สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนมิถุนายน 2551 และไตรมาสที่สองปี 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 4, 2008 17:13 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

          ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนมิถุนายน 2551 ชะลอตัวต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  โดยด้านอุปทาน ภาคเกษตร ราคาพืชผลสำคัญส่วนใหญ่มีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่อง และราคาข้าวเปลือกเหนียวได้ปรับตัวลดลง  การผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ตามการเพิ่มขึ้นของการผลิตในอุตสาหกรรมน้ำตาล อุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และไม่มี  แอลกอฮอล์ และอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์  ส่วนอุตสาหกรรมแป้งมันผลิตลดลง  ภาคบริการอยู่ในเกณฑ์ดี ด้านอุปสงค์  การลงทุนภาคเอกชนยังชะลอตัวเนื่องจากประชาชนยังไม่มั่นใจในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะทางด้านราคาน้ำมันที่ปรับตัว  สูงขึ้นต่อเนื่อง  รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว  อย่างไรก็ดี การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับระยะ เดียวกันปีก่อน  การค้าชายแดนด้านไทย - ลาว และ ไทย - กัมพูชา ยังขยายตัวดี ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกวัสดุก่อสร้าง น้ำมันปิโตรเลียม  และยานพาหนะ  การจัดเก็บภาษีอากรเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะภาษีสรรพสามิตตามการเพิ่มขึ้นของภาษีเบียร์  สำหรับเงินฝากชะลอลงเล็กน้อย  แต่สินเชื่อยังคงขยายตัว ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลและสินเชื่อเบิกเกินบัญชีและตั๋วเงินของภาคธุรกิจ  ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 10.3 เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 เป็นผลจากสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มสำคัญ  หลายชนิด  รวมถึงน้ำมันเชื้อเพลิงปรับสูงขึ้น ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 2.0 ในเดือนก่อนเป็นร้อยละ 3.4 ในเดือนนี้
รายละเอียดของแต่ละภาคเศรษฐกิจ มีดังนี้
1. ภาคเกษตรกรรม ผลผลิตข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ออกสู่ตลาดลดลง เพราะเป็นช่วงปลายฤดู โดยราคาขายส่งข้าวเปลือกหอมมะลิเฉลี่ยเกวียนละ 15,097 บาท สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 70.0 ชะลอจากเดือนก่อน ที่สูงขึ้นร้อยละ 93.0 เนื่องจากความต้องการใช้ภายในประเทศ และตลาดส่งออกชะลอตัว ราคาขายส่งข้าวเปลือกเหนียว 10% (เมล็ดยาว) เฉลี่ยเกวียนละ 8,767 บาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 23.7 เนื่องจากผลผลิตข้าวเหนียวในปีนี้มีมากกว่าความต้องการ ราคาขายส่งหัวมันสำปะหลังเฉลี่ยกิโลกรัมละ 1.81 บาท และราคาขายส่งมันเส้นเฉลี่ยกิโลกรัมละ 4.86 บาท สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของ ปีก่อนร้อยละ 20.7 และร้อยละ 33.2 ชะลอจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 61.7 และร้อยละ 52.8 ตามลำดับ เนื่องจากภาวะฝนตกเป็น อุปสรรคในการเก็บเกี่ยวผลผลิตและเปอร์เซ็นต์แป้งลดต่ำลง กอปรกับความต้องการของตลาดในประเทศและต่างประเทศชะลอตัวลง ราคาขายส่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เฉลี่ยกิโลกรัมละ 8.50 บาท สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 26.1 ตามความต้องการของ อุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ในประเทศที่มีอย่างต่อเนื่อง
2. ภาคอุตสาหกรรม การผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของ การผลิตน้ำตาลเป็นสำคัญ โดยโรงงานน้ำตาลหลายแห่งได้มีการนำน้ำตาลทรายดิบมาละลายเป็นน้ำตาลชนิดต่าง ๆ ตามความต้องการ ของตลาด ถึงแม้ว่าจะเป็นช่วงปิดหีบแล้วก็ตาม นอกจากนั้น อุตสาหกรรมที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มี แอลกอฮอล์โดยเฉพาะเบียร์ อุตสาหกรรมผลิตเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เนื่องจากตลาดยังขยายตัวดี และอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ที่มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ในส่วนอุตสาหกรรมที่มีการผลิตลดลงได้แก่ อุตสาหกรรมแป้งมัน เนื่องจากวัตถุดิบ มีน้อยไม่เพียงพอกับความต้องการ
3. ภาคบริการ เดือนนี้การท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น โดยจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง ในเดือนนี้เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 43.5 สำหรับกิจกรรมการท่องเที่ยวที่สำคัญในเดือนนี้ได้แก่ การแสดงมินิไลท์แอนด์ซาวด์ ปราสาทหินพิมาย เทศกาลท่องเที่ยวดอกกระเจียวบาน ณ อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม และการจัดการแข่งขันกรีฑา ASIAN GRAND PRIX 2008 ซึ่งมีนักกีฬาและเจ้าหน้าที่จาก 20 ประเทศ เข้าร่วมการแข่งขัน อย่างไรก็ตาม อัตราการเข้าพักของโรงแรมอยู่ที่ระดับ ร้อยละ 38.4 ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 46.6 ส่วนหนึ่งเนื่องจากราคาน้ำมันและราคาโดยสารเครื่องบินที่ปรับตัว สูงขึ้น ทำให้นักท่องเที่ยวในประเทศมีการเดินทางท่องเที่ยวลดลง
4. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน โดยเครื่องชี้สำคัญได้แก่ การจัดเก็บ ภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งสิ้น 814.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 27.6 ขยายตัวจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากยอดจำหน่ายของห้างสรรพสินค้าเพิ่มขึ้น การจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลมีจำนวน 3,118 คัน และรถยนต์ บรรทุกส่วนบุคคลจำนวน 5,108 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 และร้อยละ 14.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน ที่มีอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการรถยนต์นั่งที่ใช้พลังงานทางเลือกมีมากขึ้น ขณะที่ประชาชนส่วนหนึ่งยังจำเป็นต้องใช้รถยนต์บรรทุก เพื่อประกอบอาชีพ ยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์มีจำนวน 40,920 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 เป็นผลจากราคาสินค้าเกษตรที่อยู่ในเกณฑ์ดี เกษตรกรจึงมีรายได้มาจับจ่ายใช้สอย สำหรับปริมาณการใช้ไฟฟ้าในภาคที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 ขยายตัวจากเดือนพฤษภาคม ที่ลดลงร้อยละ 0.4
5. การลงทุนภาคเอกชน ยังชะลอตัว นักลงทุนส่วนใหญ่ยังชะลอการลงทุน ดูจากโครงการที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริม มีมูลค่าเงินลงทุนเพียง 74.0 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 99.1 จากระยะเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเป็นโครงการขนาดเล็ก ใช้เงินลงทุนไม่สูง ได้แก่ โครงการผลิตยางผสม และโครงการผลิตของเล่นพลาสติก พื้นที่ขอรับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลเมืองและเทศบาลนคร 132,099.2 ตารางเมตร ลดลงร้อยละ 27.7 จากระยะเดียวกันของปีก่อน เป็นการลดลงจากพื้นที่ก่อสร้างเพื่ออยู่อาศัยเป็นสำคัญ สำหรับ ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 6.4 ชะลอตัวลงจากเดือนพฤษภาคมที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.8 อย่างไรก็ดี การลงทุนในภาคการค้าขยายตัวดีขึ้น พิจารณาจากการจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่จำนวน 628.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น จากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 51.9 เป็นผลจากการจดทะเบียนของธุรกิจทางการแพทย์ที่จังหวัดนครราชสีมา และสถานีบริการก๊าซ NGV ที่จังหวัดอุบลราชธานี ที่มีทุนจดทะเบียนถึงแห่งละ 100.0 ล้านบาท
6. ภาคการคลัง เดือนนี้รายได้ของภาครัฐบาลที่จัดเก็บจากภาษีอากรเพิ่มขึ้นทุกประเภท โดยสามารถจัดเก็บได้ทั้งสิ้น 3,059.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 20.0 และขยายตัวจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1 จำแนกเป็น ภาษีสรรพากรจัดเก็บได้ 1,665.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.9 โดยเฉพาะภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามผลประกอบการ ของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นได้แก่ ธุรกิจผลิตสุราและเบียร์ ธุรกิจผลิตวิทยุโทรทัศน์ ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ยานยนต์ และห้างสรรพสินค้า ขนาดใหญ่ เป็นต้น ภาษีสรรพสามิตจัดเก็บได้ 1,372.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 27.4 ขยายตัวจากเดือนก่อน ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.8 ตามการเพิ่มขึ้นของภาษีเบียร์เป็นสำคัญ สำหรับการจัดเก็บอากรขาเข้ารวม 22.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ส่วนใหญ่เป็นอากรขาเข้าจากการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปและไม้แปรรูปเพิ่มขึ้น
7. การค้าต่างประเทศ การค้าชายแดนไทย - ลาว เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน โดยมีมูลค่าการค้า 6,576.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.0 จากระยะเดียวกันของปีก่อน ขณะที่เดือนก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.8 แยกเป็น มูลค่าการส่งออก 5,187.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกัน ของปีก่อนร้อยละ 46.1 จากการเพิ่มขึ้นของสินค้าทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดสินค้าทุนได้แก่ วัสดุก่อสร้าง 764.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า เท่าตัว เครื่องจักร และอุปกรณ์ 249.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าตัว เนื่องจากขณะนี้มีโครงการก่อสร้างเขื่อนหลายโครงการใน สปป. ลาว และมีการส่งออกน้ำมันปิโตรเลียม เชื้อเพลิงอื่น ๆ และสารหล่อลื่น ยานพาหนะและอุปกรณ์เป็นการส่งออกรถยนต์ใหม่ รถเพื่อใช้งานประเภทรถแทรกเตอร์ รถบรรทุก และอะไหล่ สินค้าบริโภค ผลิตภัณฑ์เหล็ก เครื่องดื่ม เคมีภัณฑ์ และผลไม้ตามฤดูกาล ส่วนสินค้าส่งออกที่ลดลงได้แก่ ผ้าผืน เครื่องใช้ไฟฟ้า เม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์พลาสติก ในส่วนมูลค่าการนำเข้า 1,388.5 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.4 จากระยะเดียวกันของปีก่อน จากการนำเข้าสินแร่ 738.7 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 25.6 เนื่องจากมีการหยุดการผลิต ชั่วคราวเพื่อซ่อมแซมเครื่องจักร ส่วนสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้นได้แก่ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ยานพาหนะอุปกรณ์ และส่วนประกอบ เสื้อผ้า สำเร็จรูปจากจีน ผลิตภัณฑ์เกษตร และเครื่องจักร อุปกรณ์
การค้าชายแดนไทย - กัมพูชา มีมูลค่าการค้า 4,682.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 60.0 โดยเป็นมูลค่าการส่งออก 4,359.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 57.1 เป็นการเพิ่มขึ้นของสินค้าทุกหมวด สินค้าส่งออกสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ วัสดุก่อสร้างซึ่งขยายตัวตามภาคอุตสาหกรรม และการก่อสร้างสาธารณูปโภคภายในประเทศกัมพูชา เพื่อที่จะรองรับการขยายตัวด้านการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ ยานพาหนะและส่วนประกอบ สินค้าอุปโภคบริโภค น้ำมัน ปิโตรเลียมและเชื้อเพลิง สิ่งทอ และน้ำตาล สำหรับมูลค่าการนำเข้า 323.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน กว่าเท่าตัว สินค้านำเข้าสำคัญที่เพิ่มขึ้นได้แก่ วัสดุใช้แล้ว ส่วนใหญ่เป็นเหล็ก อลูมิเนียม ทองแดง และกระดาษ และสินค้าอุปโภค โดยส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์พลาสติก
8. ระดับราคา อัตราเงินเฟ้อเดือนนี้เร่งตัวสูงขึ้นมากถึงร้อยละ 10.3 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจาก ราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 13.1 จากหมวดข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้งสูงขึ้นร้อยละ 27.4 เครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 18.1 และเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 16.5 หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 8.6 จากการ ปรับตัวสูงขึ้นมากของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงถึงร้อยละ 46.5 ส่งผลให้หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสารสูงขึ้นร้อยละ 18.7 ดัชนีราคา ผู้บริโภคพื้นฐานเดือนนี้สูงขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.4
9. ภาคการจ้างงาน ภาวะการทำงานของประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนพฤษภาคม 2551 โดยสำนักงานสถิติ แห่งชาติ สรุปได้ว่ามีกำลังแรงงานรวม 11.8 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 11.4 ล้านคน โดยทำงานในภาคเกษตร 5.8 ล้านคน และนอกภาคเกษตร 5.6 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์ รถจักรยานยนต์ ของใช้ส่วนบุคคล และของใช้ ในครัวเรือน 1.5 ล้านคน และการผลิต 1.0 ล้านคน สำหรับการว่างงานมีผู้ว่างงานจำนวน 0.2 ล้านคน อัตราการว่างงานคิดเป็นร้อยละ 1.6 ของกำลังแรงงานรวม
ด้านภาวะการจ้างงานในภาคเดือนนี้ มีตำแหน่งงานว่าง 3,138 อัตรา เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 จากระยะเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นความต้องการพนักงานผู้ปฏิบัติงานในโรงงาน ผู้ควบคุมเครื่องจักร และผู้ปฏิบัติงานด้านการประกอบ รองลงมาเป็น พนักงานบริการ และพนักงานขายของในร้านค้า โดยมีผู้สมัครงาน 8,122 คน และผู้ที่ได้รับการบรรจุงาน 2,828 คน เพิ่มขึ้นจากเดือน เดียวกันของปีก่อนร้อยละ 42.7 และร้อยละ 56.9 โดยเป็นการบรรจุงานในอุตสาหกรรมการผลิตและในธุรกิจค้าส่งค้าปลีก สำหรับคนไทย ในภาคที่เดินทางไปทำงานยังต่างประเทศ 9,138 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.4 ส่วนใหญ่ไปทำงานยังประเทศ ไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ อิสราเอล และกาตาร์
10. ภาคการเงิน ณ เดือนพฤษภาคม ธนาคารพาณิชย์ในภาคมีเงินฝากคงค้าง 361,318 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0 เนื่องจากส่วนราชการมีการถอนเงินฝากกระแสรายวัน เพื่อไปใช้จ่ายตามงบประมาณ ในขณะที่เงินฝากออมทรัพย์ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน ทางด้านสินเชื่อมียอดคงค้าง 361,998 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.2 ส่วนใหญ่เป็นเงินให้กู้ยืมแก่ลูกค้ารายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่ออุปโภค บริโภคส่วนบุคคล สำหรับภาคธุรกิจมีสินเชื่อเบิกเกินบัญชีและตั๋วเงินเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้ธุรกิจ ทำให้อัตราส่วนสินเชื่อ ต่อเงินฝากในเดือนนี้เป็นร้อยละ 100.2 เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนที่มีอัตราส่วนร้อยละ 92.8
ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมขยายตัวในอัตราที่ลดลงจากไตรมาสก่อน โดยด้านอุปทาน ดัชนีรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.7 เนื่องจากราคาพืชผลส่วนใหญ่ยังสูงขึ้น ยกเว้นราคาข้าวเปลือกเหนียวที่ลดลง การผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น เป็นผลจากอุตสาหกรรม น้ำตาล อุตสาหกรรมแป้งมัน และอุตสาหกรรมผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ผลิตได้เพิ่มขึ้น ภาคบริการอยู่ในเกณฑ์ดีเนื่องจากมีเทศกาล วันหยุดหลายวัน และมีกิจกรรมการท่องเที่ยวหลายกิจกรรม ด้านอุปสงค์ การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น แต่การลงทุน ภาคเอกชนยังชะลอตัว รายได้ภาครัฐบาลจากการจัดเก็บภาษีอากรเพิ่มขึ้นทุกประเภท การค้าชายแดนไทย - ลาว และ ไทย - กัมพูชา ยังขยายตัวดีต่อเนื่องส่วนใหญ่เป็นการส่งออกวัสดุก่อสร้าง เนื่องจากมีโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการในทั้ง 2 ประเทศ นอกจากนั้น เป็นน้ำมันปิโตรเลียม ยานพาหนะและส่วนประกอบ สำหรับภาคการเงิน เงินฝากเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นผลจากการระดม เงินฝากของธนาคารพาณิชย์เพื่อเสริมสภาพคล่องโดยใช้อัตราดอกเบี้ยพิเศษจูงใจ ด้านสินเชื่อเพิ่มขึ้นได้แก่ สินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่อเพื่อ ที่อยู่อาศัย สินเชื่อเพื่อการค้าส่งค้าปลีก และสินเชื่อเพื่อการผลิต สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 8.8 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ร้อยละ 2.2
รายละเอียดของแต่ละภาคเศรษฐกิจ มีดังนี้
1. ภาคเกษตรกรรม ผลผลิตข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ออกสู่ตลาดลดลง ส่วนด้านราคาพืชผลส่วนใหญ่ ยังสูงขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ยกเว้นราคาข้าวเปลือกเหนียวที่ลดลง ราคาขายส่งข้าวเปลือกหอมมะลิเฉลี่ยไตรมาสนี้ เกวียนละ 16,597 บาท สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 86.4 เนื่องจากประเทศผู้ผลิตข้าวสำคัญเช่น เวียดนาม และอินเดีย ประสบภัยน้ำท่วม ทำให้ผลผลิตลดลงจนต้องระงับการส่งออกชั่วคราว ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปีจนถึงต้นไตรมาสที่ 2 และได้ปรับลดลงตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา เพราะผลผลิตข้าวนาปรังออกมามาก พ่อค้าส่วนใหญ่มีข้าวในสต๊อกเพียงพอแล้ว ราคาขายส่งหัวมันสำปะหลังและมันเส้นเฉลี่ยไตรมาสนี้กิโลกรัมละ 2.08 บาท และกิโลกรัมละ 4.94 บาท สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของ ปีก่อนร้อยละ 53.4 และร้อยละ 45.6 ชะลอจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 81.9 และร้อยละ 52.0 ตามลำดับ เนื่องจากปีนี้ปริมาณฝนตกมาก เป็นอุปสรรคต่อการเก็บเกี่ยว และเปอร์เซ็นต์แป้งลดต่ำลง รวมทั้งความต้องการของตลาดในประเทศและต่างประเทศที่ชะลอตัวลง ราคาขายส่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เฉลี่ยไตรมาสนี้กิโลกรัมละ 8.74 บาท สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 24.1 เนื่องจากผลผลิต ภายในประเทศไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ในส่วนราคาขายส่งข้าวเปลือกเหนียว 10% (เมล็ดยาว) เฉลี่ย เกวียนละ 10,052 บาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.2 เนื่องจากผลผลิตข้าวเหนียวในปีนี้มีมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อนจากราคาในปีก่อนที่จูงใจ
2. ภาคอุตสาหกรรม การผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมที่มี การผลิตเพิ่มขึ้นได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำตาล และอุตสาหกรรมแป้งมัน เนื่องจากปริมาณวัตถุดิบมีมากกว่าปีก่อน ถึงแม้ว่าจะเป็นช่วงปลาย ของฤดูการผลิตแล้วก็ตาม อุตสาหกรรมผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มีการขยายตัวต่อเนื่องตามการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ และการบริโภคที่ ขยายตัวทั้งตลาดในประเทศและตลาดประเทศเพื่อนบ้าน ในส่วนอุตสาหกรรมที่มีการผลิตลดลงได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ที่สินค้าบางประเภทมีการส่งออกที่ชะลอตัว
3. ภาคบริการ ภาคบริการขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากในเดือนเมษายนเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ซึ่งมีวันหยุดต่อเนื่อง หลายวัน ทำให้ในจังหวัดต่าง ๆ มีการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ เช่น งานเย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์อีสานหนองคายสานสัมพันธ์สองฝั่งโขง ไทย - ลาว ที่จังหวัดหนองคาย งานสงกรานต์ช้าง ณ ศูนย์คชศึกษา หมู่บ้านช้าง ที่จังหวัดสุรินทร์ นอกจากนั้น ยังมีการจัดการแข่งขันกีฬา ยิมนาสติกแห่งประเทศไทย การฝึกร่วมผสมคอบร้าโกลด์ 08 ที่จังหวัดนครราชสีมา และการจัดการแข่งขันรถยนต์ออฟโรด ชิงแชมป์ภาคอีสานที่จังหวัดหนองคาย สำหรับอัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 45.9 ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนที่มีอัตราการเข้าพัก ที่ร้อยละ 51.4
4. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ของภาครัฐ ส่งผลให้มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เครื่องชี้สำคัญได้แก่ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งสิ้น 2,439.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกัน ของปีก่อนร้อยละ 19.1 ขยายตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.1 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของยอดจำหน่ายห้างสรรพสินค้า และธุรกิจค้าส่ง - ค้าปลีก การจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลมีจำนวน 25,230 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 จากระยะเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์พลังงานทางเลือกมากขึ้น ขณะที่ยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์มีจำนวน 106,411 คัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.2 เป็นผลจากรายได้ เกษตรกรที่เพิ่มขึ้นจากราคาพืชผลเกษตร สำหรับปริมาณการใช้ไฟฟ้าในภาคที่อยู่อาศัยลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.0
5. การลงทุนภาคเอกชน ชะลอตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากราคาน้ำมัน ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นทุนประกอบการเพิ่มขึ้น โดยโครงการที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนมีจำนวน 15 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 2,599.0 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 46.4 และร้อยละ 75.9 ตามลำดับ เนื่องจาก เป็นโครงการขนาดเล็กใช้เงินลงทุนไม่สูง โครงการที่สำคัญได้แก่ โครงการผลิตสิ่งพิมพ์ โครงการพลังงานไฟฟ้าจากไบโอแมส โครงการผลิตลูกสูบสำหรับยานพาหนะ โครงการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่ใช้กับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ และโครงการผลิตเบเกอร์รี่และ อาหารพร้อมรับประทาน เป็นต้น พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลเมืองและเทศบาลนคร 474,006.9 ตารางเมตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 จากระยะเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงจากไตรมาสก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.0 ส่วนใหญ่เป็นการก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัย เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี การจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่มีทุนจดทะเบียน 1,585.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 69.7 จากระยะเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีโครงการที่ใช้เงินลงทุนสูงในธุรกิจโรงสีข้าว และธุรกิจทางการแพทย์ และปริมาณการใช้ไฟฟ้าในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวของปีก่อนร้อยละ 7.8 ขยายตัวจากไตรมาสก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9
6. ภาคการคลัง การจัดเก็บภาษีอากรสามารถจัดเก็บได้ 10,911.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของ ปีก่อนร้อยละ 14.4 จำแนกเป็น ภาษีสรรพากรรวม 6,512.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวของปีก่อนร้อยละ 9.2 เป็นการเพิ่มขึ้นของ ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามการผลิตและการจำหน่ายของภาคเอกชนที่มีผลประกอบการเพิ่มขึ้นจากโรงงานอุตสาหกรรม และธุรกิจการค้า ในขณะที่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลดลงเนื่องจากมีการยื่นชำระภาษีเหลื่อมเดือนในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และ ภาษีธุรกิจเฉพาะลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการปรับลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าหรือกำไร ส่งผลให้ภาษีจากที่ดินจัดเก็บลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ภาษีสรรพสามิตจัดเก็บได้ 4,328.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 22.0 เป็นผลจากภาษีสุราซึ่งเพิ่มขึ้นจากเบียร์เป็นสำคัญ อากรขาเข้าจัดเก็บได้รวม 69.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ส่วนใหญ่ เป็นการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูป ไม้แปรรูป อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ จากด่านศุลกากรมุกดาหาร หนองคาย และนครพนมเพิ่มขึ้น
7. การค้าต่างประเทศ การค้าชายแดนไทย - ลาว มีมูลค่าการค้า 19,207.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของ ปีก่อน แยกเป็นการส่งออก 14,954.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวของปีก่อนร้อยละ 42.7 เป็นการเพิ่มขึ้นของสินค้าทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดน้ำมันปิโตรเลียม เชื้อเพลิงอื่น และสารหล่อลื่น รองลงมาเป็นหมวดสินค้าทุนได้แก่ วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักร และอุปกรณ์ จากการก่อสร้างเขื่อน และสถานที่ต่าง ๆ เพื่อรองรับการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ในปี 2552 หมวดวัตถุดิบ และกึ่งวัตถุดิบ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ เหล็ก เม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์พลาสติก หมวดสินค้าบริโภค ได้แก่ ยานพาหนะและอุปกรณ์ และสินค้าบริโภค ส่วนสินค้าส่งออก ที่ลดลงได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า และผ้าผืน มูลค่าการนำเข้า 4,253.1 ล้านบาท ใกล้เคียงกับระยะเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าการนำเข้า 4,251.8 ล้านบาท จากการนำเข้าสินแร่ทองแดง เสื้อผ้าสำเร็จรูปจากจีน และผลิตภัณฑ์เกษตร ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกะหล่ำปลี ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ไม้ ยานพาหนะ อุปกรณ์ และส่วนประกอบลดลง
การค้าชายแดนไทย - กัมพูชา มีมูลค่า 13,691.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 55.9 จำแนกเป็นมูลค่าการส่งออก 12,955 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 54.0 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของสินค้าทุกหมวด โดยส่วนใหญ่เป็นการส่งออกยานพาหนะและส่วนประกอบ เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ตามความต้องการภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น วัสดุก่อสร้างซึ่งขยายตัวตามภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้างสาธารณูปโภคภายในประเทศกัมพูชา น้ำตาลโดยส่งต่อไปยังประเทศ สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนมิถุนายน 2551 และไตรมาสที่สองปี 2551 เวียดนามซึ่งขยายการผลิตอุตสาหกรรมเครื่องดื่มเพื่อการส่งออก น้ไมันปิโตรเลียมและเชื้อเพลิง สำหรับมูลค่าการนำเข้า 736.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 98.8 สินค้านำเข้าสำคัญที่เพิ่มขึ้นได้แก่ วัสดุใช้แล้ว ส่วนใหญ่เป็น เหล็ก อลูมิเนียม กระดาษ และทองแดง พืชไร่ ส่วนใหญ่เป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พริกแห้ง งาดำ และมันสำปะหลัง
8. ระดับราคา ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปสูงขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.8 เนื่องจากราคาสินค้าในหมวด อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 13.0 และหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 6.2 หมวดอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าที่มีราคาเพิ่มขึ้นได้แก่ หมวดข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้นร้อยละ 26.1 เป็นผลจากราคาข้าวสารเจ้าเป็นสำคัญ หมวดเครื่องประกอบอาหารสูงขึ้นร้อยละ 18.1 ตามการปรับราคาขึ้นของน้ำตาล น้ำมันพืชและน้ำมันสัตว์ หมวดเนื้อสัตว์สูงขึ้น ร้อยละ 24.5 เนื่องจากราคาเนื้อสุกรที่สูงขึ้นตามราคาหน้าฟาร์ม และไข่สูงขึ้นร้อยละ 17.6 สำหรับหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สินค้าที่มีราคาสูงขึ้นได้แก่ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้นร้อยละ 34.7 หนังสือสูงขึ้นร้อยละ 13.1 ค่าเรียนพิเศษสูงขึ้นร้อยละ 7.9 และ ผลิตภัณฑ์ยาสูบสูงขึ้นร้อยละ 4.9 สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานไตรมาสนี้สูงขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.2
9. ภาคการจ้างงาน ด้านภาวะการจ้างงาน มีตำแหน่งงานว่าง 12,671 อัตรา ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.5 โดยมีผู้สมัครงาน 23,997 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 และมีผู้ที่ได้รับการบรรจุเข้าทำงาน 8,407 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 และร้อยละ 3.4 จากระยะเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่ทำงานในอาชีพงานพื้นฐานต่าง ๆ เช่น ผู้ช่วยงานบ้าน พนักงานทำความสะอาด และ งานผู้ปฏิบัติงานในโรงงานอุตสาหกรรมการผลิต เป็นต้น สำหรับคนไทยในภาคที่เดินทางไปทำงานยังต่างประเทศจำนวน 24,787 คน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.8 ส่วนใหญ่ไปทำงานยังประเทศไต้หวัน สิงคโปร์ เกาหลีใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิสราเอล และ กาตาร์
10. ภาคการเงิน ณ เดือนพฤษภาคม 2551 ธนาคารพาณิชย์ในภาคมีเงินฝากคงค้าง 361,318 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นเงินออมทรัพย์และเงินฝากประจำที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากระยะเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการระดมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์เพื่อเสริมสภาพคล่อง โดยใช้กลยุทธ์ด้านอัตราดอกเบี้ยพิเศษเพื่อจูงใจผู้ฝากเงิน ประกอบกับมีเงินฝากของส่วนราชการนำมาฝากเพื่อรอการใช้จ่ายในเดือนเมษายนและถอนใช้เดือนพฤษภาคม
สำหรับสินเชื่อมียอดคงค้าง 361,998 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.2 โดยสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลขยายตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอลงเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีนี้ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ ประกอบกับลูกค้าชะลอการใช้จ่ายเลือกใช้จ่ายเฉพาะที่จำเป็นก่อน ได้แก่ สินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เป็นต้น ด้านสินเชื่อภาคธุรกิจขยายตัวจากสินเชื่อเบิกเกินบัญชีและตั๋วเงิน เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ ได้แก่ สินเชื่อเพื่อการค้าปลีกและค้าส่ง และสินเชื่อเพื่อการผลิต เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ