เศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือเดือนพฤษภาคม 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 3, 2008 15:18 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

          ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือเดือนพฤษภาคม 2551 ขยายตัวจากเดือนก่อนและระยะเดียวกันปีก่อน  โดยด้านอุปทาน รายได้เกษตรกรเร่งตัวจากราคาและผลผลิตข้าวนาปรังเป็นสำคัญ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวแต่ชะลอ  ลงจากเดือนก่อนตามการผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ภาคบริการชะลอลงตามฤดูกาล  ทางด้านอุปสงค์ การอุปโภค  บริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังชะลอตัวแต่ปรับตัวดีขึ้นตามรายได้เกษตรกร ด้านการส่งออกและนำเข้าขยายตัวตามสินค้า  อุตสาหกรรม  ส่วนการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐลดลง เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาได้มีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณอย่าง  ต่อเนื่อง ทางด้านดัชนีราคาผู้บริโภคเร่งตัวตามราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เงินฝากและเงินให้สินเชื่อขยายตัว
รายละเอียดของแต่ละภาคเศรษฐกิจ มีดังนี้
1. ภาคเกษตร เดือนพฤษภาคม 2551 รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 98.4 เร่งตัวจากเดือนก่อนและ ระยะเดียวกันปีก่อนเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาและผลผลิตข้าวนาปรังเป็นสำคัญ โดยราคาพืชสำคัญสูงขึ้นร้อยละ 82.1 ตามราคาข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และถั่วเหลือง ที่สูงขึ้นร้อยละ 126.4 ร้อยละ 22.1 และร้อยละ 87.9 ตามลำดับ จาก ความต้องการและราคาในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาลิ้นจี่เพิ่มขึ้นร้อยละ 91.1 จากผลผลิตที่ลดลงมากเพราะสภาพ อากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการติดดอกและออกผล ทางด้านผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.3 จากราคาพืชผลเกษตรสำคัญที่สูงขึ้น อย่างต่อเนื่อง จูงใจให้เกษตรกรเพิ่มการผลิตและการดูแล ประกอบกับสภาพอากาศเอื้ออำนวยทำให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพืชสำคัญเช่น ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง ถั่วเขียว และสับปะรด
2. ภาคอุตสาหกรรม เดือนพฤษภาคม 2551 การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยดัชนี ผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 8.6 แต่ชะลอตัวจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 11.9 โดยการ ผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 ตามการผลิตส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญ เช่น ไดโอด ส่วนประกอบฮาร์ดิสก์ไดร์และแผงวงจรสำเร็จรูป นอกจากนี้ การผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้ายังคงขยายตัวแต่ชะลอลงบ้างจาก เดือนก่อน ขณะที่การผลิตมอเตอร์และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าลดลงจากความต้องการในจีนที่ลดลง ด้านอุตสาหกรรมแปรรูป ผลผลิตการเกษตรเพิ่มขึ้นจากการผลิตผลไม้แช่แข็ง ผักสดแช่แข็งและอบแห้งที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ การผลิตเซรามิก เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารเพิ่มขึ้นตามการขยายตลาดใหม่ในเยอรมัน อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมเครื่องดื่มลดลงต่อเนื่องเป็น เดือนที่ 5 เพราะเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับคู่แข่งขัน
3. ภาคบริการ เดือนพฤษภาคม 2551 การท่องเที่ยวชะลอลงตามฤดูกาล อีกทั้ง สถานการณ์ทางการเมือง ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติบางส่วนโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากสิงคโปร์และมาเลเซียยกเลิกการเดินทาง อย่างไรก็ดี ยังคงมี การจัดกิจกรรม การอบรมสัมมนาของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยใช้บริการของโรงแรมขนาดกลางมากขึ้น ส่งผลให้การ จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทโรงแรมและภัตตาคารเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 10.5 อัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.8 และราคาเฉลี่ยของห้องพักเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 นอกจากนี้ จำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานเพิ่มขึ้นจากระยะ เดียวกันปีก่อนร้อยละ 6.2
4. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน เดือนพฤษภาคม 2551 ยังชะลอตัวแต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนส่วนหนึ่ง เนื่องจากรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในเขตจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ส่งผลให้มีการซื้อสินค้าคงทน เช่น รถจักรยานยนต์ เพิ่มขึ้น นอกจากนี้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มโดยรวมปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มในหมวดค้าส่งค้าปลีก ยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้า และรถจักรยายยนต์ สำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 ส่วนใหญ่เป็นการขยายตัวในรถที่ตอบสนองพลังงานทางเลือก (E20)
5. การลงทุนภาคเอกชน เดือนพฤษภาคม 2551 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อย โดยเครื่องชี้การ ลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ ค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่ดินเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.6 โดยส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายที่ดิน เปล่าที่มีพื้นที่เกิน 1 ไร่ ที่ยังคงชำระค่าธรรมเนียมการโอนในอัตราเดิมที่ร้อยละ 2 เนื่องจากมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นและ ฟื้นฟูภาคอสังหาริมทรัพย์ไม่ครอบคลุมถึง อย่างไรก็ดี ความสนใจลงทุนโดยเฉพาะในจังหวัดสำคัญลดลง โดยพื้นที่รับ อนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลลดลงร้อยละ 45.0 จากระยะเดียวกันปีก่อน ทั้งประเภทที่อยู่อาศัย เพื่อการพาณิชย์ โรงแรม และหอพัก เพราะราคาวัสดุก่อสร้างที่สูงขึ้นโดยเฉพาะเหล็ก สำหรับมูลค่าเงินลงทุนของกิจการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการ ลงทุนมีจำนวน 134.3 ล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 29.0 ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในหมวดอุตสาหกรรม เบา อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์
6. การเบิกจ่ายเงินงบประมาณผ่านคลังจังหวัดในภาคเหนือ เดือนพฤษภาคม 2551 มีการเบิกจ่าย ทั้งสิ้นจำนวน 10,709.9 ล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 38.4 โดยเป็นการลดลงของรายจ่ายลงทุนถึงร้อยละ 72.7 เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมามีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณอย่างต่อเนื่อง โดยรายจ่ายลงทุนที่ลดลงมากเป็นเงินอุดหนุนของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเชียงราย ลำพูน นครสวรรค์ กำแพงเพชรและสุโขทัย ขณะที่รายจ่ายประจำเพิ่มขึ้นร้อย ละ 5.5 ตามการเพิ่มขึ้นของหมวดเงินเดือนซึ่งมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 60 ของงบประจำมีการขยายตัวร้อยละ 6.4 ส่วนหนึ่งเป็น ผลจากการปรับฐานเงินเดือนของข้าราชการทุกระดับชั้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2550 เป็นต้นมา
7. การค้าต่างประเทศ เดือนพฤษภาคม 2551 การค้าผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือขยายตัวดีต่อเนื่อง จากเดือนก่อน โดยการส่งออกเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 24.1 เป็น 273.9 ล้านดอลลาร์ สรอ. ตามการส่งออก สินค้าอุตสาหกรรม โดยสินค้าส่งออกสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อัญมณี และ ชิ้นส่วนเครื่องจักรกล สำหรับการส่งออกผ่านด่านชายแดนเพิ่มขึ้นร้อยละ 63.4 เป็น 91.3 ล้านดอลลาร์ ตามการส่งออกไปพม่าที่เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว เนื่องจากพม่าประสบภัยธรรมชาติส่งผลให้มีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นที่สำคัญคือ สังกะสี น้ำมันพืช และ น้ำมันเชื้อเพลิง การส่งออกไปลาวเพิ่มขึ้นร้อยละ 68.0 ตามการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง และวัสดุก่อสร้าง ส่วนการส่งออกไปจีน ตอนใต้ลดลงร้อยละ 33.7 ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ตามการส่งออกยางแผ่นรมควันที่ลดลง
การนำเข้า ผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 37.0 เป็น 162.1 ล้าน ดอลลาร์ สรอ. ตามการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.8 โดยเฉพาะวัตถุดิบเพชรเพื่อเจียระไน และ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้การนำเข้าสินค้าทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.8 ตามการนำเข้าแก้วและส่วนประกอบเครื่องจักร ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ส่วนการนำเข้าผ่านด่านชายแดนลดลงร้อยละ 2.7 จากการนำเข้าจากจีนตอนใต้และลาวที่ลดลงร้อยละ 24.2 และร้อยละ 12.5 ตามลำดับ สินค้าสำคัญที่ลดลงได้แก่ ธัญพืช อาหารสัตว์ และไม้แปรรูป ด้านการนำเข้าจากพม่าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 29.6 จากสินค้าเฟอร์นิเจอร์และสิ่งประดิษฐ์ที่ทำจากไม้
ดุลการค้า ในเดือนพฤษภาคม 2551 เกินดุล 111.8 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน และเดือนก่อนที่เกินดุล 102.4 ล้านดอลลาร์ สรอ. และ 31.5 ล้านดอลลาร์ สรอ. ตามลำดับ
8. ระดับราคา เดือนพฤษภาคม 2551 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4 เร่งตัวจากเดือน ก่อนและระยะเดียวกันปีก่อน ตามการเร่งตัวในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเป็นสำคัญ โดยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 18.8 จากราคา ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้งที่เร่งตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนถึงร้อยละ 32.1 นอกจากนี้ ราคาผักและผลไม้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.8 เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหายจากภาวะฝนตกชุก และราคาเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.4 สำหรับหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 ตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น ส่วน ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.5 เทียบกับที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 เดือนก่อน
9. การจ้างงาน จากข้อมูลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในเดือนเมษายน 2551 กำลังแรงงานรวม ของภาคเหนือมีจำนวน 6.649 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 6.486 ล้านคน คิดเป็นอัตราการมีงานทำเท่ากับร้อยละ 97.5 โดย แรงงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 ตามการขยายตัวของแรงงานในสาขาการก่อสร้าง สาขาค้าส่ง/ปลีก และการผลิตที่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.3 ร้อยละ 4.5 และร้อยละ 0.8 ตามลำดับ ส่วนแรงงานภาคเกษตรลดลงร้อยละ 5.0 ทางด้านผู้ว่างงานมี จำนวน 0.100 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 1.5 ต่ำกว่าร้อยละ 2.2 ระยะเดียวกันปีก่อน
สำหรับผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 เพียงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2551 มีจำนวน 0.596 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 จากระยะเดียวกันปีก่อน
10. การเงิน ธนาคารพาณิชย์ในภาคเหนือมียอดเงินฝากคงค้าง ณ สิ้นเดือนเมษายน 2551 ทั้งสิ้น 364,649 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 7.1 เร่งตัวจากเดือนก่อนและระยะเดียวกันปีก่อน โดยเงินฝาก เพิ่มขึ้นในทุกจังหวัดจากการเพิ่มขึ้นของเงินฝากส่วนราชการ เช่นในเขตภาคเหนือตอนบนเพิ่มขึ้นมากที่จังหวัดเชียงใหม่และ ลำปาง ส่วนภาคเหนือตอนล่างเพิ่มขึ้นมากที่นครสวรรค์และกำแพงเพชร สำหรับเงินให้สินเชื่อ มียอดคงค้าง 296,785 ล้าน บาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 7.1 ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อส่วนบุคคลและสหกรณ์ออมทรัพย์ โดยสินเชื่อเพิ่มขึ้น มากที่จังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก แพร่และนครสวรรค์ สำหรับสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 81.4 เท่ากับระยะเดียวกัน ปีก่อน
ข้อมูลเพิ่มเติม : คุณสุวีวรรณ เลิศวิภาภัทร โทร 0 5393 1164 e-mail : Suweewal@bot.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ