สรุปภาวะเศรษฐกิจสำคัญในภาคใต้ เดือนกรกฎาคม 2550

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 24, 2007 15:53 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

          เศรษฐกิจภาคใต้เดือนกรกฎาคมชะลอตัว  โดยผลผลิตทางการเกษตรลดลงตามผลผลิต  ยางพารา ปาล์มน้ำมัน  และประมง  ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอลงต่อเนื่อง  ขณะที่  นักท่องเที่ยวยังคงลดลงแต่มีแนวโน้มดีขึ้น  ทางด้านการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคและการลงทุน  ภาคเอกชนขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง  ส่วนการส่งออกลดลง  สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอตัวลง  ต่อเนื่อง
ภาคเกษตรกรรม
เดือนกรกฎาคมนี้ ผลผลิตพืชผลสำคัญลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.4 ตาม ผลผลิตยางและปาล์มน้มันที่ลดลงร้อยละ 0.3 และ 0.9 ตามลำดับ ขณะเดียวกันราคาพืชผลหลัก เฉลี่ยลดลงร้อยละ 21.1 เนื่องจากราคายางพาราปรับลดลงร้อยละ 25.2 อันเป็นผลจากฐานราคา ยางพาราปีก่อนอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรจากการจำหน่ายพืชผลหลักเดือนนี้ลดลง ร้อยละ 21.5
การทำประมงทะเลอยู่ในช่วงฤดูมรสุม ทำให้จับสัตว์น้ำได้ลดลง โดยปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้น ท่าเทียบเรือขององค์การสะพานปลาในภาคใต้ เดือนนี้มีจำนวน 25,940.0 เมตริกตัน ลดลงจากเดือน เดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.1 โดยมีมูลค่าสัตว์น้ำรวม 964.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 ทั้งนี้เนื่องจาก ราคาสัตว์น้ำหลายประเภทที่ท่าเทียบเรือจังหวัดปัตตานีปรับสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะปลาเลยมีราคาเฉลี่ยสูงขึ้นถึงร้อยละ 31.9
การเพาะเลี้ยงกุ้ง ผลผลิตกุ้งขาวยังเข้าสู่ตลาดต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นกุ้งขนาด 45-60 ตัว ต่อกิโลกรัม ขณะที่กุ้งขนาดเล็ก (70-100 ตัวต่อกิโลกรัม) เริ่มมีน้อยลง ส่งผลให้ราคากุ้งขนาดเล็ก เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 20-25 แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนราคายังคง ลดลงทุกขนาด โดยกุ้งขาวขนาด 50 70 และ 90 ตัวต่อกิโลกรัม เฉลี่ยกิโลกรัมละ 100.78 85.13 และ 74.22 บาท1 ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 25.3 21.1 และ 22.9 ตามลำดับ ทำให้ เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งได้รับความเดือนร้อน โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย ที่ตลาดมหาชัย ราคาซื้อขายหน้าฟาร์มโดยประมาณ จะสูงกว่า 10 - 15 บาทต่อขนาดกุ้ง อนึ่ง เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2550 คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือ เกษตรกร (คชก.) ได้มีมติอนุมัติให้ดำเนินการแก้ไขปัญหากุ้งขาวแวนนาไมปี 2550 โดยวิธีการรับ จำนำกุ้งขาวแวนนาไมจำนวน 10,000 ตัน เกษตรกรจำนำได้ไม่เกินรายละ 2,000,000 บาท โดยมี ระยะเวลารับจำนำตั้งแต่เดือนสิงหาคม ตุลาคม 2550
ภาคอุตสาหกรรม
ภาวะอุตสาหกรรมโดยรวมของภาคใต้ชะลอตัวต่อเนื่อง โดยการผลิตในอุตสาหกรรม ยางพาราขยายตัวในอัตราใกล้เคียงกับเดือนก่อน ส่วนผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบลดลงร้อยละ 8.1 ตาม ปริมาณวัตถุดิบ ขณะเดียวกันอาหารบรรจุกระป๋อง สัตว์น้ำแปรรูปและแช่แข็ง (ยกเว้นด่านศุลกากร สะเดา) และถุงมือยาง มีปริมาณส่งออกลดลงร้อยละ 36.8 26.9 และ 14.3 ตามลำดับ ตามการ ชะลอซื้อของตลาดต่างประเทศ และวัตถุดิบที่น้อยลง อย่างไรก็ดี ไม้ยางพาราแปรรูปและเฟอร์นิเจอร์ มีปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5
การท่องเที่ยว
การท่องเที่ยวของภาคใต้ในเดือนกรกฎาคมยังคงหดตัว แต่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยนักท่องเที่ยว ชาวต่างประเทศเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองภาคใต้จำนวนประมาณ 207,318 คน ลดลงจาก เดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 5.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนที่ลดลงร้อยละ 17.9 โดยจังหวัดสงขลาแม้ นักท่องเที่ยวลดลงร้อยละ 34.0 แต่ก็ดีขึ้นเมื่อเทียบกับที่ลดลงร้อยละ 46.1 จากการทำตลาดในงาน MATTA Fair Penang และโครงการหาดใหญ่ไบค์วีค 2007 ขณะเดียวกันการท่องเที่ยวทางภาคใต้ ฝั่งตะวันตกยังคงได้รับความนิยมแม้อยู่ในช่วงกรีนซีซัน จากการทำตลาดเพื่อส่งเสริมให้มีการ ท่องเที่ยวตลอดทั้งปี รวมทั้งจัดงาน Halal Food Hilal Town เพื่อดึงนักท่องเที่ยวชาวตะวันออก กลาง กอปรกับมีการเปิดสายการบินชาร์เตอร์ไฟล์ระหว่างกรุงโซล - ภูเก็ต ทำให้มีนักท่องเที่ยวชาว ออสเตรเลีย เกาหลี จีน และ ซาอุดิอารเบีย เดินทางเข้ามามากขึ้น ส่งผลให้เดือนนี้มีนักท่องเที่ยว ชาวต่างชาติเดินทางผ่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดภูเก็ตเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.7 ปรับตัวดีขึ้นจากอัตรา เพิ่มร้อยละ 17.9 ในเดือนก่อน
การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน
การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชนโดยรวมชะลอลง จากปัจจัยลบด้านภาวะ เศรษฐกิจที่ชะลอตัว ความไม่แน่นอนทางการเมือง เหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดน ภาคใต้ และราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายลดลง สะท้อนจากเครื่องชี้ การบริโภคที่สำคัญ ได้แก่ การจดทะเบียนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล และรถจักรยานยนต์ ลดลงร้อยละ 14.7 และ 29.9 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การจดทะเบียนใหม่รถยนต์ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 และ จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1
การลงทุนภาคเอกชน
การลงทุนยังคงชะลอตัว โดยได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และการเมืองที่ ยังไม่ชัดเจน รวมทั้งการระมัดระวังในการให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ทั้งนี้ การลงทุนในภาคการ ก่อสร้างลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนนี้พื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างในเขตเทศบาลเมือง เทศบาลนคร และเทศบาลตำบล (รวม 29 แห่ง) ลดลงร้อยละ 26.8 ด้านการจดทะเบียนธุรกิจ นิติบุคคลจำนวนราย ลดลงร้อยละ 13.3 แต่เงินทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 56.3 ส่วนใหญ่เป็น ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจโรงแรมห้องพักและธุรกิจภัตตาคาร และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยมี การจดทะเบียนธุรกิจมากที่จังหวัดภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี เป็นสำคัญ ส่วนกิจการที่ได้รับการ ส่งเสริมจากบีโอไอมี 5 ราย เงินลงทุนรวม 328.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 150.0 และ 50.5 ตามลำดับ ในจำนวนนี้มีโครงการผลิตยิบซัม ที่จังหวัดสงขลา ที่มีเงินลงทุนสูงถึง 140.0 ล้านบาท
การจ้างงาน
ในเดือนนี้มีผู้ประกอบการแจ้งความต้องการแรงงานผ่านสำนักงานจัดหางานจังหวัดใน ภาคใต้ทั้งสิ้น 3,405 อัตรา ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 24.3 โดยส่วนใหญ่เป็นความ ต้องการจากอุตสาหกรรมการขายปลีกขายส่ง รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมการผลิต ได้แก่ธุรกิจแปรรูป อาหารทะเล จังหวัดที่มีความต้องการแรงงานมากได้แก่ จังหวัดสตูล ระนอง และนครศรีธรรมราช ด้านผู้สมัครงานเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 19.1 และได้รับการบรรจุงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.1 ส่วนใหญ่เป็นการบรรจุงานในจังหวัดภูเก็ต พังงา และตรัง เป็นสำคัญ ส่งผลให้จำนวนผู้เข้า ประกันตนที่เข้าโครงการประกันสังคมเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.2
ระดับราคา
เดือนกรกฎาคม 2550 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของภาคใต้อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ชะลอลงจากร้อยละ 1.5 ในเดือนก่อน โดยสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 ตามการเพิ่มขึ้นของ ข้าวสารเหนียว ผักและผลไม้ เป็ดไก่ ไข่และผลิตภัณฑ์นม และปลาและสัตว์น้ำ ส่วนสินค้าใน หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 จากการเพิ่มขึ้นของหมวดค่าโดยสาร สาธารณะ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.2 เร่งตัวขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 1.1 ในเดือนก่อน
การค้าต่างประเทศ
ในเดือนนี้มีมูลค่าส่งออกรวม 820.6 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 14.3 ตามการส่งออกสัตว์น้ำแช่แข็ง อาหารทะเลกระป๋อง ยางพารา และถุงมือยาง ที่ลดลง ร้อยละ 31.7 25.9 20.8 และ 7.6 ตามลำดับ ขณะที่มูลค่าการนำเข้า มีจำนวน 424.9 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนถึงร้อยละ 46.5 ตามการนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์ น้ำมัน เชื้อเพลิง และสัตว์น้ำแช่แข็ง เป็นสำคัญ
ภาคการคลัง
การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการต่าง ๆ ในภาคใต้ มีจำนวน 9,144.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.5 ตามการเพิ่มขึ้นของการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของ คลังจังหวัดสงขลา ยะลา ปัตตานี ชุมพร และพัทลุง เป็นสำคัญ ส่วนการจัดเก็บภาษีเงินได้มี จำนวน 2,089.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 8.3 ตามการจัดเก็บภาษีสรรพากร และภาษีศุลกากร ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.9 และ 3.7 ตามลำดับ ขณะที่จัดเก็บภาษีสรรพสามิต ลดลง ร้อยละ 18.7 ตามการลดลงของภาษีหมวดน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน และหมวดสุรา ที่ลดลงร้อยละ 28.4 และ 6.5เป็นสำคัญ
ภาคการเงิน
ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม เงินฝากคงค้างของสาขาธนาคารพาณิชย์ คาดว่ามีจำนวนรวม 394,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 9.1 จังหวัดที่มีการขยายตัวของเงินฝากใน อัตราสูง ได้แก่จังหวัดกระบี่ นครศรีธรรมราช และภู เก็ต โดยส่วนใหญ่เป็นการขยายตัวในเงินฝาก ประเภทออมทรัพย์ ด้านสินเชื่อคงค้างมีจำนวนประมาณ 319,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือน เดียวกันปีก่อนร้อยละ 13.0 โดยจังหวัดที่มีการขยายตัวของสินเชื่อสูง ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และภูเก็ต ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อประเภทเงินกู้ เป็นสำคัญ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ