ภาวะเศรษฐกิจในเดือนพฤษภาคม 2551 โดยรวมยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านอุปทานที่ขยายตัวในเกณฑ์ดี ตามผลผลิตพืชผลสำคัญที่ขยายตัวดีมาก เช่นเดียวกับราคา ส่งผลให้รายได้เกษตรกรจากการขายพืชผลสำคัญเร่งตัวขึ้นมากจากเดือนก่อน ขณะที่ผลผลิตอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ในด้านอุปสงค์ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งปริมาณ การส่งออกและการนำเข้าชะลอตัวลง
เสถียรภาพด้านต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลจากมูลค่าการนำเข้าที่ลดลง เงินสำรองระหว่าง ประเทศอยู่ในระดับสูง ในด้านเสถียรภาพในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งตัวขึ้นมากจากเดือนก่อน
รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจในเดือนพฤษภาคม 2551 มีดังนี้
1. ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 10.5 เร่งขึ้นจากเดือนก่อน หมวดที่การผลิต ขยายตัวดี ได้แก่ หมวดอิเล็กทรอนิกส์ หมวดยานยนต์ และหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า ตามอุปสงค์จากต่างประเทศ
สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมในเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 74.4 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 69.2 ในเดือนก่อน
2. ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 6.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน ชะลอตัวลงจากเดือนก่อน ในเดือนนี้เครื่องชี้ การบริโภคภาคเอกชนเกือบทุกตัวขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ รวมทั้งมูลค่าสินค้าอุปโภคบริโภค นำเข้า ณ ราคาคงที่ ขณะที่ดัชนีหมวดยานยนต์ ขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน ตามปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล สำหรับดัชนี การลงทุนภาคเอกชน (ประมาณการ) เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนขยายตัวร้อยละ 5.0 ชะลอตัวลงต่อเนื่อง ตามมูลค่าการนำเข้า สินค้าทุน ณ ราคาคงที่ ที่ชะลอตัวลง และปริมาณการจำหน่ายรถยนต์พาณิชย์ภายในประเทศที่หดตัวลง
3. ภาคการคลัง รัฐบาลมีรายได้จัดเก็บ 297.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 8.3 ขยายตัวตามรายได้ จากภาษีฐานรายได้เป็นสำคัญ รายได้ภาษีขยายตัวร้อยละ 15.9 เพิ่มขึ้นในทุกฐานภาษี โดยภาษีจากฐานรายได้เพิ่มขึ้น ตามภาษีเงินได้ นิติบุคคล ส่วนภาษีฐานการบริโภคเพิ่มขึ้นตามภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขยายตัวตามมูลค่าการนำเข้าและอุปสงค์ภายในประเทศ อย่างไรก็ดี ภาษีสรรพสามิตในเดือนนี้หดตัวจากภาษีที่เก็บจากเบียร์ลดลงเป็นสำคัญ และภาษีธุรกิจเฉพาะหดตัวต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการ ลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์
ดุลเงินสด รัฐบาลเกินดุล 3.9 พันล้านบาท เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนเพิ่มขึ้น 4.8 พันล้านบาท อยู่ที่ 72.5 พันล้านบาท
4. ภาคต่างประเทศ ดุลการค้าเกินดุล 1,268 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยการนำเข้าชะลอลงจากเดือนก่อน ขณะที่การส่งออกขยายตัว ในเกณฑ์ดี การส่งออกมีมูลค่า 15,296 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 22.1 โดยหมวดสินค้าเกษตรขยายตัวดีต่อเนื่องอันเป็นผลจาก ราคาเป็นสำคัญ ขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรมชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน ทั้งนี้ สินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานในการผลิตสูง ขยายตัวตามการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงยังขยายตัวได้ดีตามการส่งออกคอมพิวเตอร์ ยานยนต์ พลาสติก ผลิตภัณฑ์เหล็ก และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม สำหรับการนำเข้า มีมูลค่า 14,028 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 15.7 ชะลอลงจากปริมาณนำเข้าเป็นสำคัญ โดยเฉพาะหมวดเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์น้ำมันที่การนำเข้าน้ำมันดิบลดลง ส่วนหมวดสินค้าทุน ชะลอลงตามนำเข้าเครื่องจักร และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคชะลอลงตามปริมาณการนำเข้าสินค้าไม่คงทนเป็นสำคัญ เมื่อรวมกับดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุล 637 ล้านดอลลาร์ สรอ. เนื่องจากเป็นช่วงส่งกลับกำไรและเงินปันผลของบริษัทเอกชน ทำให้ดุลบัญชี เดินสะพัด เกินดุล 631 ล้านดอลลาร์ สรอ. และ ดุลการชำระเงิน ขาดดุล 77 ล้านดอลลาร์ สรอ. เงินสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน พฤษภาคม 2551 อยู่ที่ 108.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. โดยมียอดคงค้างการซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าสุทธิ จำนวน 18.9 พันล้าน ดอลลาร์ สรอ.
ทั้งนี้ จากข้อมูลเร็วเบื้องต้น คาดว่า เงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิ 1/ ในเดือนพฤษภาคมจะเกินดุลตามการไหลเข้าของเงินทุนภาคธุรกิจ ที่มิใช่ธนาคาร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินลงทุนโดยตรงเป็นสำคัญ และในส่วนของภาครัฐที่คาดว่าจะมีเงินไหลเข้าสุทธิจากการออกพันธบัตร ในญี่ปุ่น (Samurai Bond)
5. อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือนพฤษภาคม 2551 อยู่ที่ร้อยละ 7.6 เร่งตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน จากการเพิ่มขึ้นของราคาในหมวด อาหารสดและพลังงาน ทำให้มีการส่งผ่านต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นไปยังอาหารบริโภคในและนอกบ้าน เครื่องประกอบอาหาร และ ค่าโดยสารสาธารณะ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 2.8 ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงเดียวกัน ปีก่อนร้อยละ 15.6 จากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมตามราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และผลิตภัณฑ์อาหารเป็นสำคัญ
6. ภาวะการเงิน เงินฝากของสถาบันรับฝากเงิน 2/ (Depository Corporations) ขยายตัวร้อยละ 1.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากนับรวมการออกตราสารหนี้ประเภทตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange) เข้าไปในเงินฝากแล้ว เงินฝากของสถาบันการเงินจะขยายตัว ร้อยละ 6.7 สำหรับสินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงิน ขยายตัวร้อยละ 8.0 เร่งตัวขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนตามการฟื้นตัว ของสินเชื่อที่ให้แก่ภาคธุรกิจ ในขณะที่สินเชื่อที่ให้แก่ภาคครัวเรือนยังคงขยายตัวดี
ฐานเงิน ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2551 ขยายตัวร้อยละ 8.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน ขณะที่ปริมาณเงินตามความหมายกว้าง (Broad Money) ขยายตัวร้อยละ 1.6 อย่างไรก็ดี หากรวมการออกตั๋วแลกเงินปริมาณเงินตามความหมายกว้างจะขยายตัวร้อยละ 3.7 จาก ระยะเดียวกันปีก่อน
อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงิน ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารระยะ 1 วันเฉลี่ยอยู่ที่ ร้อยละ 3.21 และ 3.23 ต่อปี ในเดือนพฤษภาคมและในช่วงวันที่ 2-23 มิถุนายน ตามลำดับ สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ทรงตัว อยู่ที่ร้อยละ 3.25 ต่อปี
7. อัตราแลกเปลี่ยนและดัชนีค่าเงินบาท ในเดือนพฤษภาคม 2551 อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยอยู่ที่ 32.11 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงจากค่าเฉลี่ยในเดือนเมษายนที่ 31.59 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. โดยมีปัจจัยหลักมาจากความเชื่อมั่นในค่าเงิน ดอลลาร์ สรอ. ที่ปรับดีขึ้น ประกอบกับความกังวลของตลาดเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อของไทยที่เร่งตัวสูงขึ้นและดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุล ในเดือนเมษายน อีกทั้งผู้นำเข้าไทยมีการเร่งซื้อเงินดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้ ค่าเงินบาทอ่อนลงเมื่อเทียบกับค่าเงินหลายสกุล ทำให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ปรับลดลงจากระดับ 79.57 ในเดือนก่อนมาอยู่ในระดับ 78.94 ในเดือนนี้
ในช่วงวันที่ 2-23 มิถุนายน 2551 ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจากเดือนก่อนมาเฉลี่ยอยู่ที่ 33.09 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ตามค่าเงิน ในภูมิภาค ประกอบกับนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์จากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาทางการเมือง และผู้นำเข้ายังคงซื้อ ดอลลาร์ สรอ. อย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลเพิ่มเติม: ธรรมนูญ สดศรีชัย
โทร. 0-2283-5648, 0-2283-5639 e-mail: thammans@bot.or.th