เศรษฐกิจภาคใต้เดือนกุมภาพันธ์ 2550 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อน ด้านอุปสงค์ การใช้จ่ายภาคเอกชน และการส่งออกชะลอตัว ตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และ ความต้องการในตลาดต่างประเทศที่ลดลง อย่างไรก็ตาม การลงทุนยังขยายตัวดีในธุรกิจบริการ โดยเฉพาะภาคใต้ตอนบน รวมทั้งการใช้จ่ายภาครัฐเร่งตัวขึ้นมากในเดือนนี้ ทางด้านการผลิต ผลผลิตพืชผลเกษตรและประมงเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันภาวะการท่องเที่ยวยังขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง ทางด้านอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับร้อยละ 2.6 ชะลอลงจากร้อยละ 3.4 ในเดือนก่อน
ภาคเกษตรกรรม
เดือนกุมภาพันธ์ รายได้ของเกษตรกรจากการจำหน่ายพืชผลหลักปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 เนื่องจากราคาพืชผลสำคัญเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนที่ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 1.4 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคายางพารา และปาล์มน้ำมัน เป็นสำคัญ ส่วนผลผลิตพืชผลหลัก เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.7 แต่ลดลงจากเดือนก่อนเล็กน้อย เนื่องจากภาวะภัยแล้ง และเป็นช่วงฤดูยางผลัดใบ
ทางด้านประมงทะเล ชาวประมงส่วนหนึ่งเริ่มกลับมาทำประมงเพิ่มขึ้น เนื่องจากระยะนี้ เป็นฤดูการทำประมงได้ผลดี กอปรกับความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นหลังจากการหยุดของ เรือประมงในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ปริมาณและมูลค่าสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือขององค์การสะพาน ปลาในภาคใต้ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 24.3 และ 21.0 ตามลำดับ เป็นการเพิ่มขึ้นที่ท่าเทียบเรือประมงจังหวัดภูเก็ต สตูล สงขลาและระนอง
ด้านการเพาะเลี้ยงกุ้ง ผลผลิตกุ้งในเดือนนี้น้อยลง เนื่องจากเกษตรกรเพิ่งลงกุ้งรอบ ใหม่ กอปรกับผลจากภาวะภัยแล้ง ทำให้เกิดโรคระบาดแถบพื้นที่จังหวัดกระบี่ และหลายอำเภอใน จังหวัดตรัง ส่งผลให้ผู้เลี้ยงกุ้งทางฝั่งอันดามันชะลอการลงกุ้งรอบใหม่ คาดว่าจะลงกุ้งอีกครั้งราว ปลายเดือนมีนาคม ถึงต้นเดือนเมษายนนี้ ด้านราคากุ้งขาวขนาด 50 ตัวต่อกิโลกรัม ที่ตลาดมหาชัย เฉลี่ยกิโลกรัมละ 127.82 ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 22.5 โดยลดลงในทุกขนาด ส่วน หนึ่งเป็นผลจากการส่งผ่านผลกระทบอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้นไปยังราคารับซื้อสัตว์น้ำ
ภาคอุตสาหกรรม
การผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของภาคใต้ลดลง โดยปริมาณการส่งออกยางพารา ลดลงร้อยละ 9.9 เนื่องจากประเทศจีนชะลอการซื้อยางแท่ง และน้ำยางข้น หลังจากที่ได้เก็บสำรองไว้ ในระดับสูงก่อนวันหยุดยาวช่วงเทศกาลตรุษจีน อย่างไรก็ตาม การส่งออกยางแผ่นรมควันยังคง ขยายตัวที่ร้อยละ 7.7 ตามความต้องการของตลาดญี่ปุ่นที่มีอย่างต่อเนื่อง ส่วนอาหารทะเลแช่แข็ง และอาหารทะเลกระป๋อง ปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 9.6 และ 14.8 ตามลำดับ เนื่องจากยัง ประสบปัญหาข้อจำกัดด้านวัตถุดิบ และแรงงานทำให้ไม่สามารถเพิ่มกำลังผลิตได้เท่าที่ควร สำหรับ อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 แต่ชะลอลงมากเมื่อเทียบกับเดือนก่อนที่มี ผลผลิตเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ตามการชะลอลงของวัตถุดิบและเปอร์เซนต์การให้น้ำมัน
การท่องเที่ยว
ในเดือนกุมภาพันธ์ การท่องเที่ยวของภาคใต้โดยรวมขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีจำนวน นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้ทั้งสิ้น 307,315 คน เพิ่มขึ้น จากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 31.5 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 7.9 ในเดือนก่อน เนื่องจากภาคใต้ฝั่ง ตะวันตกมีการปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยว และทำตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นตลาดเดิมที่มีศักยภาพ และเพิ่มตลาดใหม่จากรัสเซีย และตะวันออกกลาง รวมทั้งเพิ่มเที่ยวบินประจำ และแบบเช่าเหมาลำ ของทั้งสายการบินในและต่างประเทศ ขณะเดียวกันการท่องเที่ยวในภาคใต้ตอนล่าง ปรับตัวดีขึ้น จากเทศกาลตรุษจีน ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากขึ้น แม้จะมีเหตุการณ์ความไม่สงบ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ตาม
การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน
การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนของภาคใต้ในเดือนกุมภาพันธ์ชะลอลง เนื่องจากสถานการณ์การเมืองที่ยังไม่นิ่ง เหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดภาคใต้ ตลอดจนราคา น้ำมันที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง และระมัดระวังการใช้จ่าย แม้อัตรา ดอกเบี้ยจะมีแนวโน้มลดลงก็ตาม สะท้อนจากเครื่องชี้การบริโภคที่สำคัญ ได้แก่ การจดทะเบียนใหม่ รถยนต์ส่วนบุคคล และรถจักรยานยนต์ ลดลงร้อยละ 13.5 และ 6.5 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.7 และปริมาณการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.0
การลงทุนภาคเอกชน
การลงทุนภาคเอกชนยังคงขยายตัวในพื้นที่ ฝั่งอันดามันและภาคใต้ตอนบน โดยกิจการ ที่มีการขยายตัวต่อเนื่องได้แก่กิจการทางด้านการท่องเที่ยว และการผลิตน้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์และไบโอดีเซล เป็นต้น โดยในเดือนนี้มีโครงการที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนในภาคใต้จำนวน 8 โครงการ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1 โครงการ เงินลงทุนจำนวน 1,707.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือน เดียวกันปีก่อนร้อยละ 287.3 ด้านการก่อสร้างขยายตัวต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 31.2 เนื่องจากมีการก่อสร้างโรงแรมในจังหวัดภูเก็ต และโรงพยาบาลเอกชนในจังหวัด นครศรีธรรมราช ส่วนการจดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคลแม้ว่าจะลดลง แต่การจดทะเบียนเพิ่มทุนยังคงขยายตัว อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนในเสถียรภาพการเมือง เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น การขาดแคลนแรงงาน และราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ยังเป็นตัวแปรสำคัญต่อการลงทุนภาคเอกชน
การจ้างงาน
ข้อมูลจากสำนักงานจัดหางานจังหวัดในภาคใต้เดือนนี้มีตำแหน่งงานว่าง 4,653 อัตรา ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 52.5 ส่วนใหญ่เป็นตำแหน่งงานในกิจการขายปลีกขายส่งและ อุตสาหกรรมการผลิต เป็นสำคัญ ทางด้านผู้สมัครงานและการบรรจุงานเดือนนี้มีจำนวน 4,463 คน และ 2,004 อัตรา ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 21.5 และร้อยละ 6.9 ตามลำดับ โดยผู้ได้รับ การบรรจุงานส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 36.6 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป
ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ผู้ประกันตนในภาคใต้มีจำนวน 579,586 คน เพิ่มขึ้นจาก เดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.4 เป็นการเพิ่มขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต พังงาและกระบี่ เป็นสำคัญ
ระดับราคา
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของภาคใต้เดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 2.6 ชะลอลงจากร้อยละ 3.4 ในเดือน ก่อน โดยราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 และหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหาร และเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ชะลอลงจากเดือนก่อนทั้ง 2 หมวด ทางด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของภาคใต้ เดือนกุมภาพันธ์ 2550 อยู่ที่ร้อยละ 2.1 ชะลอ ตัวลงจากร้อยละ 2.3 ในเดือนก่อน
การค้าต่างประเทศ
ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ มีมูลค่าการส่งออก 742.3 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากเดือน เดียวกันปีก่อนเพียงร้อยละ 1.3 ชะลอลงจากร้อยละ 18.7 ในเดือนก่อน เป็นการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการ ส่งออกไม้ยางพาราแปรรูป และอาหารทะเลกระป๋อง ร้อยละ 13.0 และ 11.7 ตามลำดับ ขณะที่ มูลค่าส่งออกยางพารา ถุงมือยาง สัตว์น้ำแช่แข็ง ลดลงร้อยละ 1.7 10.2 10.5 ตามลำดับ สำหรับ การนำเข้ามีมูลค่า 371.9 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 40.5 ชะลอลง จากร้อยละ 89.7 ในเดือนก่อน ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ และสัตว์น้ำแช่แข็ง เป็นสำคัญ
การคลัง
การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการต่างๆ ในภาคใต้ เดือนกุมภาพันธ์ 2550 มี จำนวน 15,225.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 72.5 ตามการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้นของ ทุกคลังจังหวัดในภาคใต้ เนื่องจากพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2550 เริ่มมี ผลบังคับใช้ในเดือนนี้ และเร่งเบิกจ่ายให้ได้ตามเป้าที่วางไว้ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ สำหรับรายได้ จากการจัดเก็บภาษีอากรในภาคใต้ เดือนนี้จัดเก็บได้ 2,222.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 17.9 เนื่องจากจัดเก็บภาษีศุลกากรและภาษีสรรพากร ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.9 และ 20.5 ตามลำดับ ขณะที่ภาษีสรรพสามิตจัดเก็บได้ลดลงร้อยละ 6.0 ตามการลดลงของการจัดเก็บภาษี หมวดสุรา ที่ลดลงร้อยละ 18.1
ภาคการเงิน
เงินฝากและสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ คาดว่า มีเงินฝากคงค้างประมาณ 376,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกัน ปีก่อนร้อยละ 7.2 ชะลอลงจากร้อยละ 8.2 ในเดือนก่อน เนื่องจากธนาคารพาณิชย์เริ่มมีการปรับลด อัตราดอกเบี้ย ตามทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงต่อเนื่อง ประกอบกับผู้ฝากเงินส่วนหนึ่ง เริ่มหันไปออมในรูปแบบของกองทุนรวมที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่ามากขึ้น ส่วนสินเชื่อคงค้างมีจำนวน ประมาณ 305,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.5 ชะลอจากร้อยละ 16.0 ในเดือนก่อน ส่วนหนึ่งเป็น ผลจากความไม่ชัดเจนทางการเมือง และเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งบางส่วนของจังหวัดสตูล และสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจหลักของภาคใต้ต่อนล่าง