สรุปภาวะเศรษฐกิจสำคัญในภาคใต้ เดือนมีนาคม 2550

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 27, 2007 15:46 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

          เศรษฐกิจภาคใต้เดือนมีนาคม  2550  ชะลอตัวลง จากปัจจัยลบด้านราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น ความไม่แน่นอนทางการเมือง  และปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  ส่งผลให้การใช้  จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว  ขณะเดียวกัน การ ส่งออก  ลดลง  มีเพียงการใช้จ่ายของภาครัฐเท่านั้นที่ยังขยายตัว  ด้านการผลิต  ผลผลิตพืชผลหลักเพิ่มขึ้น ส่วนประมง และการท่องเที่ยวขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง สำหรับอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 2.2 ชะลอลงจากร้อยละ 2.6 ในเดือนก่อน
ไตรมาสแรกปีนี้ เศรษฐกิจภาคใต้โดยรวมชะลอลง เป็นผลจากการใช้จ่ายภาคเอกชนและ การลงทุนชะลอตัวลง ตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน ขณะเดียวกันการส่งออกขยายตัว ในอัตราที่ชะลอลงเช่นกัน ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้น ด้านการผลิต ผลผลิต ภาคเกษตรเพิ่มขึ้นทั้งพืชผลและประมง ส่วนการท่องเที่ยวขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง แต่การผลิต ภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.7
รายละเอียดของแต่ละภาคเศรษฐกิจและการเงิน มีดังนี้
ภาคเกษตรกรรม
เดือนมีนาคมนี้ รายได้ของเกษตรกรจากการจำหน่ายพืชผลหลักเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 เป็น ผลจากผลผลิตสำคัญเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 14.6 จากการเพิ่มขึ้นของผลผลิต ยางพารา ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3 ด้านราคาพืชผลหลักลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 6.0 จาก การปรับลดลงของราคายางพารา เป็นสำคัญ
ด้านประมงทะเล เดือนนี้ปรับตัวดีขึ้น แม้จะอยู่ในช่วงฤดูปิดอ่าว โดยทางฝั่งทะเลอันดามัน ยังคงจับสัตว์น้ำได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณและมูลค่าสัตว์น้ำนำขึ้นที่ท่าเทียบเรือของ องค์การสะพานปลาในภาคใต้เดือนนี้มีจำนวน 27,314.77 เมตริกตัน มูลค่า 1,194.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 14.7 และ 31.9 ตามลำดับ ทั้งนี้ เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของ ปริมาณสัตว์น้ำในจังหวัดสงขลา ระนอง และภูเก็ต เป็นสำคัญ
การเพาะเลี้ยงกุ้ง ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อน แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจาก ภาวะภัยแล้ง ทำให้กุ้งโตช้า และเกิดโรคระบาดอาทิ โรคตัวแดงดวงขาว โรคหัวเหลือง ในหลายพื้นที่ก็ตาม ขณะที่ตลาดหลัก อาทิ สหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ชะลอการซื้อ รวมทั้งปัจจัยเรื่อง ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ราคากุ้งขาวขนาด 50 ตัวต่อกิโลกรัม ที่ตลาดมหาชัยในเดือนมีนาคมนี้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 123.77 บาท ลดลงจากเดือนก่อนและเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.2 และ 22.8 ตามลำดับ
ไตรมาสแรกปีนี้ ผลผลิตพืชผลหลักเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิต ยางพาราและปาล์มน้ำมัน ด้านราคาพืชผลหลักลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 1.7 เนื่องจากราคายางพารา แผ่นดิบปรับลดลง ตามอุปสงค์ของตลาดต่างประเทศ ส่งผลให้รายได้เกษตรกรจากการจำหน่าย พืชผลหลักเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 ขณะที่ไตรมาสก่อนลดลงร้อยละ 4.0 ทางด้านประมงทะเลปรับตัวดีขึ้น ชาวประมงจับสัตว์น้ำได้มากขึ้นโดยเฉพาะทางฝั่งทะเลอันดามัน ส่งผลให้ปริมาณและมูลค่าสัตว์น้ำนำ ขึ้นที่ท่าเทียบเรือในภาคใต้ในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 19.6 และ 30.7 ตามลำดับ สำหรับผลผลิตกุ้งเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน แต่มีปริมาณไม่มากเท่าที่ควร เนื่องจาก ได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง ทำให้เกิดปัญหาโรคระบาด กอปรกับตลาดหลักชะลอการซื้อ และ อัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ราคากุ้งปรับลดลงทุกขนาด อย่างไรก็ตาม คาดว่า ปริมาณผลผลิตกุ้ง จะเพิ่มมากขึ้นประมาณปลายไตรมาส 2
ภาคอุตสาหกรรม
ภาวะอุตสาหกรรมโดยรวมของภาคใต้ในเดือนมีนาคมลดลงตามการส่งออก โดยปริมาณ การส่งออกยางพาราลดลงร้อยละ 11.0 เนื่องจากตลาดหลัก คือจีน และญี่ปุ่นชะลอการซื้อยางแผ่น รมควัน และจีนหันไปซื้อยางแท่งจากอินโดนีเซียที่มีราคาต่ำกว่าแทน ขณะเดียวกันถุงมือยางปริมาณ การส่งออกลดลงร้อยละ 6.2 เนื่องจากมีปัญหาต้นทุนวัตถุดิบอยู่ในระดับสูง แม้ว่าตลาดโลกยังมี ความต้องการอย่างต่อเนื่องก็ตาม ส่วนไม้ยางแปรรูปส่งออกลดลงร้อยละ 24.3 ตามภาวะเศรษฐกิจ ตลาดหลัก ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปที่ชะลอตัวลง นอกจากนี้ ผลผลิต น้ำมันปาล์ม ลดลงร้อยละ 49.4 ตามปริมาณวัตถุดิบ และเปอร์เซนต์การให้น้ำมัน ขณะเดียวกัน สัตว์น้ำแช่แข็งปริมาณส่งออกลดลงร้อยละ 18.8 อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมอาหารทะเลกระป๋อง ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.7 เนื่องจากความต้องการอาหารสัตว์บรรจุกระป๋องที่ขยายตัวดี ขึ้นในตลาดหลักคือ ประเทศญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา
ไตรมาสแรกปีนี้ ภาวะอุตสาหกรรมโดยรวมของภาคใต้ลดลง โดยผลผลิตน้ำมันปาล์ม ลดลงร้อยละ 5.6 ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง ไม้ยางแปรรูป ถุงมือยาง และ สัตว์น้ำแช่แข็ง การผลิตลดลงตามความต้องการของตลาดต่างประเทศ โดยปริมาณการส่งออกลดลง ร้อยละ 2.6 4.5 10.1 และ 12.8 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมอาหารบรรจุกระป๋องการผลิต ขยายตัวตามการส่งออกที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8
การท่องเที่ยว
ภาวะท่องเที่ยวภาคใต้ในเดือนมีนาคมขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยมีนักท่องเที่ยวชาว ต่างประเทศเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้ทั้งสิ้น 256,503 คน เพิ่มขึ้นจากเดือน เดียวกันปีก่อนร้อยละ 13.0 ชะลอลงจากร้อยละ 31.5 ในเดือนก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจาก นักท่องเที่ยวในจังหวัดสงขลาลดลงมากถึงร้อยละ 22.7 ผลจากเหตุการณ์วางระเบิดที่อำเภอ หาดใหญ่ และเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง กอปรกับเดือนนี้ ไม่ตรงกับช่วงเทศกาล
ไตรมาสแรกปีนี้ ภาวะท่องเที่ยวภาคใต้ช่วงไตรมาสแรกปีนี้ ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้ 829,392 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนถึงร้อยละ 17.3 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 22.9 ส่วน ใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวทางภาคใต้ฝั่งตะวันตก เป็นสำคัญ ส่วนภาคใต้ตอนล่าง นักท่องเที่ยวลดลง โดยจังหวัดสงขลาลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 8.0 สำหรับอัตราเข้า พักในไตรมาสแรกปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 67.6
การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน
ในเดือนมีนาคม การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของภาคใต้ชะลอลง เนื่องจากภาวะ เศรษฐกิจชะลอตัว กอปรกับมีปัจจัยลบด้านสถานการณ์การเมืองที่ยังไม่นิ่ง เหตุการณ์ความไม่สงบที่ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ความเชื่อมั่นของ ผู้บริโภคลดลง สะท้อนจากเครื่องชี้การบริโภคที่สำคัญ ได้แก่ การจดทะเบียนใหม่รถยนต์ส่วนบุคคล และรถจักรยานยนต์ ลดลงร้อยละ 12.0 และ 21.3 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.9 และปริมาณการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9
ไตรมาสแรกปีนี้ การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคในไตรมาสแรก ปี 2550 ชะลอตัว โดย การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และปริมาณการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.4 และ 4.0 ตามลำดับ ตามปัจจัยบวกด้านการท่องเที่ยวทางฝั่งอันดามัน ขณะที่การจดทะเบียนรถยนต์ และ รถจักรยานยนต์ ลดลงร้อยละ 6.3 และ 10.1 ตามลำดับ จากปัจจัยลบด้านความไม่แน่นอนทาง การเมือง และปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ทำให้มีการระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น
การลงทุนภาคเอกชน
การลงทุนภาคเอกชนโดยรวมในเดือนนี้ชะลอตัวลง โดยพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้ทำการ ก่อสร้างในเขตเทศบาลลดลงร้อยละ 19.3 ขณะเดียวกันการจดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคลจำนวนราย และเงินทุนจดทะเบียนลดลงร้อยละ 32.5 และ 5.6 ตามลำดับ ส่วนกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการ ลงทุนมีจำนวน 6 โครงการ ลดลงจาก 12 โครงการของเดือนเดียวกันปีก่อน แต่เงินลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.8 ในจำนวนนี้เป็นการลงทุนใหม่ 4 ราย และขยายโครงการ 2 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดทาง ภาคใต้ตอนบน เป็นการลงทุนในกิจการโรงแรม สนามบินพาณิชย์ และกิจการผลิตไฟฟ้า เป็นสำคัญ
ไตรมาสแรกปีนี้ การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลง จากปัจจัยลบด้านราคาน้ำมันที่มี แนวโน้มปรับสูงขึ้น การเมืองที่ยังไม่นิ่ง เหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนปัญหาการขาดแคลนแรงงาน พิจารณาจากเครื่องชี้ด้านการก่อสร้างเพิ่มขึ้นจากไตรมาส เดียวกัน ปีก่อนร้อยละ 6.7 ส่วนใหญ่เป็นการก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัย และบริการ ขณะที่การ ก่อสร้างเพื่อการพาณิชย์ลดลงร้อยละ 14.3 ด้านกิจการที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมีจำนวน ทั้งสิ้น 21 โครงการ ลดลงจาก 22 โครงการของไตรมาสเดียวกันปีก่อน ขณะที่เงินลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 45.5 แต่การจ้างงานคนไทยลดลงร้อยละ 57.8 ในจำนวนนี้เป็นการลงทุนในภาคใต้ตอนบน 13 โครงการ และภาคใต้ ตอนล่าง 8 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการในจังหวัดสงขลาถึง 6 โครงการ ส่วนการ จดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคลลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนทั้งจำนวนราย และเงินทุนจดทะเบียน โดยลดลงร้อยละ 31.5 และ 19.2 ตามลำดับ
การจ้างงาน
การจ้างงานผ่านสำนักงานจัดหางานจังหวัดยังคงลดลงต่อเนื่อง โดยเดือนนี้มีตำแหน่งงาน ว่าง 3,134 อัตรา และการบรรจุงานรวม 2,877 คน ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 62.3 และ 1.2 ตามลำดับ ส่วนใหญ่เป็นการบรรจุงานในอุตสาหกรรมขายปลีกขายส่ง และอุตสาหกรรมการผลิต เป็นสำคัญ โดยจังหวัดที่ต้องการแรงงานมากได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี สงขลา และ นครศรีธรรมราช ขณะที่จำนวนผู้สมัครงาน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 14.9
ไตรมาสแรกปีนี้ มีผู้ประกอบการแจ้งความต้องการแรงงานผ่านสำนักงานจัดหางาน จังหวัดในภาคใต้ทั้งสิ้น 10,293 อัตรา ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 53.2 โดยจังหวัดที่ ต้องการแรงงานส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดสุราษฏร์ธานี และสงขลา ส่วนผู้สมัครงาน และการบรรจุงาน มีจำนวนทั้งสิ้น 14,398 คน และ 6,960 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 และ 10.2 ตามลำดับ
ระดับราคา
ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของภาคใต้ เดือนมีนาคม 2550 อยู่ที่ร้อยละ 2.2 ชะลอลงอย่าง ต่อเนื่องจากร้อยละ 2.6 ในเดือนก่อน ทั้งนี้ เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในหมวดอาหาร และเครื่องดื่ม และหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 4.2 และ 1.0 ตามลำดับ สำหรับ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของภาคใต้ เดือนมีนาคม 2550 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 ชะลอลงจากร้อยละ 2.1 ใน เดือนก่อน
ไตรมาสแรกปีนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของภาคใต้ อยู่ที่ร้อยละ 2.7 ชะลอลงจากจากร้อยละ 3.6 ในไตรมาสก่อน โดยราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดอื่น ๆ ไม่รวมอาหารและ เครื่องดื่ม เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 และ0.8 ตามลำดับ โดยสินค้าสำคัญที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ สินค้าหมวด ข้าวสารเหนียว (58.7 %) หมวดผักและผลไม้ (20.1%) หมวดเครื่องประกอบอาหาร (4.7 %) และ หมวดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (4.6%) เป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของภาคใต้ อยู่ที่ร้อยละ 2.0 ชะลอลงเมื่อเทียบกับร้อยละ 2.5 ในไตรมาสก่อน
การค้าต่างประเทศ
เดือนนี้การส่งออกมีมูลค่า 815.6 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.3 ตามการลดลงของยางพารา ไม้ยางพาราแปรรูป และสัตว์น้ำแช่แข็ง ซึ่งลดลงร้อยละ 3.3 4.5 และ 19.7 ตามลำดับ ส่วนอาหารกระป๋อง และถุงมือยาง เพิ่มขึ้นร้อยละ 95.3 และ 11.1 สำหรับการ นำเข้ามีมูลค่า 486.8 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.7 ชะลอลงจากร้อยละ 40.5 ในเดือน ก่อน ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าสินค้าหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ และอุปกรณ์ก่อสร้าง เป็นสำคัญ
ไตรมาสแรกปีนี้ การค้าต่างประเทศของภาคใต้ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยมีมูลค่า ส่งออก 2,351.4 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีร้อยละ 5.1 ชะลอลงจากไตรมาส ก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 31.7 ขณะที่มีมูลค่าการนำเข้า 1,340.1 ล้านดอลลาร์สรอ. เพิ่มขึ้นจากไตรมาส เดียวกันปีก่อนร้อยละ 48.0 ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าสินค้าทุน
ภาคการคลัง
ในเดือนมีนาคมนี้ รายได้จากการจัดเก็บภาษีมีจำนวนทั้งสิ้น 3,054.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก เดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 15.9 ตามการจัดเก็บภาษีสรรพากร ภาษีศุลกากร และภาษีสรรพสามิต ที่จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 17.6 5.6 และ 2.9 เป็นสำคัญ ส่วนการเบิก จ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการต่าง ๆ ในภาคใต้ มีจำนวน 10,562.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 12.1 ตามการการเร่งเบิกจ่ายเงินของคลังจังหวัดกระบี่ นราธิวาส สตูล ชุมพร และสงขลา เป็นสำคัญ
ไตรมาสแรกปีนี้ การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการต่าง ๆ ในภาคใต้ มีจำนวน 31,951.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 23.7 เนื่องจากการเร่งเบิกจ่ายเงิน งบประมาณของคลังจังหวัด ได้แก่ คลังจังหวัดนครศรีธรรมราช (รวมคลังจังหวัด ณ อำเภอทุ่งสง และอำเภอปากพนัง) คลังจังหวัดสงขลา และคลังจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่เบิกจ่ายเพิ่มขึ้นจากไตรมาส เดียวกันปีก่อนร้อยละ 28.4 25.6 และ 31.0 ตามลำดับ ทั้งนี้ เนื่องจากพระราชบัญญัติงบประมาณ รายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2550 ที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่เดือนมกราคม 2550 ทำให้ในช่วง 3 เดือน แรกของปีงบประมาณ (ต.ค. - ธ.ค. 2549) ไม่มีการเบิกจ่ายงบลงทุนหรืองบพิเศษ และเบิกจ่ายได้ เพียงงบประจำเท่าที่จำเป็น โดยเริ่มมีการเบิกจ่ายในเดือนกุมภาพันธ์ 2550 เป็นต้นมา ทำให้ส่วนราชการ ต้องเร่งเบิกจ่ายให้ได้ตามเป้าที่วางไว้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
สำหรับรายได้จากการจัดเก็บภาษีอากร มีจำนวน 7,766.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส เดียวกันปีก่อนร้อยละ 21.6 ตามการจัดเก็บภาษีศุลกากร ภาษีสรรพากร และภาษีสรรพสามิต ได้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.2 22.8 และ 1.0 ตามลำดับ
ภาคการเงิน
ในเดือนมีนาคมนี้ คาดว่า มีเงินฝากคงค้างประมาณ 388,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือน เดียวกันปีก่อนร้อยละ 9.1 ชะลอลงจากร้อยละ 9.6 ในเดือนก่อน เนื่องจากธนาคารพาณิชย์เริ่มมีการ ปรับลดอัตราดอกเบี้ย ตามทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงต่อเนื่อง ส่วนสินเชื่อคงค้างมี จำนวนประมาณ 312,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.3 ใกล้เคียงกับเดือนก่อน
ไตรมาสแรกปีนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากมีแนวโน้มลดลงตามทิศทางของอัตราดอกเบี้ย นโยบายที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ธนาคารพาณิชย์มีการออกผลิตภัณฑ์การออมและการลงทุนใหม่ๆ เพื่อสนองความต้องการลูกค้าเพิ่มขึ้น ขณะที่การขยายสินเชื่อชะลอตัวลง ส่วนใหญ่จะเน้นกลุ่ม ลูกค้ารายเก่าที่มีประวัติทางการเงินดี และกลุ่มสินเชื่อที่มีแหล่งรายได้ที่แน่นอนเป็นหลัก ทั้งนี้ เป็นผล จากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ชะลอลง รวมทั้งปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ