สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ เดือนมีนาคม 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 28, 2008 16:31 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

          ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้เดือนมีนาคม ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน ด้านอุปทาน  ผลผลิตพืชผลและอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น  ขณะดียวกันการท่องเที่ยวขยายตัวเพิ่มขึ้น  ส่วนประมง  ลดลงต่อเนื่องทั้งประมงทะเลและการเพาะเลี้ยง ด้านอุปสงค์  การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน  ขยายตัว  จากปัจจัยสนับสนุนด้านรายได้ของเกษตรกรที่เพิ่มขึ้นและการท่องเที่ยว นอกจากนี้การ  ส่งออกขยายตัวขึ้นมาก ส่วนการลงทุนทรงตัว ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณลดลง สำหรับอัตรา  เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 6.0 ทางด้านสินเชื่อและเงินฝากขยายตัว  ไตรมาสแรกปี 2551 ขยายตัว แม้ว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมจะลดลงก็ตาม เนื่องจากปริมาณผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญเพิ่มขึ้น ส่งผลให้รายได้ของเกษตรกร  เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.2  และการท่องเที่ยวขยายตัว เป็นปัจจัยสนับสนุนให้การอุปโภคบริโภค  ภาคเอกชนขยายตัว  นอกจากนี้ยังได้รับแรงหนุนจากการขยายตัวของการส่งออก และการเบิกจ่าย  งบประมาณ  อย่างไรก็ตามการลงทุนยังคงลดลง
รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจในเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ปี 2551 มีดังนี้
1. ภาคเกษตร ผลผลิตพืชหลักเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.0 ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิต ปาล์มน้ำมันที่เพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 80.4 เป็นสำคัญ ส่วนผลผลิตยางพาราเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.6 ทางด้านราคาพืชผลหลักเพิ่มขึ้นร้อยละ16.9 ตามราคายางพาราและปาล์มน้ำมัน ซึ่งเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.4 และ 60.2 ตามลำดับ ส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรจากการจำหน่ายพืชผลหลักเพิ่มขึ้น จากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 30.9
ด้านประมงทะเล อยู่ในภาวะซบเซา เนื่องจากต้นทุนการทำประมงอยู่ในระดับสูง ตามราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้เรือประมงส่วนหนึ่งได้หยุดทำการประมง และเปลี่ยน สถานที่นำขึ้นสัตว์น้ำไปท่าเทียบเรืออื่น ส่งผลให้ปริมาณและมูลค่าสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือของ องค์การสะพานปลาในภาคใต้ลดลงร้อยละ 25.5 และ 27.8 ตามลำดับ ขณะเดียวกันการ เพาะเลี้ยงกุ้ง ผลผลิตลดลงร้อยละ 8.6 เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและวิกฤติราคากุ้งตกต่ำ ตั้งแต่กลางปี 2550 อย่างไรก็ตามราคากุ้งลดลง โดยกุ้งขาวขนาด 50 ตัวต่อกิโลกรัม ที่ตลาด มหาชัยราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 119.2 บาท ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.7 จากความ ต้องการที่ชะลอลงของผู้นำเข้าต่างประเทศ
ไตรมาสแรกปี 2551 ผลผลิตพืชหลักเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 ตามการเพิ่มขึ้นของ ผลผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมัน ส่วนราคาพืชผลหลักเพิ่มขึ้นร้อยละ18.5 ตามราคายางพารา และปาล์มน้ำมัน ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4 และ 74.2 ตามลำดับ ส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรจากการ จำหน่ายพืชผลหลักเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 30.2
2. ภาคอุตสาหกรรม การผลิตขยายตัว ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.5 เป็นผลจากการผลิตยางแท่ง และน้ำยาง ขยายตัวตามการส่งออก โดยอุตสาหกรรม ยางแท่งและน้ำยางข้น มีปริมาณส่งออกผ่านด่านศุลกากรในภาคใต้จำนวน 90,167.4 เมตริกตัน และ 60,863.6 เมตริกตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 26.0 และ 14.7 ตามลำดับ นอกจากนี้ผลผลิตน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 71.4 ตามผลผลิตปาล์มน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ส่วนอุตสาหกรรมสัตว์น้ำแปรรูปและแช่แข็งลดลงร้อยละ 23.3 เนื่องจากวัตถุดิบลดลง โดยเฉพาะ วัตถุดิบจากประมงทะเล และอาหารทะเลบรรจุกระป๋อง ลดลงร้อยละ 5.4 วัตถุดิบส่วนใหญ่เป็น ทูน่าที่นำเข้า ซึ่งเดือนนี้มีการนำเข้าลดลงร้อยละ 23.3
ไตรมาสแรกปี 2551 ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 2.8 เนื่องจากการ ผลิตเพื่อการส่งออกลดลง โดยอุตสาหกรรมยาง มีปริมาณส่งออก จำนวน 597,031.4 เมตริกตัน ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 14.6 สัตว์น้ำ 8,807.4 เมตริกตัน ลดลงร้อยละ 4.5 และ อาหารทะเลบรรจุกระป๋อง 12,484.8 เมตริกตันลดลงร้อยละ 15.4 ขณะที่ผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบ มีจำนวน 350,693.9 เมตริกตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.3
3. การท่องเที่ยว ภาวะท่องเที่ยวขยายตัว โดยมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดิน ทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้จำนวนประมาณ 302,365 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกัน ปีก่อนร้อยละ 21.0 เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวทางฝั่งอันดามัน ที่ภาครัฐและเอกชนร่วมมือ จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และการเพิ่มเที่ยวบิน ทำให้ นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาภูเก็ตและกระบี่เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.9 และ 35.1 ส่วน ใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวสวีเดน ฟินแลนด์และเกาหลี ขณะเดียวกันภาคใต้ตอนล่างนักท่องเที่ยวเข้า มามากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากมาเลเซีย ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวหลักมีความมั่นใจในความปลอดภัย โดยนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาสงขลา เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 สำหรับอัตราการ เข้าพักของภาคใต้ในเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 65.1
ไตรมาสแรกปี 2551 การท่องเที่ยวขยายตัว มีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดิน ทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้จำนวนประมาณ 952,392 คน เพิ่มขึ้นจากไตรมาส เดียวกันปีก่อนร้อยละ 15.3 เป็นการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวทางจากฝั่งอันดามันเป็นสำคัญ
สำหรับอัตราเข้าพักโรงแรมในไตรมาสนี้เฉลี่ยร้อยละ 66.2 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่มีอัตราเข้าพัก เฉลี่ยร้อยละ 55.3
4. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 เนื่องจากดัชนีในหมวดยานยนต์เพิ่มร้อยละ 11.8 และภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคา คงที่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และกาแฟ สูงขึ้น และการท่องเที่ยวที่ขยายตัว รวมทั้งนโยบายภาษีสำหรับ รถยนต์ที่ใช้พลังงานทางเลือกและการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ที่ใช้ แก๊สโซออล์ E 20
ไตรมาสแรกปี 2551 ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัวร้อยละ 2.6 เนื่องจากภาวะการท่องเที่ยวฝั่งอันดามันที่ขยายตัวต่อเนื่อง และรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้นจาก ราคาสินค้าเกษตรอยู่ในระดับสูง โดยภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 และดัชนี หมวดยานยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0
5. การลงทุนภาคเอกชน การลงทุนโดยรวมทรงตัว เนื่องจากผู้ลงทุนยังขาดความ เชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และความเข้มงวดในการให้สินเชื่อของ ธนาคารพาณิชย์ โดยมีโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน จำนวน 7 โครงการ เงินทุนลดลง ถึงร้อยละ 44.7 ในจำนวนนี้มีโครงการโรงแรมในจังหวัดภูเก็ตเพียงโครงการเดียวที่ใช้เงินลงทุนสูง ถึง 2,584.0 ล้านบาท ส่วนโครงการอื่นเงินลงทุนไม่เกิน 100 ล้านบาท สำหรับการจดทะเบียน ธุรกิจนิติบุคคลใหม่ จำนวนรายเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 แต่ทุนจดทะเบียนลดลงร้อยละ 22.4 ด้านการก่อสร้าง พื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 เป็นการเพิ่มขึ้นในพื้นที่ ภาคใต้ตอนบน
ไตรมาสแรกปี 2551 การลงทุนโดยรวมอยู่ในภาวะซบเซา โครงการลงทุนที่ได้รับ ส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) ทั้งจำนวนรายและเงินลงทุนลดลง ร้อยละ 28.6 และ 46.6 ตามลำดับ ส่วนการจดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคล จำนวนรายเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 แต่เงินทุนจดทะเบียนลดลงร้อยละ 5.2 ขณะเดียวกันพื้นที่ก่อสร้างที่ได้รับอนุญาตในเขต เทศบาลลดลงร้อยละ 11.4 ตามการลดลงของที่อยู่อาศัยและบริการเป็นสำคัญ
6. การจ้างงาน ตำแหน่งงานว่างที่ผู้ประกอบการใช้บริการผ่านสำนักงานจัดหางาน จังหวัดในภาคใต้ มีจำนวน 5,703 อัตรา เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 82.0 โดย ตำแหน่งงานว่างส่วนใหญ่ต้องการผู้จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาและระดับปวส. คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 29.9 และ 25.4 ของตำแหน่งงานว่างทั้งหมด ตามลำดับ ด้านผู้สมัครงาน มีจำนวน 5,427 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.0 ผู้สมัครงานส่วนใหญ่มีวุฒิการศึกษา ปริญญาตรีขึ้นไป รองลงมาเป็นวุฒิมัธยมศึกษา คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 38.2 และ 27.5 ของ ผู้สมัครงานทั้งหมด ตามลำดับ ขณะที่ผู้ได้รับการบรรจุงานเดือนนี้มีจำนวน 3,654 อัตรา เพิ่มขึ้น จากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 27.0 จำนวนผู้ประกันตน ณ สิ้นเดือนมีนาคม นี้มีจำนวน 589,208 คน เพิ่มขึ้นจากเดือน เดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.0
ไตรมาสแรกปี 2551 มีตำแหน่งงานว่าง จำนวน 16,105 อัตรา และการบรรจุงาน จำนวน 8,409 อัตรา เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 20.8 และ 56.5 ตามลำดับ ขณะที่ มีผู้สมัครงาน จำนวน 14,250 คน ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.0
7. ระดับราคา อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 6.0 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 5.6 ในเดือนก่อน เป็นผลจากราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 เนื่องจากราคาอาหารสูงขึ้นเกือบทุกประเภท โดยเฉพาะข้าวสารเจ้าที่เพิ่มสูงขึ้นตามความ ต้องการตลาดต่างประเทศ ส่วนหมวดอื่นที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 ตาม ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของภาคใต้ อยู่ที่ร้อยละ 3.3 สูงขึ้นจากร้อยละ 2.8 ในเดือนก่อน
ไตรมาสแรกปี 2551 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของภาคใต้เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปี ก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม และ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 และ 4.4 ตามลำดับ
8. การค้าต่างประเทศ การค้าต่างประเทศผ่านด่านศุลกากรในภาคใต้มีมูลค่า ทั้งสิ้น 1,548.0 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 12.3 แยกเป็นมูลค่า การส่งออก 1,076.8 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 20.8 ตามการ เพิ่มขึ้นของการส่งออกยางพาราและอาหารกระป๋อง ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 471.2 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.3 ตามการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์
ไตรมาสแรกปี 2551 มูลค่าการค้าต่างประเทศรวมของภาคใต้ 4,219.9 ล้าน ดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 9.1 แยกเป็นมูลค่าส่งออก 2,882.5 ล้าน ดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 14.1 ผลจากมูลค่าการส่งออกยางพารา เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5 เป็นสำคัญ ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 1,337.5 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจาก ไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.3 จากการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ลดลงร้อยละ 26.0
9. ภาคการคลัง การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการต่างๆในภาคใต้ มี จำนวน 10,171.4 ล้านบาท ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.7 ตามการลดลงของการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของคลังจังหวัดนราธิวาส ภูเก็ตและกระบี่ ส่วนภาษีอากรจัดเก็บได้ 2,923.3 ล้านบาท ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.4 แยกเป็นภาษีสรรพากรจำนวน 2,577.6 ล้าน บาท ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 5.6 ขณะที่ภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากรจัดเก็บได้ จำนวน 210.6 ล้านบาท และ135.1 ล้านบาท ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.0 และ 8.4 ตามลำดับ
ไตรมาสแรกปี 2551 การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการต่างๆในภาคใต้ มี จำนวน 32,654.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.9 ตามการเพิ่มขึ้นของ การเบิกจ่ายเงินงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ในทุกคลังจังหวัด ส่วนภาษี อากรจัดเก็บได้ 7,699.3 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.9 ตามการลดลง ของการจัดเก็บภาษีทุกประเภท
10. การเงิน ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2551 สาขาธนาคารพาณิชย์ในภาคใต้ มีเงินฝาก คงค้างประมาณ 419,000.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 8.8 และสินเชื่อ คงค้าง ประมาณ 350,000.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 12.2
ไตรมาสแรกปี 2551 ปริมาณเงินฝากและสินเชื่อของสาขาธนาคารพาณิชย์ใน ภาคใต้ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยสินเชื่อที่ขยายตัวส่วนใหญ่จะเป็นสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วน บุคคล
ข้อมูลเพิ่มเติม : นายพสุธา ระวังสุข โทร.0-7423-6200 ต่อ 4345 e-mail : pasuthar@bot.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ