สรุปภาวะเศรษฐกิจสำคัญในภาคใต้ เดือนมกราคม 2550

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 28, 2007 16:00 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

          เศรษฐกิจภาคใต้เดือนมกราคมขยายตัว ตามรายได้ของเกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้น อันเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตพืชผลหลัก อาทิ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน เป็นสำคัญ  ขณะเดียวกันการผลิตภาคอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวขยายตัว แม้จะขยายตัวในอัตราที่ชะลอ ลงก็ตาม ส่งผลให้การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้น  ขณะเดียวกันการลงทุนและการส่งออก  ล้วนขยายตัว สำหรับอัตราเงินเฟ้อชะลอลงเล็กน้อยอยู่ที่ร้อยละ 3.4
ภาคเกษตรกรรม
เดือนมกราคม รายได้ของเกษตรกรจากการจำหน่ายพืชผลหลักปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 เป็นผลจากผลผลิตสำคัญเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 6.9 จากการเพิ่มขึ้นของ ผลผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมัน เป็นสำคัญ ส่วนราคาพืชผลหลักเดือนนี้แม้จะลดลงร้อยละ 1.4 แต่ปรับตัวดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับเดือนก่อนที่ลดลงถึงร้อยละ 15.1 ตามราคายางพาราที่ปรับตัวดี ขึ้นเป็นสำคัญ
ด้านประมงทะเล ในเดือนนี้การทำประมงทางฝั่งอ่าวไทยมีคลื่นลมแรง เรือประมง ออกทะเลลดลง ในขณะที่ทางฝั่งทะเลอันดามันกลับทำประมงได้ผลดี เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูการ ทำประมง (ช่วงตุลาคม-มีนาคม) ส่งผลให้ปริมาณและมูลค่าสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือของ องค์การสะพานปลาในภาคใต้มีจำนวน 26,282.3 เมตริกตัน มูลค่า 1,164.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น จากเดือนเดียวกันปีก่อนทั้งด้านปริมาณและราคาคิดเป็นร้อยละ 21.0 และ 38.4 ตามลำดับ ทั้งนี้ เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณสัตว์น้ำนำขึ้นท่าเทียบเรือจังหวัดระนอง ภูเก็ต และสงขลา เป็นสำคัญ และเป็นที่น่าสังเกตว่า สัตว์น้ำนำขึ้นที่ท่าเทียบเรือจังหวัดภูเก็ต ส่วนหนึ่งเป็นปลาทูน่า ของกองเรือต่างชาติ ซึ่งมาขึ้นที่ท่าเทียบเรือเพื่อส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นเป็นสำคัญ
ส่วนการเพาะเลี้ยงกุ้ง ราคาปรับสูงขึ้นจากเดือนก่อนในทุกขนาด เป็นผลจาก ปริมาณกุ้งที่ออกสู่ตลาดลดลง เนื่องจากอยู่ในช่วงปลายฤดูการจับกุ้ง และเกษตรกรกำลังทยอยลง กุ้งรอบใหม่ ราคากุ้งขาวขนาด 50 ตัวต่อกิโลกรัม ที่ตลาดมหาชัยเฉลี่ยกิโลกรัมละ 129 บาท เพิ่มขึ้นจาก 126.47 บาทในเดือนก่อน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับเดือน เดียวกันปีก่อนราคาลดลงร้อยละ 24.0 โดยลดลงในทุกขนาด ตามภาวะการส่งออก
ภาคอุตสาหกรรม
การผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของภาคใต้ ในเดือนมกราคมยังคงขยายตัวดี ตามปริมาณวัตถุดิบ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางพารา และปาล์มน้ำมัน เนื่องจากยังมีความ ต้องการของตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 103.1 ขณะเดียวกันยางพารา ไม้ยางพาราแปรรูป ถุงมือยาง และอาหารบรรจุกระป๋อง มีปริมาณการ ส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.7 31.3 4.0 และ 7.1 ตามลำดับ ขณะที่สัตว์น้ำแช่เย็นแช่แข็ง (ไม่รวมด่านศุลกากรสะเดา) ปริมาณส่งออกลดลงร้อยละ 7.9
การท่องเที่ยว
เดือนมกราคม ภาวะการท่องเที่ยวภาคใต้ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยขยายตัวดี ทางภาคใต้ฝั่งตะวันตก เนื่องจากเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว โดยจังหวัดภูเก็ต และกระบี่ ฟื้นตัวอย่าง ชัดเจนจากภัยสึนามิ นักท่องเที่ยวเชื่อมั่นในความปลอดภัยมากขึ้น ขณะที่ภาคใต้ตอนล่างซบเซา จากเหตุวางระเบิดในอำเภอหาดใหญ่ และความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางผ่านสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้ทั้งสิ้น 256,675 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.9 ชะลอลงมากจากร้อยละ 40.0 ในเดือน ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่และเทศกาลฮารี รายอ อีลดิ๊ลอัฏฮา ประกอบกับเดือนมกราคมปีก่อนตรงกับเทศกาลตรุษจีน มีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมาก
การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน
ในเดือนมกราคม การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนของภาคใต้ขยายตัว เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากราคายางพาราที่อยู่ในเกณฑ์สูง ผลผลิตพืชผลหลัก อาทิ ยางพารา และปาล์มน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนภาวะการท่องเที่ยวโดยเฉพาะทางฝั่งทะเลอันดามัน ที่ยังคงขยายตัว ส่งผลให้เกิดแรงซื้อในระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้ พิจารณาได้จากการจัดเก็บ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และปริมาณการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.0 และ 12.6 รวมทั้งการ จดทะเบียนรถใหม่เพิ่มขึ้นทุกตัว
การลงทุนภาคเอกชน
การลงทุนภาคเอกชนโดยรวมขยายตัว โดยมีโครงการได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนรวม 7 ราย เงินลงทุน 2,028.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 133.3 และ 24.6 ตามลำดับ ขณะเดียวกันมี พื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างผ่านเทศบาลเมือง เทศบาลนคร และเทศบาลตำบล รวมทั้งสิ้น 142,992 ตารางเมตร เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 12.7 สัดส่วนการก่อสร้างอยู่ในภาคใต้ตอนบนร้อยละ 58.1 โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ต และพังงา ส่วนการจดทะเบียนธุรกิจนิติ บุคคลลดลงทั้งจำนวนราย และเงินทุนจดทะเบียน โดยลดลงร้อยละ 29.9 และ 34.6 ขณะที่มีการจดทะเบียนเพิ่มทุนเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และธุรกิจเกี่ยวกับโรงแรม ห้องพัก
การจ้างงาน
ในเดือนมกราคมนี้มีผู้ประกอบการแจ้งความต้องการแรงงานผ่านสำนักงานจัดหางาน จังหวัดในภาคใต้ทั้งสิ้น 2,506 อัตราลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 35.7 โดยมีความ ต้องการแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิต อาทิ กิจการผลิตอาหารสัตว์จากสัตว์น้ำ การแปรรูป อาหารทะเลมากที่สุด รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมขายปลีกขายส่ง ด้านผู้สมัครงานและการบรรจุ งานมีจำนวน 3,065 คน และ 2,079 อัตรา เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 25.2 และ66.2 ตามลำดับ ผู้สมัครงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ตอนบน โดยจังหวัดนครศรีธรรมราชมีผู้สมัคร งานและบรรจุงานมากที่สุด ขณะที่จำนวนผู้ได้รับการบรรจุงานเดือนนิ้คิดเป็นร้อยละ 83.0 ของ ตำแหน่งงานว่าง และส่วนใหญ่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี
ระดับราคา
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของภาคใต้ เดือนมกราคม 2550 อยู่ที่ร้อยละ 3.4 ชะลอตัวลงจาก ร้อยละ 3.8 ในเดือนก่อน ทั้งนี้ เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในหมวดที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 7.2 และราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8
สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของภาคใต้ อยู่ที่ร้อยละ 2.3 สูงขึ้นจากร้อยละ 2.2 ในเดือนก่อนเล็กน้อย
การค้าต่างประเทศ
การส่งออกขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อนซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.8 โดยเดือนนี้มีมูลค่าการส่งออก 793.5 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 18.7 โดยมี การส่งออกสินค้าสำคัญได้เพิ่มขึ้นทุกประเภท โดยเฉพาะยางพารา เป็นสำคัญ ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 481.5 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 89.7 เร่งตัวขึ้นจากอัตรา เพิ่มร้อยละ 56.8 ในเดือนก่อน ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ และสัตว์น้ำแช่แข็ง
การคลัง
ในเดือนมกราคม 2550 การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการต่างๆ ในภาคใต้ มีจำนวน 6,162.8 ล้านบาท ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 18.7 เป็นผลจากคลังจังหวัด ตรังมีการเบิกจ่ายลดลงมากถึงร้อยละ 85.9 เป็นสำคัญ เนื่องจากในช่วงเดือนมกราคม 2549 มีการเบิกจ่ายเงินเดือนย้อนหลัง 3 เดือน ส่วนการจัดเก็บภาษีอากร จัดเก็บได้จำนวน 2,490.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 33.4 จากการจัดเก็บภาษีสรรพากร สรรพสามิต และ ศุลกากร ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.5 6.7 และ 94.8 ตามลำดับ
ภาคการเงิน
เงินฝากและสินเชื่อของสาขาธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราชะลอลง โดย ณ สิ้น เดือนมกราคม เงินฝากของธนาคารพาณิชย์ คาดว่ามีจำนวน 373,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือน เดียวกันปีก่อนร้อยละ 8.3 ชะลอลงจากร้อยละ 8.5 ในเดือนก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่ง สัญญาณอัตราดอกเบี้ยขาลง กอปรกับธนาคารพาณิชย์ได้มีการออกตราสารทางการเงินใหม่ซึ่ง ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากปกติ อีกทั้งสถาบันการเงินเฉพาะกิจบางแห่งเริ่มมีศักยภาพเข้ามา แข่งขันด้านเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์มากขึ้น ส่วนสินเชื่อคงค้างมีจำนวนประมาณ 304,000.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.5 ชะลอจากร้อยละ 18.3 ในเดือนก่อน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ