ในปี 2550 เศรษฐกิจภาคใต้โดยรวมชะลอตัว ด้านอุปทาน ผลผลิตพืชผลเกษตร ลดลง เนื่องจากปัญหาโลกร้อนมีผลกระทบต่อผลผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมัน ขณะเดียวกัน ภาคประมงและอุตสาหกรรมการผลิตลดลง ขณะที่การท่องเที่ยวโดยรวมขยายตัวดี ด้านอุปสงค์ การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลง และการส่งออกใกล้เคียงกับปีก่อน ส่วนการเบิกจ่ายเงิน งบประมาณขยายตัว แต่การลงทุนลดลง สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงจากปีก่อน
รายละเอียดของแต่ละภาคเศรษฐกิจและการเงิน มีดังนี้
1. ภาคเกษตรกรรม ในปี 2550 ผลผลิตพืชผลหลักลดลงจากปีก่อนร้อยละ 2.8 ตามผลผลิตยางพาราที่ลดลงร้อยละ 3.6 และปาล์มน้ำมันลดลงร้อยละ 1.5 เนื่องจากภาวะแห้ง แล้งในช่วงต้นปี ทางด้านราคาพืชผลหลักปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 เนื่องจากราคาปาล์มน้ำมัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 59.3 และราคายางพาราอยู่ในระดับสูง ใกล้เคียงกับปีก่อน ส่งผลให้ รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7
ด้านประมงทะเล ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ราคาสัตว์น้ำ ไม่สามารถปรับเพิ่มขึ้นได้ตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการประมงหลายรายประสบปัญหา ขาดทุน และหยุดทำประมง ส่งผลให้ปริมาณสัตว์น้ำนำขึ้นที่ท่าเทียบเรือในภาคใต้ลดลงจากปี ก่อน ร้อยละ 2.0 ส่วนมูลค่าสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 สำหรับผลผลิตกุ้งชะลอลงจากปีก่อน เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ชะลอการเลี้ยง หลังจากประสบปัญหาราคากุ้งตกต่ำ โดยราคากุ้ง ปรับตัวลดลงทุกขนาดเมื่อเทียบกับปีก่อน
2. ภาคอุตสาหกรรม การผลิตโดยรวมของภาคใต้ลดลง โดยผลผลิตน้ำมันปาล์ม ลดลงร้อยละ 9.7 ตามปริมาณวัตถุดิบ ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมผลิตเพื่อการส่งออกได้แก่ สัตว์น้ำ แปรรูปและแช่แข็ง อาหารบรรจุกระป๋อง ถุงมือยาง ยางพารา และไม้ยางพาราแปรรูปและเฟอร์นิเจอร์ ปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 14.0 15.6 10.5 7.7 และ 2.2 ตามลำดับ เนื่องจากปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ โดยเฉพาะสัตว์น้ำ รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต และการแข่งขันที่สูงขึ้น ประกอบกับตลาดหลักชะลอการซื้อ นอกจากนี้ ข้อมูลส่งออกที่ลดลงส่วนหนึ่งเกิดจากการนำระบบ e-Customs1 มาใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 ผู้ประกอบการสามารถส่งผ่านข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าและใบขนสินค้าขาออก ผ่านพิธีการศุลกากรทาง อิเล็กทรอนิกส์แบบไร้เอกสาร โดยไม่ต้องจัดส่งเอกสารในรูปแบบกระดาษ ณ ท่าเรือ หรือสนามบินทั่วประเทศที่ทำการส่งออก โดย ผู้ประกอบการสามารถกำหนดเลือกข้อมูลส่งออกไปปรากฏที่ท่าเรือส่งออกปลายทาง เช่น ท่าเรือแหลมฉบังหรือท่าเรือกรุงเทพฯ ได้
3. การท่องเที่ยว ปีนี้มีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้า เมืองในภาคใต้ประมาณ 2.98 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 8.1 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความ ร่วมมือกันของภาครัฐและเอกชนในการจัดกิจกรรมส่งเสริมและทำตลาดการท่องเที่ยวต่อเนื่อง ตลอดปี โดยเฉพาะการท่องเที่ยวทางฝั่งอันดามัน มีการเพิ่มเที่ยวบินของสายการบินทั้งในและ ต่างประเทศในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ทำให้มีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในจังหวัด ภูเก็ตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 32.3 ขณะที่นักเที่ยวในจังหวัดสงขลาลดลงร้อยละ 18.1 แต่เริ่ม ปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4 เนื่องจากนักท่องเที่ยวเริ่มมั่นใจและเข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้น
4. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคโดยรวม ชะลอตัวลง โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.9 ชะลอลงจากร้อยละ 6.6 ในปีก่อน จากดัชนีหมวดยานยนต์ ซึ่งลดลงร้อยละ 5.4 การจดทะเบียนรถจักรยานยนต์และรถยนต์ ประเภทส่วนบุคคลลดลงตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ทำให้ชะลอการอุปโภคบริโภคสินค้า อย่างไรก็ดี การใช้เชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 ตามการใช้ LPG และภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6
5. การลงทุนภาคเอกชน ลดลง โดยเครื่องชี้ด้านการก่อสร้างลดลงจากปีก่อน ร้อยละ 9.0 ขณะเดียวกัน การจดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคลจำนวนรายและทุนจดทะเบียนลดลง ร้อยละ 23.6 และ 19.1 ตามลำดับ จากปัจจัยลบ อาทิ ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น การเมืองที่ยังไม่ชัดเจน และปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างไรก็ดี ปีนี้มีโครงการที่ได้รับการส่งเสริม การลงทุน จำนวน 76 ราย เงินลงทุน 42,286.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 และ 128.0 ตามลำดับ โครงการลงทุนส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวทางภาคใต้ตอนบน โดยเฉพาะจังหวัด ภูเก็ต และสุราษฏร์ธานี เป็นสำคัญ
6. การจ้างงาน ณ สิ้นปีนี้มีจำนวนแรงงานในภาคใต้ที่เข้าโครงการประกันสังคม ตามมาตรา 33 จำนวน 585,476 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 3.4 โดยเพิ่มขึ้นเกือบทุกจังหวัด ยกเว้นจังหวัดระนอง ยะลา สงขลา และปัตตานี สำหรับความต้องการแรงงานซึ่งแจ้งผ่าน สำนักงานจัดหางานจังหวัดในภาคใต้มีจำนวนทั้งสิ้น 41,147 อัตรา ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 27.9 ขณะที่มีผู้สมัครงานทั้งสิ้น 53,374 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.9 และมีการบรรจุงาน รวม 31,100 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7
7. ระดับราคา อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของภาคใต้อยู่ที่ร้อยละ 2.2 ชะลอลงจากร้อยละ 4.9 ในปีก่อน เป็นผลจากสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 ตามการ เพิ่มขึ้นของสินค้าหมวดข้าวสารเหนียว (49.3%) และหมวดผักและผลไม้ (10.2%) เนื่องจากปีนี้ ได้รับผลกระทบจากความแห้งแล้ง ส่วนหมวดอื่น ๆ ที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.3 จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของภาคใต้ ปี 2550 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 2.5 ในปีก่อน
8. การค้าต่างประเทศ การส่งออกผ่านด่านศุลกากรในภาคใต้มีมูลค่ารวม 10,299.8 ล้านดอลลาร์ สรอ. ทรงตัวใกล้เคียงกับปีก่อน สินค้าส่งออกที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้แก่ ดีบุก ไม้ยางพาราแปรรูปและเฟอร์นิเจอร์ และอาหารกระป๋อง เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.7 8.8 และ 2.3 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกสัตว์น้ำแช่แข็ง ยางพารา และถุงมือยาง ลดลงร้อยละ 11.5 3.2 และ 2.2 ตามลำดับ ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 5,243.4 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อย ละ 33.5 ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์ และสัตว์น้ำแช่แข็ง เป็นสำคัญ
9. ภาคการคลัง การเบิกจ่ายเงินงบประมาณมีจำนวน 120,487.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 19.2 ตามการเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณของคลังจังหวัด เนื่องจาก พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2550 ที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่เดือน มกราคม 2550 ทำให้ส่วนราชการต้องเร่งเบิกจ่ายให้ได้ตามเป้าที่วางไว้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนรายได้จากการจัดเก็บภาษี มีจำนวน 31,061.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 17.6 ตามการเพิ่มขึ้นของการจัดเก็บภาษีสรรพากร ภาษีสรรพสามิต และภาษีศุลกากร ร้อยละ 18.7 4.0 และ 19.6 ตามลำดับ
10. ภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนธันวาคม เงินฝากคงค้างของสาขาธนาคารพาณิชย์ มีจำนวน 393,449 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 6.2 ส่วนสินเชื่อคงค้างมีจำนวน 341,868 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 14.1 สินเชื่อที่ขยายตัวส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีประวัติ ทางการเงินที่ดี และอยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจหลัก 3 จังหวัด คือ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และสงขลา ขณะที่สินเชื่อรายใหม่ยังคงเข้มงวด สำหรับสถานการณ์ความไม่สงบในเขต 3 จังหวัดชายแดน ยังคงเป็นปัจจัยลบต่อภาคธุรกิจและผลการดำเนินงานของสาขาสถาบันการเงินในพื้นที่ แนวโน้ม ปี 2551
เศรษฐกิจภาคใต้ในปี 2551 คาดว่า มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากปลายปี เนื่องจากรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้นจากราคาพืชผลเกษตรสำคัญ อาทิ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน อยู่ในระดับสูง กอปรกับการท่องเที่ยวขยายตัวดีขึ้นโดยเฉพาะทางฝั่งอันดามัน ขณะที่ภาคใต้ ตอนล่างเริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายปี สถานการณ์ทางการเมืองที่เริ่มชัดเจนขึ้น ตลอดจนเงิน งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง คือ ความผัน ผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก และปัญหาหนี้เสียในส่วนของสินเชื่อประเภทด้อยมาตรฐานของ สหรัฐอเมริกา (SUBPRIME)