ในวันนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดโครงการ “ธนาคารแห่งประเทศไทย พบสถาบันการเงิน” ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปีที่ ธปท. เพื่อให้ผู้ว่าการ รองผู้ว่าการ และผู้บริหาร ธปท. กับผู้แทนจากสมาคมธนาคารไทยและสถาบันการเงินสมาชิก ได้มีโอกาสสื่อสารและหารือร่วมกันเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงินและสถาบันการเงิน ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นอันจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของทั้งธปท.และสถาบันการเงิน รวมทั้งการเสริมสร้างความแข็งแกร่งและพัฒนาศักยภาพของระบบสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่อง
สรุปประเด็นหลักของการหารือร่วมกันในครั้งนี้ ดังนี้
1. ภาวะเศรษฐกิจในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2551 ยังมีความเข้มแข็งเมื่อพิจารณาจากการขยายตัวของภาคการผลิตและรายได้ โดยเฉพาะในภาคการเกษตร ทั้งนี้ ธุรกิจมีความกังวลเกี่ยวกับต้นทุน การผลิตที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และการขยายตัวด้านการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง อย่างไรก็ดี มีแรงกดดันด้านเงินเฟ้ออย่างชัดเจนจากราคาพลังงาน ขณะที่อุปสงค์และการจ้างงานยังอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้ต้องติดตามสภาวะการณ์อย่างใกล้ชิดและดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคอย่างระมัดระวังต่อไป
2. ภาพรวมการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ไทยในไตรมาสแรกของปี 2551 ยังคงแข็งแกร่ง โดยธนาคารพาณิชย์ได้ปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลได้อย่างดี ในระยะต่อไปจำเป็นต้องติดตามความเสี่ยงด้านสินเชื่ออันเนื่องจากคุณภาพของสินทรัพย์ ซึ่งอาจได้รับแรงกดดันจากความผันผวนของต้นทุนและรายได้ธุรกิจตามภาวะเศรษฐกิจ ความเสี่ยงด้านตลาดจากผลกระทบของปัญหาเงินเฟ้อและความผันผวนของตลาดการเงินโลก รวมถึงด้านการบริหารสภาพคล่องและแหล่งเงินทุน (Funding) ให้มีเสถียรภาพเพื่อรองรับการปรับตัวของตลาดการเงินและจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก
3. ความคืบหน้าด้านนโยบายสถาบันการเงิน ที่สำคัญคือ
3.1 ธปท. อยู่ในระหว่างการปรับปรุงประกาศหนังสือเวียนให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. ธุรกิจสถาบันการเงินฉบับใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 3 สิงหาคม ศกนี้ ซึ่งกำหนดแนวทางการกำกับดูแลสถาบันการเงินให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและรองรับการแข่งขันที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในระยะต่อไป ในการปรับปรุงประกาศหนังสือเวียนและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ธปท. ได้หารือด้านแนวทางการปฎิบัติกับผู้แทนของธนาคารพาณิชย์แล้ว จึงคาดว่าธนาคารพาณิชย์จะสามารถดำเนินงานภายใต้ พ.ร.บ. ฉบับใหม่ได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ สอดคล้องตาม พ.ร.บ. ฉบับใหม่นี้ได้อย่างดี
3.2 การปรับเปลี่ยนไปใช้มาตรฐานการกำกับและการดำเนินงานตามหลักเกณฑ์ Basel II และมาตรฐานการบัญชี IAS 39 ยังคงดำเนินการต่อเนื่องตามตารางเวลาที่ได้กำหนดไว้ สำหรับแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่สองนั้นมีเป้าหมายในการส่งเสริมประสิทธิภาพของระบบสถาบันการเงินด้วยการลดต้นทุนของระบบจากกฎระเบียบของทางการและการลดสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ เพิ่มการแข่งขันและส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันการเงิน ซึ่งรวมถึงด้านการบริหารความเสี่ยง ระบบข้อมูลเพื่อบริหารความเสี่ยง กฎหมายการเงิน การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และด้านบุคลากรทางการเงิน ซึ่ง ธปท. จะได้นำร่างของแผนพัฒนาดังกล่าวหารือกับสถาบันการเงินต่อไป