เศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือเดือนเมษายน 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 3, 2008 15:37 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

          ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือเดือนเมษายน 2551 ขยายตัวจากเดือนก่อนและระยะเดียวกันปีก่อน โดย  ด้านอุปทาน รายได้เกษตรกรเร่งตัวจากราคาพืชสำคัญและผลผลิตที่ขยายตัว ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นตามการผลิต  อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ภาคบริการขยายตัวจากการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทางด้านอุปสงค์   การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนทรงตัว แต่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวตามรายได้เกษตรกรและความสนใจลงทุนที่  เพิ่มขึ้น ทางด้านการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐเร่งตัวขึ้นมากโดยเฉพาะการเบิกจ่ายงบลงทุน  ด้านการส่งออกและนำเข้า  ขยายตัว ดัชนีราคาผู้บริโภคเร่งตัวตามราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เงินฝากและเงินให้สินเชื่อขยายตัว
รายละเอียดของแต่ละภาคเศรษฐกิจ มีดังนี้
1. ภาคเกษตร เดือนเมษายน 2551 รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 62.5 เร่งตัวจากเดือนก่อนและระยะ เดียวกันปีก่อน ที่สำคัญเป็นผลจากราคาที่สูงขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ถึงร้อยละ 55.1 ตามราคาตลาดโลก ทั้งราคาข้าวนาปรัง ถั่วเหลือง มันสำปะหลัง และข้าวโพด ที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 124.1 ร้อยละ 77.3 ร้อยละ 83.8 และร้อยละ 20.2 ตามลำดับ ประกอบกับมีการปรับเพิ่มราคาอ้อยขั้นต้นส่งผลให้ราคาอ้อยโรงงานสูงขึ้นร้อยละ 9.0 รวมทั้งราคาหอมแดงที่เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่าตัวจากผลผลิตที่ลดลงมาก ทางด้านผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 จากราคาพืชผลเกษตรสำคัญที่สูงขึ้นและยังคงเร่งตัวอย่าง ต่อเนื่องจูงใจให้เกษตรกรเพิ่มการผลิตและดูแลรักษามากขึ้น ประกอบกับสภาพอากาศเอื้ออำนวยส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น โดยเฉพาะในพืชสำคัญเช่น ข้าวนาปรัง ถั่วเหลือง และมันสำปะหลัง
2. ภาคอุตสาหกรรม เดือนเมษายน 2551 การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัว โดยดัชนีผลผลิต อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 11.9 จากการผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่เร่งตัวขึ้นร้อยละ 24.6 เทียบ กับเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 เดือนก่อน โดยการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในรถยนต์ขยายตัวดีตามอุตสาหกรรม ต่อเนื่องในญี่ปุ่นและจีน การผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในอุปกรณ์สื่อสาร จอระบบ touch screen เพื่อรองรับการสื่อสารระบบ 3G โดยขยายตัวดีในตลาดเอเชีย นอกจากนี้การผลิตเซรามิกเพิ่มขึ้นตามความต้องการใน ตลาดอิตาลี สวีเดนและฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม การเจียระไนเพชรเริ่มชะลอลงตามการส่งออกไปตลาดอิสราเอล การผลิต อุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรลดลงร้อยละ 10.2 จากการผลิตน้ำตาลที่ลดลงตามปริมาณอ้อยเข้าหีบที่ลดลง อีกทั้ง การผลิตผักสดแช่แข็งและอบแห้งลดลงเนื่องจากช่วงเดียวกันปีก่อนมีการผลิตที่สูงมาก นอกจากนี้การผลิตในอุตสาหกรรม เครื่องดื่มยังคงลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน และการผลิตหมวดวัสดุก่อสร้างลดลงตามภาวะการก่อสร้าง
3. ภาคบริการ เดือนเมษายน 2551 ขยายตัวในเกณฑ์ดีเนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ หน่วยงาน ภาครัฐและเอกชนจึงได้จัดกิจกรรมและประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งใน ปีนี้มีนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน ไต้หวัน และอิสราเอลเดินทางเข้ามามาก จากในปีที่แล้วนักท่องเที่ยวกังวลในเรื่องความ ปลอดภัยจากหมอกควัน นอกจากนี้ มีการเดินทางเพื่อประชุม/สัมมนาในจังหวัดภาคเหนือตอนบนของข้าราชการ โดยเฉพาะ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทโรงแรมและภัตตาคารเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 12.3 นอกจากนี้ จำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 8.3 อัตราการเข้าพัก เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.1 เทียบที่ลดลงร้อยละ 1.2 เดือนก่อน ส่วนราคาเฉลี่ยของห้องพักเท่ากับเดือนก่อน
4. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน เดือนเมษายน 2551 ทรงตัวในระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อนโดย ประชาชนยังคงระมัดระวังการใช้จ่าย ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มโดยรวมยังคงลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อน แต่ปรับตัว ดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มในหมวดค้าส่งค้าปลีกยังขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน นอกจากนี้การอุปโภค - บริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณการฟื้นตัว ส่วนหนึ่งเนื่องจากรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในเขตจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ส่งผลให้มีการซื้อสินค้าคงทน เช่น รถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้น สำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ปริมาณการจด ทะเบียนรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.5 เพราะการทำกลยุทธ์ทางการตลาดของผู้ประกอบการ และการออกรถยนต์รุ่นใหม่ที่ ตอบสนองพลังงานทางเลือก (E20) ซึ่งโดยเฉลี่ยมีราคาลดลง
5. การลงทุนภาคเอกชน เดือนเมษายน 2551 ทรงตัวแต่เริ่มปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะการลงทุนด้านการ ก่อสร้าง ซึ่งพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 7.9 ตามความสนใจลงทุนของ กลุ่มทุนรายใหญ่ในจังหวัดสำคัญทั้งประเภทที่อยู่อาศัยและเพื่อการพาณิชย์ นอกจากนี้ การจัดเก็บค่าธรรมเนียมการซื้อขาย ที่ดินเร่งตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 83.1 เนื่องจากมีการทำธุรกรรมซื้อขายอสังหาริมทรัพย์หลังจากชะลอการทำ ธุรกรรมในเดือนก่อนเพื่อรอมาตรการลดหย่อนภาษีของทางการซึ่งมีผลในวันที่ 29 มีนาคม 2551 แต่มาตรการดังกล่าวมีผล เฉพาะการโอนอสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน ห้องชุด และอาคารสำนักงาน อย่างไรก็ตามยอดจำหน่าย วัสดุก่อสร้างยังคงลดลงแต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน ด้านมูลค่าเงินลงทุนของกิจการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนมีจำนวน 223.6 ล้านบาท สูงกว่าเดือนก่อนที่มีมูลค่าเพียง 40.2 ล้านบาท อย่างไรก็ดี มูลค่าเงินลงทุนลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อย ละ 67.7 เนื่องจากในปีก่อนมีโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นมากและส่วนใหญ่เป็นโครงการลงทุนเพื่อขยาย กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมผลิตเลนส์ในจังหวัดลำพูน และอุตสาหกรรมผลิตและพัฒนาซอฟต์แวร์ในจังหวัดเชียงใหม่
6. การเบิกจ่ายเงินงบประมาณผ่านคลังจังหวัดในภาคเหนือ เดือนเมษายน 2551 มีการเบิกจ่าย ทั้งสิ้นจำนวน 17,020.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 70.5 เนื่องจากการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนของ งบประมาณปีปัจจุบันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนทั่วไปที่เพิ่มขึ้นกว่า 11 เท่าตัวและมี มูลค่ากว่าร้อยละ 70 ของงบลงทุนรวม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเบิกจ่ายเพื่อสร้างสาธารณูปโภคขององค์การบริหารส่วนตำบล เช่น ถนน เป็นต้น ทั้งนี้ จังหวัดที่มีสัดส่วนการเบิกจ่ายมากได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงรายและพิษณุโลก สำหรับรายจ่าย ประจำขยายตัวร้อยละ 10.8 จากระยะเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับฐานเงินเดือนข้าราชการทุกระดับชั้นใน เดือนตุลาคม 2550
7. การค้าต่างประเทศ เดือนเมษายน 2551 การค้าผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือขยายตัวจากเดือน ก่อนทั้งการส่งออกและนำเข้า โดยการส่งออกเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 24.0 เป็น 223.7 ล้านดอลลาร์ สรอ. ตามการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวร้อยละ 21.4 โดยสินค้าส่งออกสำคัญที่เพิ่มขึ้นได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เลนส์ กล้องถ่ายรูป และอัญมณี ตามการขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น ฮ่องกง และอิสราเอล อีกทั้งมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวส่งผลให้การส่งออกผ่านด่านชายแดนเพิ่มขึ้นร้อยละ 43.3 เป็น 66.4 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยการส่งออกไป พม่าและลาวเพิ่มขึ้นร้อยละ 53.4 และร้อยละ 51.4 ตามลำดับ อย่างไรตามการส่งออกสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 57.0 ตามการ ส่งออกยางแผ่นรมควันไปจีนตอนใต้ลดลงเป็นสำคัญ ทำให้การส่งออกไปจีนตอนใต้โดยรวมลดลงร้อยละ 13.7
การนำเข้า ผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 67.5 เป็น 192.2 ล้าน ดอลลาร์ สรอ. เทียบกับที่ลดลงร้อยละ 6.0 เดือนก่อน ตามการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นของวัตถุดิบการผลิตเพื่อส่งออกในนิคม อุตสาหกรรมลำพูน อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และอัญมณี อีกทั้งในเดือนนี้มีการนำเข้าข้อต่อสายไฟจากประเทศ สวิสเซอร์แลนด์ปริมาณสูงเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์ เป็นผลให้การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.8 นอกจากนี้การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 65.5 จากการนำเข้าผักผลไม้ เช่น ข้าวโพดเลี้ยง สัตว์จากพม่าที่เพิ่มขึ้น สำหรับการนำเข้าผ่านด่านชายแดนเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 เป็น 6.8 ล้านดอลลาร์ สรอ. ตามการนำเข้า จากพม่าและลาวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 และร้อยละ 35.2 ตามลำดับ ส่วนการนำเข้าจากจีนตอนใต้ลดลงร้อยละ 10.3
ดุลการค้า ในเดือนเมษายน 2551 เกินดุล 31.5 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนและ เดือนก่อนที่เกินดุล 65.6 ล้านดอลลาร์ สรอ. และ 116.5 ล้านดอลลาร์ สรอ. ตามลำดับ
8. ระดับราคา เดือนเมษายน 2551 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 เร่งตัวจากเดือนก่อน และระยะเดียวกันปีก่อน ตามการเร่งตัวในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเป็นสำคัญ โดยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 13.1 จากราคาเนื้อสัตว์ ข้าว ผักและผลไม้ที่สูงขึ้น สำหรับหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 ใกล้เคียงกับเดือนก่อนตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 เทียบกับที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 เดือน ก่อน
9. การจ้างงาน จากข้อมูลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในเดือนมีนาคม 2551 กำลังแรงงานรวม ของภาคเหนือมีจำนวน 6.668 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 6.533 ล้านคน คิดเป็นอัตราการมีงานทำร้อยละ 98.0 ใกล้เคียงกับระยะ เดียวกันปีก่อน โดยแรงงานภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 เนื่องจากราคาพืชสำคัญปรับสูงขึ้นจูงใจให้แรงงานเคลื่อนย้ายเข้าสู่ ภาคเกษตร และส่งผลให้แรงงานนอกภาคเกษตรลดลงร้อยละ 1.1 โดยลดลงมากในสาขาโรงแรม/ภัตตาคารร้อยละ 11.2 และ สาขาค้าส่ง/ปลีกร้อยละ 5.7 ทางด้านอัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 1.3 ต่ำกว่าร้อยละ 1.4 ระยะเดียวกันปีก่อน
ทางด้านผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 เพียงสิ้นเดือนเมษายน 2551 มีจำนวน 0.600 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน
10. การเงิน ธนาคารพาณิชย์ในภาคเหนือมียอดเงินฝากคงค้าง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2551 ทั้งสิ้น 357,685 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 5.2 (หากไม่รวมธนาคารพาณิชย์ใหม่ ขยายตัวร้อยละ 5.2) เทียบกับเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.0 เดือนก่อน เนื่องจากมีการเร่งระดมเงินฝาก ส่งผลให้เงินฝากประเภทประจำเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 โดยเฉพาะการ เพิ่มขึ้นของเงินฝากประจำในจังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย เชียงราย ลำปางและเชียงใหม่ ด้านเงินให้สินเชื่อมียอดคงค้าง 294,185 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 6.1 (หากไม่รวมธนาคารใหม่ ขยายตัวร้อยละ 6.1) เนื่องจากสินเชื่อ ส่วนบุคคลเร่งตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 21.9 โดยเฉพาะการซื้อขายหรือเช่าซื้อรถยนต์/รถจักรยานยนต์และเพื่อการบริโภคส่วน บุคคลอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.0 และร้อยละ 18.3 ตามลำดับ โดยสินเชื่อเพิ่มขึ้นมากที่จังหวัดพิษณุโลก เพชรบูรณ์ ลำพูน นครสวรรค์ และเชียงใหม่ สำหรับสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 82.3 เทียบกับร้อยละ 81.2 เดือนก่อน
ข้อมูลเพิ่มเติม : คุณนุกุล มุกลีมาศ โทร 0 5393 1142 e-mail: Nukulm@bot.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ