เดือนกันยายน 2549 ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือชะลอตัวลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ราคาข้าวเปลือกและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปรับตัวสูงขึ้น แต่ราคามันสำปะหลังลดลง การใช้จ่ายภาคเอกชนชะลอตัว โดยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลยังขยายตัว แต่ปริมาณการจดทะเบยนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล และรถจักรยานยนต์ลดลง การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวตามทุนจดทะเบียนธุรกิจและการก่อสร้างที่ลดลง อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บภาษีอากรเพิ่มขึ้น เงินฝากและสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ยังขยายตัว การค้าชายแดนด้านลาวและกัมพูชายังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 3.1
1. ภาคเกษตรกรรม ราคาข้าวเปลือกยังสูงขึ้น โดยเฉพาะข้าวเปลือกเหนียวที่เพิ่มสูงขึ้นมาก โดยราคาขายส่งข้าวเปลือกเหนียว 10%(เมล็ดยาว) เฉลี่ยเกวียนละ 9,746 บาท สูงขึ้นถึงร้อยละ 60.5 เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย กอปรกับ ความต้องการจากตลาดประเทศจีนยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ราคาขายส่งข้าวเปลือกเจ้า 5% เฉลี่ยเกวียนละ 9,173 บาท สูงขึ้น ร้อยละ 15.3 เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ราคาหัวมันสำปะหลังเฉลี่ยกิโลกรัมละ 0.92 บาท ลดลงร้อยละ 29.2 เนื่องจาก ความต้องการของโรงงานแป้งชะลอตัวตามตลาดต่างประเทศ กอปรกับคุณภาพหัวมันมีเปอร์เซ็นต์แป้งต่ำเนื่องจากฝนตกชุก ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เฉลี่ยกิโลกรัมละ 5.16 บาท สูงขึ้นร้อยละ 8.9 เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยและความต้องการของ โรงงานอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น
2. ภาคอุตสาหกรรม ชะลอตัว ส่วนสำคัญเป็นผลจากอุตสาหกรรมแปรรูปมันสำปะหลังมีการผลิตลดลง เนื่องจากความต้องการชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมเครื่องดื่มยังขยายตัวตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ
3. การใช้จ่ายภาคเอกชน ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้จ่ายเพื่อบริโภคสินค้าคงทน โดยการจดทะเบียนรถบรรทุกส่วนบุคคล 4, 406 คัน ลดลงร้อยละ 10.0 และรถจักรยานยนต์35,696 คัน ลดลงร้อยละ 16.0 อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายเพื่อบริโภคและอุปโภคยังเพิ่มขึ้น พิจารณาจากภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ 615.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.7 และการใช้ไฟฟ้าเพื่อที่อยู่อาศัย เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0
4. การลงทุนภาคเอกชน ชะลอตัวลง พิจารณาจากทุนการจดทะเบียนนิติบุคคลตั้งใหม่ยังลดลง โดยทุนจดทะเบียนบริษัทจำกัด 111.0 ล้านบาท ลดลงถึงร้อยละ 50.3 และทุนจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด 344.4 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 14.6 ประเภทของธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียนลดลงมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิต และธุรกิจขายส่ง-ขายปลีก สำหรับพื้นที่ก่อสร้างในเขตเทศบาลเมืองและเทศบาลนคร 128,888.6 ตารางเมตร ลดลงร้อยละ 49.7 ตารางเมตร อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการลงทุนยังเพิ่มขึ้น โดยโครงการที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุน มีเงินลงทุน 787.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยโครงการที่มีมูลค่าการลงทุนสูง ได้แก่ โครงการผลิตถุงพลาสติกและกระสอบพลาสติก โครงการผลิตยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าและส่วนประกอบ และโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้า
5. การค้าชายแดน การค้าชายแดนลาวและกัมพูชายังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มูลค่าการค้าชายแดนไทย-ลาว 2,568.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.8 สินค้าออกที่สำคัญ คือ ยานพาหนะและอุปกรณ์ 362.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว สินค้าเข้าที่สำคัญ คือ สินแร่ทองแดง 428.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า มูลค่าการค้าชายแดนไทย-กัมพูชา 2,804.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.2 สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ยานพาหนะและส่วนประกอบ 375.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 56.0 สินค้านำเข้าที่สำคัญ ส่วนใหญ่เป็นวัสดุที่ใช้แล้ว เช่น เหล็ก อลูมิเนียม กระดาษ เสื้อผ้าเก่า/ผ้าห่มเก่า 17.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า
6. ภาคการเงิน ณ สิ้นสิงหาคม 2549 ธนาคารพาณิชย์ในภาคฯ มีเงินฝากคงค้าง 337,062.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.6 สินเชื่อคงค้าง 290,429.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.4 สินเชื่อคงค้างสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ สินเชื่อโรงสีข้าวและ สินเชื่อเช่าซื้อ ส่วนสินเชื่อสำคัญที่ลดลง ได้แก่ สินเชื่อเพื่อการค้าปลีกและค้าส่ง อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากร้อยละ 86.2
7. ภาคการคลัง การจัดเก็บรายได้จากภาษีอากรรวมทั้งสิ้น 2,437.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.0 จำแนกเป็น การจัดเก็บภาษีสรรพากร 1,426.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1 (ส่วนใหญ่เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม 615.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.7) การจัดเก็บภาษีสรรพสามิต 98.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.1 (ส่วนใหญ่เป็นภาษีสุรา 983.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.0) และ การจัดเก็บอากรขาเข้า 11.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 71.0 เนื่องจากการค้าชายแดนขยายตัว เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
8. ภาคการจ้างงาน จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรเดือนกันยายน 2549 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีกำลังแรงงานรวม 11.5 ล้านคน ผู้มีงานทำ 11.3 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 98.4 ของกำลังแรงงานรวม โดยมีแรงงาน ในภาคเกษตรจำนวน 6.4 ล้านคน ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.1 แรงงานนอกภาคเกษตรมีจำนวน 4.9 ล้านคน ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.4 ส่วนใหญ่ทำงานในสาขาการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์ รถจักรยานยนต์ ของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน ส่วนผู้ว่างงานมีจำนวน 0.1 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวม จากรายงานของศูนย์ข่าวสารตลาดแรงงานจังหวัดขอนแก่น พบว่า ในภาคฯ มีผู้สมัครงาน 6,328 คน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 21.2 ตำแหน่งงานว่าง 3,658 อัตรา ลดลงร้อยละ 7.8 และผู้ที่ได้รับการบรรจุเข้าทำงาน 2,117 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.0 แรงงานในภาคฯ ที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศ 8,672 คน ลดลงร้อยละ 9.3 ส่วนใหญ่เดินทางไปทำงานที่ไต้หวันมากที่สุด
9. ระดับราคา อัตราเงินเฟ้อเดือนนี้สูงขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.1 เป็นผลจากราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 4.1 และราคาสินค้าหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 2.6 สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4