สรุปภาวะเศรษฐกิจสำคัญในภาคใต้ เดือนเมษายน 2550

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 25, 2007 16:03 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

          เศรษฐกิจภาคใต้เดือนเมษายน 2550  ชะลอตัวต่อเนื่อง แม้ว่ารายได้ของเกษตรกรจะ เพิ่มขึ้นก็ตาม  เนื่องจากความไม่เชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนจากปัญหาสถานการณ์การเมือง  และความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  ทำให้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังคงชะลอ  ตัว รวมทั้งการส่งออกที่ขยายตัวเพียงเล็กน้อย  ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.3 ใกล้เคียงกับ เดือนก่อน 
ภาคเกษตรกรรม
เดือนเมษายน รายได้ของเกษตรกรจากการจำหน่ายพืชผลหลักปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 เป็นผลจากปริมาณผลผลิตสำคัญเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 11.7 ส่วนราคาพืชผลหลัก ลดลงร้อยละ 0.2 เป็นผลจากราคายางแผ่นดิบที่เกษตรกรขายได้ลดลงร้อยละ 3.0 เป็นเฉลี่ยกิโลกรัม ละ 75.33 บาท อย่างไรก็ตาม ราคาพืชผลเกษตรที่สำคัญปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนก่อนที่ลดลง ร้อยละ 6.0 ตามราคาปาล์มน้ำมันที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นสำคัญ
ด้านประมงทะเล ชะลอลงโดยปริมาณสัตว์น้นำขึ้นที่ท่าเทียบเรือขององค์การสะพานปลา ในภาคใต้ในเดือนนี้มีจำนวน 23,450.1 เมตริกตัน มูลค่า 927.30 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือน เดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.8 และ 15.2 ตามลำดับ ตามการเพิ่มขึ้นของปริมาณสัตว์น้ำของจังหวัด สงขลา ภูเก็ต และระนอง เป็นสำคัญ
ส่วนการเพาะเลี้ยงกุ้ง ผลผลิตกุ้งเริ่มออกสู่ตลาดมากขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยเฉพาะที่จังหวัดสงขลา สุราษฎร์ธานี และกระบี่ เนื่องจากเกษตรกรมีการจับเพื่อจำหน่ายในช่วง ปลายเดือน ส่วนหนึ่งเป็นไปตามฤดูกาล ประกอบกับในบางจังหวัดมีโรคระบาดกุ้งเกษตรจึงเร่งจับ เพื่อจำหน่าย ทำให้กุ้งส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก ส่งผลให้ราคากุ้งขนาดตั้งแต่ 70 ตัวขึ้นไปต่อกิโลกรัมปรับ ลดลงมาก โดยเฉพาะกุ้งขนาด 100 ตัวต่อกิโลกรัม ราคาลดลงจากเดือนก่อน และเดือนเดียวกันปี ก่อนร้อยละ 19.3 และ 31.8 ตามลำดับ ขณะที่กุ้งขนาด 50 ตัวต่อกิโลกรัมมีผลผลิตออกจำหน่าย น้อย ทำให้ราคากุ้งขาวที่ตลาดมหาชัยเฉลี่ยกิโลกรัมละ 125.58 บาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.5 แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนลดลงร้อยละ 24.1 ตามภาวะการส่งออก
ภาคอุตสาหกรรม
ภาวะอุตสาหกรรมโดยรวมของภาคใต้ในเดือนเมษายนลดลงต่อเนื่อง ตามการส่งออก โดยปริมาณการส่งออกยางพาราลดลงร้อยละ 14.4 เนื่องจากตลาดหลักชะลอการซื้อ ขณะเดียวกัน ปริมาณส่งออกถุงมือยางลดลงร้อยละ 10.1 จากข้อจำกัดด้านราคาวัตถุดิบที่อยู่ในระดับสูง และไม้ ยางพาราแปรรูปและเฟอร์นิเจอร์ส่งออกลดลงร้อยละ 2.1 เนื่องจากจีนซึ่งเป็นตลาดหลักชะลอการ นำเข้าและหันไปใช้ไม้เนื้อแข็งจากรัสเซียแทน นอกจากนั้น ปริมาณการส่งออกสัตว์น้ำแช่แข็ง (ไม่รวมด่านศุลกากรสะเดา) และอาหารบรรจุกระป๋อง ปรับลดลงร้อยละ 15.2 และ 0.2 ตามลำดับ ตามต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนผลผลิตน้ำมันปาล์มลดลงร้อยละ 58.9 ตามเปอร์เซ็นต์การให้น้ำมัน และปริมาณวัตถุดิบที่ลดลง
การท่องเที่ยว
ภาวะการท่องเที่ยวในเดือนเมษายน ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง มีนักท่องเที่ยวชาว ต่างประเทศเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้ประมาณ 233,830 คน เพิ่มขึ้นจากเดือน เดียวกันปีก่อนเพียงร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนซึ่งมีอัตราเพิ่มร้อยละ 13.0 ส่วนหนึ่งเป็น ผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่ยังมีต่อเนื่อง ทำให้นักท่องเที่ยวในจังหวัดสงขลาลดลงร้อยละ 27.4 ขณะที่การท่องเที่ยวทางฝั่งอันดามันยังคงมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น แต่ชะลอลงจากเดือนก่อน เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ช่วงกรีนซีซั่น
การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน
การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนของภาคใต้โดยรวมขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง แม้ว่าจะได้รับปัจจัยสนับสนุนด้านราคายางพารา และปาล์มน้ำมันที่อยู่ในเกณฑ์สูง ตลอดจนอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลงก็ตาม เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น ปัญหาสถานการณ์ทางการเมือง และเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงส่งผลกระทบต่อระดับความเชื่อมั่นของ ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง โดยเครื่องชี้สำคัญได้แก่ การจดทะเบียนรถยนต์เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.0 ส่วนการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และปริมาณการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 และ 9.9 ในอัตราที่ ชะลอลง ขณะที่การจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ลดลงร้อยละ 14.5
การลงทุนภาคเอกชน
การลงทุนภาคเอกชนโดยรวมในเดือนนี้ชะลอลง จากแรงกดดันด้านภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และความไม่แน่นอนทางการเมือง ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดย ในเดือนนี้พื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างในเขตเทศบาลลดลงร้อยละ 7.4 ขณะเดียวกันการจด ทะเบียนธุรกิจนิติบุคคลมีจำนวนรายและเงินลงทุนลดลงร้อยละ 35.7 และ 31.2 ตามลำดับ อย่างไรก็ ดี กิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนมีจำนวน 7 โครงการ เงินลงทุน 4,615 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.7 และ 280.6 ตามลำดับเป็นโครงการในภาคใต้ตอนบนทั้งสิ้น
การจ้างงาน
ในเดือนเมษายนนี้ มีผู้ประกอบการแจ้งความต้องการแรงงานผ่านสำนักงานจัดหางาน จังหวัดในภาคใต้ทั้งสิ้น 3,360 อัตรา ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 32.3 ส่วนใหญ่เป็นความ ต้องการแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิต รองลงมาเป็นกิจการในอุตสาหกรรมขายปลีก-ขายส่ง โดยมี ผู้สมัครงาน และได้รับการบรรจุงานจำนวน 7,641 คน และ 3,161 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 56.1 และ 25.4 ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาร้อยละ 41.2 รองลงมาเป็นระดับปริญญาตรีขึ้นไปร้อยละ 24.3 สำหรับจังหวัดที่มีการบรรจุงานมาก ได้แก่ จังหวัด นราธิวาส ยะลา และสงขลา เพิ่มขึ้นร้อยละ 339.2 130.8 และ 112.5 ตามลำดับ ซึ่งเป็นการ จ้างงานของภาครัฐ
ระดับราคา
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของภาคใต้เดือนเมษายน 2550 อยู่ที่ร้อยละ 2.3 โดยดัชนีราคาหมวด อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 ตามการเพิ่มขึ้นของข้าวสารเหนียว ผักผลไม้ สัตว์น้ำและ น้ำอัดลม ส่วนหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 เป็นการเพิ่มขึ้นของค่า โดยสารสาธารณะ และค่ากระแสไฟฟ้า จากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับอัตราเงินเฟ้อ พื้นฐานของภาคใต้ เดือนเมษายน 2550 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 เท่ากับเดือนก่อนหน้า
การค้าต่างประเทศ
เดือนนี้มีมูลค่าการส่งออก 751.5 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.8 แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนลดลงร้อยละ 8.8 โดยสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ได้แก่ สัตว์น้ำ แช่แข็ง ไม้ยางพาราแปรรูป-เฟอร์นิเจอร์ และอาหารทะเลกระป๋องเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 6.9 และ 2.2 ตามลำดับ ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 392.6 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 41.7 เป็นการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์
ภาคการคลัง
ในเดือนเมษายน สามารถจัดเก็บภาษีได้จำนวน 2,445.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือน เดียวกันปีก่อนร้อยละ 22.9 ตามการจัดเก็บภาษีสรรพากรได้เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ โดยจัดเก็บได้จำนวน 2,140.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.5 รองลงมาเป็นภาษีสรรพสามิต และภาษีศุลกากร จัดเก็บได้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 และ 23.7 ตามลำดับ ด้านการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการต่าง ๆ ใน ภาคใต้ มีจำนวน 7,942.9 ล้านบาท ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 14.1 เนื่องจากมีการ เบิกจ่ายลดลงเกือบทุกคลังจังหวัด ยกเว้นคลังจังหวัดนครศรีธรรมราชที่มีการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 77.3
ภาคการเงิน
ณ สิ้นเดือนเมษายนนี้ คาดว่า สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์มีจำนวนประมาณ 314,500 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากสิ้นเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 16.4 สินเชื่อที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นสินเชื่อของ ธนาคารพาณิชย์ใหม่ อย่างไรก็ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโดยรวม ความไม่แน่นอนทางการเมือง และเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยังคงเป็นปัจจัยที่ ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของสินเชื่อ ส่วนเงินฝากคาดว่ามีจำนวนประมาณ 387,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 8.3

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ