เดือนกรกฎาคม 2549 ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือชะลอตัวลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนภาคเกษตรกรรม ราคาข้าวเปลือกยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่วนราคามันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลง ภาคนอกเกษตรการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัว ขณะที่การใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนกลับชะลอตัว อย่างไรก็ตาม เงินฝากและสินเชื่อยังขยายตัว การจัดเก็บภาษีอากรยังเพิ่มขึ้น และการค้าชายแดนขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั้งด้านลาวและกัมพูชา อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 5.2
1. ภาคเกษตรกรรม ราคาข้าวเปลือกยังสูงขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยราคาขายส่งข้าวเปลือกเหนียว 10% (เมล็ดยาว) เฉลี่ยเกวียนละ 8,358 บาท สูงขึ้นถึงร้อยละ 39.7 เป็นผลจากความต้องการของตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น ราคาขายส่งข้าวเปลือกเจ้า 5% เฉลี่ยเกวียนละ 8,870 บาท สูงขึ้นร้อยละ 16.2 เนื่องจากผลของโครงการรับจำนำข้าวเปลือกทำให้มผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ราคาหัวมันสำปะหลังเฉลี่ยกิโลกรัมละ 1.09 บาท ลดลงร้อยละ 26.4 เนื่องจากโรงงานแป้งมันมีสต็อกวัตถุดิบเพียงพอสำหรับการผลิต ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เฉลี่ยกิโลกรัมละ 4.64 บาท ลดลงร้อยละ 12.6 เป็นผลจากโรงงานอาหารสัตว์ชะลอการรับซื้อ
2. ภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่ขยายตัวตาม ความต้องการของตลาดในและต่างประเทศ รวมถึงอุตสาหกรรมแปรรูปมันสำปะหลังมีการเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อสต็อกสินค้ามากขึ้น
3. การใช้จ่ายภาคเอกชน ภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น ส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เห็นได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม 596.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.0 จากเดือนเดียวกันของปีก่อน (ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 36.7) ส่วนการจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคล 2,222 คัน ลดลงร้อยละ 23.0 รถบรรทุกส่วนบุคคล 4,542 คัน ลดลงร้อยละ 10.5 รถจักรยานยนต์ 43,548 คัน ลดลงร้อยละ 3.8 สำหรับการใช้ไฟฟ้าเพื่อที่อยู่อาศัย 377.3 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2
4. การลงทุนภาคเอกชน ผู้ประกอบการยังไม่มั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผลของต้นทุนที่สูงขึ้นเนื่องจากราคา น้ำมันและการใช้จ่ายของประชาชนที่ชะลอตัว ส่งผลให้การจดทะเบียนบริษัทจำกัดตั้งใหม่มีทุนจดทะเบียน 129.5 ล้านบาท ลดลง ร้อยละ 26.8 จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัดตั้งใหม่ ทุนจดทะเบียน 230.2 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 34.5 โดยทุนจดทะเบียนธุรกิจที่ลดลงมาก ได้แก่ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และธุรกิจขายส่ง — ขายปลีก ขณะที่พื้นที่ก่อสร้างในเขตเทศบาลเมือง และเทศบาลนคร 157,730.2 ตารางเมตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.2 โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการลงทุนยังเพิ่มขึ้น โดยมีโครงการที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 13 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 85.7 ใช้เงินลงทุน 3,238.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า จากเดือนเดียวกันของปีก่อน 767.0 ล้านบาท เนื่องจากมีโครงการใช้เงินลงทุนสูงที่สำคัญ ได้แก่ โครงการผลิตเกลือบริสุทธิ์ ใช้เงินลงทุน 1,600 ล้านบาท และโครงการผลิตเครื่องนุ่งห่ม ใช้เงินลงทุน 815 ล้านบาท
5. การค้าชายแดน ภาวะการค้าชายแดนลาวและกัมพูชายังขยายตัว โดยมูลค่าการค้าชายแดนไทย - ลาว 2,560.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 45.6 จากเดือนเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการค้าชายแดนไทย - กัมพูชา 2,822.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 ด้านการส่งออก สินค้าไทยยังเป็นที่ต้องการของตลาดในลาวและกัมพูชา โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค ยานพาหนะและอุปกรณ์ วัสดุก่อสร้าง น้ำมันปิโตรเลียมและเชื้อเพลิงอื่น ๆ ด้านการนำเข้า สินค้านำเข้าจากลาวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องยังคงเป็น สินแร่ทองแดง ขณะที่สินค้านำเข้าจากกัมพูชาลดลง โดยเฉพาะเสื้อผ้าเก่า/ผ้าห่มเก่าลดลงมากอย่างน่าสังเกตและต่อเนื่องนับแต่ต้นปี
7. ภาคการเงิน จากรายงานเบื้องต้น ธนาคารพาณิชย์ในภาคฯ มีเงินฝากคงค้าง 332,710 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.6 จากเดือนเดียวกันของปีก่อน สินเชื่อคงค้าง 289,448 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 สินเชื่อคงค้างสำคัญที่ขยายตัว
ได้แก่ สินเชื่อการบริการ สินเชื่อการธนาคารและธุรกิจการเงิน ส่วนสินเชื่อสำคัญที่มียอดคงค้างลดลง ได้แก่ สินเชื่อเพื่อการค้าส่ง และค้าปลีกสำหรับอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 87.0
8. ภาคการคลัง สำนักงานสรรพากรพื้นที่ สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่และด่านศุลกากรในภาคฯ จัดเก็บภาษีอากร รวม 2,509.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 46.6 จากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีการจัดเก็บภาษีสรรพากร 1,321.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.1 ส่วนใหญ่เป็นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 596.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.0 การเก็บภาษีสรรพสามิต 1,165.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 86.9 ส่วนใหญ่เป็นภาษีสุรา และการจัดเก็บอากรขาเข้า 10.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 84.5
9. ภาคการจ้างงาน จากรายงานของศูนย์ข่าวสารตลาดแรงงานจังหวัดขอนแก่น มีจำนวนผู้สมัครงาน 5,106 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 จากเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่ตำแหน่งงานว่าง 3,639 อัตรา ลดลงร้อยละ 33.5 ผู้ได้รับการบรรจุงาน 1,374 คน ลดลงร้อยละ 3.2 ส่วนแรงงานในภาคฯ ที่ขออนุญาตไปทำงานต่างประเทศ 9,572 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 57.5 ส่วนใหญ่เดินทางไปทำงานที่ไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ อิสราเอล กาตาร์ และบรูไน อัตราเงินเฟ้อวัดจากดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป
10. ระดับราคา ในภาคฯ เดือนนี้สูงขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.2 และสูงขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.6 เป็นผลจากราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 6.0 และราคาสินค้าหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 4.9 สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6