก่อนที่มีปริมาณเช็คคืน 5,304 ฉบับ แต่จำนวนเงินที่สั่งจ่าย 1,207.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 60.7 จากเดือนเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนเงินที่สั่งจ่าย 751.6 ล้านบาท ทำให้สัดส่วนจำนวนเงินตามเช็คคืนทั้งสิ้นต่อเช็คเรียกเก็บจากร้อยละ 2.0 ในเดือนเดียวกันของปีก่อนเป็นร้อยละ 2.8 ในเดือนนี้
ในขณะที่เช็คคืนเพราะไม่มีเงินมีทั้งสิ้น 3,098 ฉบับ ลดลงร้อยละ 3.0 จากกุมภาพันธ์ปีก่อน ที่มีเช็คคืนเพราะไม่มีเงิน 3,193 ฉบับ แต่จำนวนเงินที่สั่งจ่ายตามเช็คดังกล่าวมีทั้งสิ้น 544.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 107.4 จากกุมภาพันธ์ปีก่อนที่มีการสั่งจ่าย 262.7 ล้านบาท ทำให้สัดส่วนจำนวนเงินเช็คคืนเพราะไม่มีเงินต่อเช็คเรียกเก็บจากร้อยละ 0.7 ในเดือนเดียวกันของปีก่อนเป็นร้อยละ 1.3 ในเดือนนี้ โดยจังหวัดมหาสารคามมีอัตราส่วนเช็คคืนเพราะไม่มีเงินต่อเช็คเรียกเก็บสูงสุดร้อยละ 3.8 รองลงมาคือ นครราชสีมา ร้อยละ 2.9
9. การคลังรัฐบาล เดือนนี้สำนักงานสรรพากรพื้นที่ สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ และด่านศุลกากรในภาคตะวันออก เฉียงเหนือ สามารถจัดเก็บภาษีอากรรวมทั้งสิ้น 2,312.3 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน 1,683.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 37.4
สำนักงานสรรพากรพื้นที่ในภาคฯ จัดเก็บภาษีอากรรวม 1,274.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.1 เมื่อเทียบกับ เดือนเดียวกันของปีก่อน 979.9 ล้านบาท เนื่องจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 605.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 55.8 จากเดือนเดียวกัน ของปีก่อนจัดเก็บได้ 388.6 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในจังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี สุรินทร์และ มุกดาหาร เพิ่มขึ้น กิจการสำคัญที่ยื่นชำระภาษีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ โรงงานเบียร์ โรงงานสุรา โรงงานชิ้นส่วนอุปกรณ์ยานยนต์ โรงงานอาหารสัตว์ และโรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 333.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 จากเดือนเดียวกันของปีก่อน 299.0 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการจัดเก็บภาษีเงินได้จากเงินเดือน และเงินค่าตอบแทน พิเศษของพนักงานโรงงานชิ้นส่วนอุปกรณ์ยานยนต์ และโรงงานอาหารสัตว์
การคืนภาษี 141.4 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน 200.3 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 29.4 เนื่องจากการคืน ภาษีมูลค่าเพิ่ม 120.6 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 37.7 ส่วนการคืนภาษีเงินได้นิติบุคคล 16.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งจัดเก็บได้เพียง 3.9 ล้านบาท และการคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 4.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 72.0
สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ในภาคฯ จัดเก็บภาษีอากรรวม 1,027.4 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน 696.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 47.5 เนื่องจากการจัดเก็บภาษีสุรา 1,001.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 48.4 และภาษีเครื่องดื่ม จัดเก็บได้ 17.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.2 ส่วนการจัดเก็บภาษีเครื่องใช้ไฟฟ้า 100,575 บาท ลดลงร้อยละ 41.8
ด่านศุลกากรในภาคฯ จัดเก็บอากรขาเข้ารวม 10.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 46.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกัน ของปีก่อน 6.9 ล้านบาท ด่านศุลกากรสำคัญที่จัดเก็บอากรขาเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ ด่านศุลกากรพิบูลมังสาหาร 3.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 105.3 ด่านศุลกากรมุกดาหาร 1.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 50.0 ด่านศุลกากรนครพนม 0.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 50.0 ด่านศุลกากรเขมราฐ 0.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7 เท่า ด่านศุลกากรบึงกาฬ 0.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น2 เท่า ส่วนด่านศุลกากรหนองคาย 1.9 ล้านบาท และด่านศุลกากรเชียงคาน 0.2 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5.3 และร้อยละ 96.5 ตามลำดับ
10. ระดับราคา ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปในภาคฯ เดือนนี้สูงขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.1 และสูงขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 5.9 หมวดอาหารและเครื่องดื่ม ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.2 แต่สูงขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.4 สินค้าที่มีราคาสูงขึ้นมาก ได้แก่ ผักสด เป็ด ไก่ และเนื้อสัตว์ ส่วนสินค้าที่มีราคาลดลงได้แก่ ไข่และข้าว
หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.3 และสูงขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 6.9 สินค้าที่มีราคาสูงขึ้นมาก คือ สินค้าในหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร สูงขึ้นร้อยละ 14.0 ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าโดยสารสาธารณะในและนอกท้องถิ่นโดยเฉพาะค่ารถโดยสารบริษัทขนส่ง (บขส.) ราคาสูงขึ้นอีก 3 สตางค์ต่อกิโลเมตร สินค้าใน หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 9.2 โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ยาสูบ สินค้าในหมวดเคหสถานสูงขึ้นร้อยละ 2.4 โดยเฉพาะค่ากระแสไฟฟ้าในเดือนนี้ค่าเอฟทีสูงขึ้น 19.01 สตางค์ต่อหน่วย
ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน ในภาคฯเดือนนี้สูงขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.1 และสูงขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.4

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ