เดือนพฤศจิกายน 2549 ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังชะลอตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อน ตามการใช้จ่าย ภาคเอกชน และรายได้เกษตรกรที่ชะลอตัวจากเดือนก่อนเล็กน้อย แต่ยังเพิ่มอยู่ในเกณฑ์สูงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนเริ่มปรับตัวดีขึ้น การจัดเก็บภาษีอากรยังเพิ่มขึ้น เงินฝากและสินเชื่อ ธนาคารพาณิชย์ยังขยายตัวต่อเนื่อง มูลค่าการค้าชายแดนขยายตัวทั้งด้านไทย - กัมพูชา และไทย - ลาว แต่มูลค่าการส่งออกไปลาว กลับลดลง อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 5.1
1. ภาคการเกษตร ราคาข้าวเปลือกเหนียวยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ราคาข้าวเปลือกเจ้าชะลอลง จากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยในเดือนนี้ราคาขายส่งข้าวเปลือกเหนียว 10% (เมล็ดยาว) เฉลี่ยเกวียนละ 9,977 บาท สูงขึ้นถึง ร้อยละ 78.5 ราคาขายส่งข้าวเปลือกเจ้า 5% เฉลี่ยเกวียนละ 8,139 บาท สูงขึ้นร้อยละ 5.0 มันสำปะหลัง ผลผลิตออกสู่ตลาด เพิ่มขึ้น ส่วนความต้องการของโรงแป้งและลานมันเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ส่งผลให้ราคาหัวมันสำปะหลังยังคงลดลงจากเดือนเดียวกัน ของปีก่อน โดยราคาขายส่งหัวมันสำปะหลังเฉลี่ยกิโลกรัมละ 1.08 บาท ลดลงร้อยละ 19.4 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลผลิตออกสู่ตลาด น้อยลง ขณะที่ความต้องการของโรงงานอาหารสัตว์ยังเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาขายส่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยราคาขายส่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เฉลี่ยกิโลกรัมละ 5.61 บาท สูงขึ้นร้อยละ 10.2 จากเดือนเดียวกันของปีก่อน
2. ภาคอุตสาหกรรม การผลิตของอุตสาหกรรมสำคัญในภาคฯ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อย เนื่องจากการผลิตในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มขยายตัวตามความต้องการของตลาดในประเทศและต่างประเทศ กอปรกับการผลิตของ โรงแป้งมันสำปะหลังและลานมันเส้นเริ่มปรับตัวดีขึ้นตามความต้องการของตลาดต่างประเทศ
3. การใช้จ่ายภาคเอกชน ชะลอตัว โดยยอดการจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลใหม่ในเดือนนี้มีจำนวน 2,549 คัน และรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลมีจำนวน 5,146 คัน เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือ ร้อยละ 7.3 และ ร้อยละ 1.9 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากกิจกรรมส่งเสริมการขายยังจูงใจให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น สำหรับการจัดเก็บ ภาษีมูลค่าเพิ่ม 594.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.4 เทียบกับร้อยละ 13.3 ในเดือนที่แล้ว ส่วนหนึ่ง เป็นผลจากยอดจำหน่ายของห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่และธุรกิจค้าส่งค้าปลีกเพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในที่อยู่อาศัย เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.3 อย่างไรก็ตาม ยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์มีจำนวน 33,857 คัน ลดลงจาก เดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.0 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากกำลังซื้อของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ประจำลดลง
4. การลงทุนภาคเอกชน ปรับตัวดีขึ้นตามทุนจดทะเบียนบริษัทจำกัดตั้งใหม่เพิ่มขึ้น โดยการจดทะเบียนบริษัท จำกัดตั้งใหม่เดือนนี้ มีทุนจดทะเบียน 534.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ธุรกิจสำคัญที่มีทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้น ได้แก่ ธุรกิจการไฟฟ้า และธุรกิจก่อสร้าง ขณะที่การจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัดตั้งใหม่ ทุนจดทะเบียน 220.0 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 37.8 โดยประเภท ของธุรกิจสำคัญที่มีทุนจดทะเบียนลดลง ได้แก่ ธุรกิจด้านการผลิตและธุรกิจขายส่ง - ขายปลีก สำหรับบรรยากาศในการลงทุนยังอยู่ ในเกณฑ์ดีโดยพิจารณาจากโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนมีจำนวน 5 โครงการ ใช้เงินทุน 223.0 ล้านบาท โครงการส่วนใหญ่ เป็นการลงทุนที่ใช้เงินทุนไม่สูง เช่น โครงการผลิตไก่เนื้อ ไข่ไก่พันธุ์ การผลิตถังบำบัดน้ำเสีย และถังเก็บน้ำ เป็นต้น
5. การค้าชายแดน มูลค่าการค้าชายแดนไทย - ลาว มีมูลค่าการค้า 2,671.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.3 จากเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการนำเข้าเพิ่มขึ้น ขณะที่การส่งออกกลับลดลง โดยมูลค่าการนำเข้า 709.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ตามการนำเข้าสินแร่ทองแดงเป็นสำคัญ ส่วนการส่งออก 1,962.4 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.8 ผลจากการลดลง ในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือน น้ำมันปิโตรเลียม เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรและอุปกรณ์เป็นสำคัญ สำหรับการค้าชายแดน ไทย - กัมพูชา มีมูลค่าการค้า 3,011.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 เป็นการส่งออก 2,757.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 ตามการส่งออกยานพาหนะและส่วนประกอบ และวัสดุก่อสร้างเป็นสำคัญ ส่วนมูลค่าการนำเข้า 254.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.5 ตามการนำเข้าวัสดุใช้แล้ว เช่น เหล็ก อลูมิเนียม และกระดาษ
6. ภาคการเงิน ณ สิ้นตุลาคม 2549 ธนาคารพาณิชย์ในภาคฯ มีเงินฝากคงค้าง 329,586 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.7 และสินเชื่อคงค้าง 296,150 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.2 จากเดือนเดียวกันของปีก่อน อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก ร้อยละ 89.9 สูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 87.9
7. ภาคการคลังรัฐบาล การจัดเก็บรายได้จากภาษีอากรเดือนนี้เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยภาษีอากรรวม จัดเก็บได้ 2,698.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.8 จำแนกเป็นภาษีสรรพากร 1,268.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.3 เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม 594.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.4 ส่วนใหญ่เก็บได้จากบริษัทนำเข้าทองแดง โรงงานผลิตอาหารสัตว์ โรงงานผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ ยานยนต์ โรงงานแป้งมัน โรงงานสุรา กิจการค้าปลีกค้าส่งและห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ภาษีสรรพสามิต 1,420.6 ล้านบาทเพิ่มขึ้น ร้อยละ 65.8 ส่วนใหญ่เป็นภาษีสุรา 1,392.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 66.2 อากรขาเข้า 9.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 52.5 ตามการนำเข้าสินแร่ทองแดงเป็นสำคัญ
8. ภาคการจ้างงาน จากรายงานของศูนย์ข่าวสารตลาดแรงงานจังหวัดขอนแก่น มีผู้สมัครงาน 3,793 คน ตำแหน่งงานว่าง 5,240 อัตรา และผู้ได้รับการบรรจุเข้าทำงาน 1,480 คน ลดลงร้อยละ 8.2 ร้อยละ 42.6 และร้อยละ 2.0 จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ อัตราส่วนผู้ได้รับการบรรจุเข้าทำงานต่อผู้สมัครงานคิดเป็นร้อยละ 39.0 และผู้ได้รับการบรรจุเข้าทำงานต่อ ตำแหน่งงานว่างคิดเป็นร้อยละ 28.2 คนไทยในภาคฯ ที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศมีจำนวน 8,311 คน ลดลงร้อยละ 4.7 จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่ไปทำงานในไต้หวันมากที่สุด รองลงมาคือ อิสราเอล สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และกาตาร์
9. ระดับราคา อัตราเงินเฟ้อในภาคฯ เดือนนี้สูงขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.1 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้น ของราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 10.4 ตามการสูงขึ้นของราคาหมวดผักสดและผลไม้ที่สูงขึ้นถึงร้อยละ 34.7 และหมวดข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ที่สูงขึ้นร้อยละ 21.3 สำหรับราคาสินค้าหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น เพียงร้อยละ 1.8 ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปโดยหักราคาสินค้าในหมวดอาหารสดและพลังงาน) ในภาคฯ เดือนนี้สูงขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.0