เศรษฐกิจภาคใต้เดือนมกราคมขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ทั้งทางด้านอุปทานและ อุปสงค์ โดยด้านอุปทาน ผลผลิตพืชผลเพิ่มขึ้น และการท่องเที่ยวขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ขณะที่การประมงและอุตสาหกรรมลดลงต่อเนื่อง ด้านอุปสงค์ การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ชะลอลงและการลงทุนลดลงต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกและการเบิกจ่ายงบประมาณเร่งตัวขึ้นมาก ส่วนอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 3.9 ทางด้านสินเชื่อและเงินฝากขยายตัว
รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจและการเงิน มีดังนี้
1. ภาคเกษตร ผลผลิตพืชหลักเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิต ปาล์มน้ำมันและยางพารา เป็นสำคัญ ส่วนราคาพืชผลหลักปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.5 ตามราคา ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และกาแฟ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.8 89.0 และ39.7 ตามลำดับ ส่งผลให้ รายได้ของเกษตรกรจากการจำหน่ายพืชผลหลักปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 32.7
ด้านประมงทะเล อยู่ในภาวะซบเซา เนื่องจากต้นทุนการทำประมงอยู่ในระดับสูง ตามราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ปริมาณและมูลค่าสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือขององค์การ สะพานปลาในภาคใต้ ลดลงร้อยละ 7.9 และ 15.2 ตามลำดับ ขณะเดียวกันการเพาะเลี้ยงกุ้ง มี ปริมาณผลผลิตลดลง เนื่องจากเกษตรกรลดปริมาณการเลี้ยง จากปัจจัยด้านราคาที่ไม่จูงใจในช่วง ที่ผ่านมา และบางส่วนปรับมาเลี้ยงกุ้งขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดและจำหน่ายได้ราคา สูงขึ้น โดยราคากุ้งขาวขนาด 50 ตัวต่อกิโลกรัม ที่ตลาดมหาชัยเฉลี่ยกิโลกรัมละ 154.0 บาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 19.4 ขณะที่กุ้งขนาดเล็กราคาลดลง
2. ภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 6.2 โดย อุตสาหกรรมยางพารามีผลผลิตลดลง เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นและการแข็งค่าของเงินบาท ปริมาณส่งออกยางผ่านด่านศุลกากรในภาคใต้มีจำนวน 219,779.6 เมตริกตัน ลดลงจาก เดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 12.3 ส่วนอุตสาหกรรมสัตว์น้ำแปรรูปและแช่แข็ง และอาหารทะเล บรรจุกระป๋อง ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 25.2 และ 11.3 ตามลำดับ เนื่องจากความ ต้องการของตลาดต่างประเทศที่ชะลอตัว โดยเฉพาะกุ้งแปรรูปและแช่แข็ง นอกจากนี้ยังประสบการขาดแคลนวัตถุดิบ ขณะที่ผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบมีจำนวน 86,681.3 เมตริกตันเพิ่มขึ้นจาก เดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 14.6 ตามปริมาณวัตุดิบที่เข้าโรงงานเพิ่มขึ้น
3. การท่องเที่ยว ภาวะท่องเที่ยวขยายตัว โดยมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดิน ทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้จำนวนประมาณ 290,744 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกัน ปีก่อนร้อยละ 8.0 เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวทางฝั่งอันดามัน และเทศกาลปีใหม่ ที่ภาครัฐ และเอกชนร่วมมือจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยิ่งใหญ่ ประกอบกับการเพิ่มเที่ยวบิน ในประเทศและต่างประเทศ ทั้งที่เป็นเที่ยวบินประจำ และเช่าเหมาลำ ทำให้นักท่องเที่ยวแถบ เอเชียและยุโรป ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ และ สวีเดน เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้น สำหรับ อัตราการเข้าพักในเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 69.9 สูงกว่าร้อยละ 59.8 และ 68.6 ในเดือนก่อนและเดือน เดียวกันปีก่อน
4. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ดัชนีการอุปดภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 ตามภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และดัชนีหมวดยานยนต์ ขณะที่ดัชนีหมวดน้ำมัน เชื้อเพลิงลดลงร้อยละ 2.9 เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และกาแฟ ที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับภาวะการท่องเที่ยวที่ขยายตัว โดยเฉพาะทางฝั่งทะเลอันดามัน ส่งผลให้เกิดแรงซื้อในระบบเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามจากการที่ ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น ทำให้ประชาชนยังคงระมัดระวังการใช้จ่าย ทำให้ดัชนีการอุปโภคบริโภค ภาคเอกชนขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับอัตราเพิ่มร้อยละ 3.1 ในเดือนก่อน
5. การลงทุนภาคเอกชน การลงทุนโดยรวมลดลง เนื่องจากผู้ลงทุนยังขาดความ เชื่อมั่น ในภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน จากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และความเข้มงวดในการให้สินเชื่อ ของธนาคารพาณิชย์ ส่งผลให้ผู้ลงทุนยังรอดูสถานการณ์โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการใหญ่ ๆ จะเห็นได้จากโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน มีจำนวนรายเท่ากับปีก่อน แต่เงินทุนลดลง ร้อยละ 7.6 ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมยาง ด้านการก่อสร้าง พื้นที่ขออนุญาตก่อสร้าง ลดลงร้อยละ 15.7 ขณะที่ปริมาณการจำหน่ายปูนซิเมนต์ของภาคใต้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือน เดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.4 ส่วนการจดทะเบียนนิติบุคคลใหม่ มีจำนวนรายและเงินลงทุนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.7 และ 16.1 ตามลำดับ
6. การจ้างงาน ตำแหน่งงานว่างที่ผู้ประกอบการใช้บริการผ่านสำนักงานจัดหางาน จังหวัดในภาคใต้ มีจำนวน 5,517 อัตรา เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 120.2 โดย ตำแหน่งงานว่างส่วนใหญ่ต้องการผู้จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาและระดับปวส. คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 29.3 และ 27.0 ของตำแหน่งงานว่างทั้งหมด ตามลำดับ ด้านผู้สมัครงาน มีจำนวน 3,501 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 14.2 ผู้สมัครงานส่วนใหญ่มีวุฒิการศึกษา ปริญญาตรีขึ้นไป รองลงมาเป็นวุฒิมัธยมศึกษา โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 29.3 และ 27.2 ของ ผู้สมัครงานทั้งหมด ตามลำดับ ขณะที่ผู้ได้รับการบรรจุงานเดือนนี้มีจำนวน 2,222 อัตราเพิ่มขึ้น จากเดือนเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 6.9
7. ระดับราคา อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 3.9 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 3.3 ในเดือนก่อน เป็นผลจากราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 และหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 ตามการเพิ่มขึ้นของราคาอาหาร ผักและ ผลไม้ และราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของภาคใต้ อยู่ที่ ร้อยละ 2.0 สูงขึ้นจากร้อยละ1.9 ในเดือนก่อน
8. การค้าต่างประเทศ การค้าผ่านด่านศุลกากรในภาคใต้มีมูลค่าทั้งสิ้น 1,501.9 ล้านดอลลาร์สรอ. เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 14.0 แยกเป็นมูลค่าการส่งออก 1,044.8 ล้านดอลลาร์สรอ. เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 25.0 ตามการเพิ่มขึ้นของการส่งออก สินค้ายางพารา และอาหารทะเลบรรจุกระป๋อง เป็นสำคัญ และมูลค่าการนำเข้า 457.1 ล้านดอลลาร์สรอ. ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 5.1 จากการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ ลดลง
9. ภาคการคลัง การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการต่างๆ ในภาคใต้ มีจำนวน 14,190.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 130.2 ตามการเพิ่มขึ้นของ การเบิกจ่ายเงินงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในทุกคลังจังหวัด ส่วนภาษี อากร จัดเก็บได้จำนวน 2,386.6 ล้านบาท ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.2 แยกเป็น ภาษีสรรพากรจำนวน 2,076.9 ล้านบาท ภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากร จำนวน 169.7 ล้าน บาทและ140.0 ล้านบาท ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.9 , 8.1 และ 26.2 ตามลำดับ
10. การเงิน ปริมาณเงินฝากคงค้าง ณ สิ้นเดือนมกราคม 2551 ของสาขาธนาคาร พาณิชย์ในภาคใต้ มีจำนวนประมาณ 397,000.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อย ละ 6.3 ส่วนยอดสินเชื่อคงค้าง มีจำนวนประมาณ 345,000.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือน เดียวกันปีก่อนร้อยละ 14.0 ทั้งนี้ เงินฝากและสินเชื่อจะมีการขยายตัวในพื้นที่จังหวัดฝั่งทะเล อันดามันซึ่งอยู่ในช่วงฤดูเทศกาลการท่องเที่ยว เป็นสำคัญ
ข้อมูลเพิ่มเติม : นายพสุธา ระวังสุข โทร.0-7423-6200 ต่อ 4345 e-mail : pasuthar@bot.or.th