ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ไตรมาส 2 ปี 2551 และแนวโน้มไตรมาส 3 ปี 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 4, 2008 16:13 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

          ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ ไตรมาสที่ 2 ปี 2551 ขยายตัว โดยด้านอุปทานขยายตัวดีตามผลผลิต  และราคาพืชผลสำคัญที่ขยายตัวดี  รวมทั้งการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวเช่นกัน ด้านอุปสงค์ การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนชะลอตัว ขณะที่การส่งออก และการเบิกจ่ายงบประมาณขยายตัว  พร้อมกันนั้นการลงทุนปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการก่อสร้าง
รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ปี 2551 มีดังนี้
1. ภาคเกษตร รายได้จากการขายพืชผลสำคัญของเกษตรกรขยายตัว ร้อยละ 53.8 ตาม ปริมาณและราคาผลผลิตสำคัญที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.4 และ 22.8 ตามลำดับ โดยยางพาราปริมาณผลผลิตและ ราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 และ 23.2 ตามลำดับ ส่วนปาล์มน้ำมัน ปริมาณผลผลิตและราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 93.1 และ 19.2 ตามลำดับ ด้านการประมง ปริมาณและมูลค่าสัตว์น้ำนำขึ้นที่ท่าเทียบเรือในภาคใต้ในไตรมาสนี้ลดลง จากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 13.7 และร้อยละ 15.4 ตามลำดับ ด้วยผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้น ส่วน การเพาะเลี้ยงกุ้ง เกษตรกรบางส่วนชะลอการเพาะเลี้ยงเนื่องจากประสบปัญหาต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้น กอปรกับ ราคากุ้งที่ตกต่ำ ทำให้ผลผลิตกุ้งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนลดลงร้อยละ 24.8 ด้านราคาปรับตัวสูงขึ้น โดย กุ้งขาวขนาด 50 ตัวต่อกิโลกรัม ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 119.87 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3
2. ภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 14.2 เร่งตัวขึ้นจาก ไตรมาสก่อน ตามการส่งอออกและวัตถุดิบ โดยอุตสาหกรรมยางมีปริมาณส่งออก 544,166.9 เมตริกตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.4 อุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งมีปริมาณการส่งออก 31,145.1เมตริกตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 ตามการเพิ่มขึ้นของการส่งออกกุ้งแปรรูปไปตลาดญี่ปุ่น และอาหารบรรจุ กระป๋องส่งออก 34,503.5 เมตริกตันเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.7 เป็นการขยายตัวในตลาดตะวันออกกลาง ส่วน ผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบมีจำนวน 446,190.5 เมตริกตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 92.8
3. การท่องเที่ยว ภาวะท่องเที่ยวขยายตัว โดยมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางผ่านด่าน ตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้ 776,177 คน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 29.1 จากการเพิ่มขึ้นของ นักท่องเที่ยวฝั่งอันดามัน โดยจังหวัดภูเก็ตเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 และภาคใต้ตอนล่าง โดยเฉพาะจังหวัดสงขลา เพิ่มขึ้นร้อยละ 57.7 เนื่องจากรัฐและภาคเอกชนร่วมกันจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยวมีความมั่นใจ ในความปลอดภัย
4. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ชะลอตัว โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.6 ชะลอลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.0 เนื่องจากราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นตามต้นทุน ที่เพิ่มขึ้นทั้งราคาน้ำมันและอาหาร รวมทั้งความไม่มั่นใจในสถานการณ์ด้านการเมือง ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวัง ในการใช้จ่ายมากขึ้น โดยภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ปี 2543 จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.4 และการใช้ ไฟฟ้าที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 ชะลอลงจากไตรมาสก่อน ส่วนดัชนีหมวดยานยนต์ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 20.9
5. การลงทุนภาคเอกชน โดยรวมอยู่ในภาวะดีขึ้น พื้นที่ก่อสร้างที่ได้รับอนุญาตในเขต เทศบาลมีจำนวน 494,835 ตารางเมตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.5 และยอดจำหน่าย ปูนซิเมนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 ขณะเดียวกันการจดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคล จำนวนรายและเงินทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 และ 11.5 ตามลำดับ ส่วนใหญ่เป็นการจดทะเบียนในจังหวัดภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และสงขลา กิจการที่มีการจดทะเบียน มากเป็นกิจการรับเหมาก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และโรงแรม ภัตตาคารร้านอาหาร ส่วนโครงการลงทุนที่ได้รับ ส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ลดลงทั้งจำนวนรายและเงินลงทุน
6. การจ้างงาน เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จะเห็นได้จากยอดการบรรจุงาน 13,625 อัตรา ตำแหน่งงาน ว่าง 16,208 อัตรา และผู้สมัครงาน 17,321 คน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 44.2 - 58.6 และ 7.3 ตามลำดับ ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดภูเก็ต สงขลา และสุราษฎร์ธานี ด้านจำนวนผู้ประกันตนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 โดยภาคใต้ตอนบนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 เพิ่มขึ้นมากในจังหวัดภูเก็ต กระบี่และพังงา ส่วนภาคใต้ตอนล่างลดลง ร้อยละ 3.8 ตามการลดลงของจังหวัดสงขลาเป็นสำคัญ ซึ่งในไตรมาสนี้ลดลงจากไตรมาสดียวกันปีก่อนร้อยละ 6.4
7. ระดับราคา อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของภาคใต้ในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 8.5 เร่งตัวขึ้นจาก ไตรมาสก่อน โดยดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.9 เป็นการเพิ่มขึ้นของราคาข้าว แป้ง ผลิตภัณฑ์จากแป้งร้อยละ 30.3 และเนื้อสัตว์ ร้อยละ 27.5 ขณะเดียวกันดัชนีราคาหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหาร และเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 โดยหมวดยานพาหนะ น้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.5 และหมวดยาสูบ เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8
8. การค้าต่างประเทศ มูลค่าการค้าต่างประเทศผ่านด่านศุลกากรในภาคใต้มีจำนวนทั้งสิ้น 4,876.1ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 32.9 แยกเป็นมูลค่าการส่งออกจำนวน 3,267.5 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 31.0 เนื่องจากมูลค่าสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ยางพาราเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.0 ไม้ยางพาราแปรรูปและเฟอร์นิเจอร์เพิ่มขึ้นร้อยละ 74.7 และอาหารบรรจุกระป๋อง เพิ่มขึ้นร้อยละ 54.4 นอกจากนี้ มูลค่าการส่งออกน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่าตัว ส่วนการนำเข้า มีมูลค่าทั้งสิ้น 1,608.7 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 36.9 จากมูลค่าการนำเข้าสัตว์น้ำแช่แข็ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 65.8 และเครื่องจักรอุปกรณ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3
9. ภาคการคลัง การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการต่าง ๆ ในภาคใต้ มีจำนวน 36,260.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 16.9 ตามการเพิ่มขึ้นของการเบิกจ่ายเงิน งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ส่วนทางด้านภาษีจัดจัดเก็บได้ทั้งสิ้น 8,403.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.8 โดยภาษีสรรพากรเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 แต่ชะลอลงจากร้อยละ 4.6 ในไตรมาสที่ 1 เนื่องจากการขยายวงเงินการยกเว้นภาษีและเพดานการหักลดหย่อน ส่วนภาษีสรรพสามิต เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 ขณะที่ภาษีศุลกากรลดลงร้อยละ 12.2
10. การเงิน ในไตรมาสนี้ธนาคารพาณิชย์ได้ปรับอัตราดอกเบี้นเงินฝากขึ้นเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง คาดว่า เงินฝากจะขยายตัวร้อยละ 8.1 ส่วนสินเชื่อขยายตัวประมาณร้อยละ 14.2 ตามการขยายตัวของสินเชื่อ เพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล เป็นสำคัญ
แนวโน้มไตรมาส 3 ปี 2551
ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ไตรมาส 3 ปี 2551 คาดว่าจะชะลอตัว ถึงแม้รายได้ของเกษตรกรจะเพิ่มขึ้น จากราคาสินค้าเกษตรสำคัญโดยเฉพาะยางพารา และปาล์มน้ำมัน จะทรงตัวอยู่ในระดับสูง และมีมาตรการ กระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน แต่มีปัจจัยเสี่ยงคือค่าครองชีพที่สูงขึ้น จาก ราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ตามแรงกดดันของราคาน้ำมัน ประกอบกับความไม่แน่นอนด้านการเมือง ตลอดจนความ เชื่อมั่นของนักลงทุนและประชาชนที่ต่ำลง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ