ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือเดือนมิถุนายน 2551 ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยด้านอุปทานรายได้เกษตรกรเร่งตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนจากราคาและผลผลิตข้าวนาปรังเป็นสำคัญ การผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอลงทั้งกลุ่มที่ตอบสนองความต้องการในต่างประเทศและการผลิตเพื่อการบริโภคในประเทศ ภาคบริการชะลอตัวตามฤดูกาล ด้านอุปสงค์ การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนแต่ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการใช้จ่าย การลงทุนภาคเอกชนยังหดตัวการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของภาครัฐและการส่งออกขยายตัวดี ส่วนการนำเข้าชะลอลง ดัชนีราคาผู้บริโภคเร่งตัวตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและอาหาร เงินฝากและสินเชื่อยังขยายตัว
ครึ่งแรก ปี 2551 ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือขยายตัว โดยด้านอุปทาน เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นในอัตราเร่งเนื่องจากราคาพืชผลสูงขึ้นมาก การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวจากความต้องการของตลาดต่างประเทศ ส่วนภาคบริการชะลอลงจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองและราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ด้านอุปสงค์ การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากระยะเดียวกันปีก่อน การเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐทรงตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนการส่งออกและนำเข้าขยายตัวดี ดัชนีราคาผู้บริโภคเร่งตัวจากราคาน้ำมันและอาหารสดเป็นสำคัญ ด้านเงินฝากและสินเชื่อขยายตัวรายละเอียดของแต่ละภาคเศรษฐกิจ มีดังนี้
1. ภาคเกษตร เดือนมิถุนายน 2551 รายได้เกษตรกรสูงขึ้นมากต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 98.3 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาและผลผลิตข้าวนาปรังเป็นสำคัญ ด้านราคาพืชหลักสูงขึ้นร้อยละ 85.2 จากราคาข้าวเปลือกเจ้านาปรังที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 91.1 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการรับจำนำของทางการ ประกอบกับพืชหลักอื่นๆ ที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ลิ้นจี่ หอมแดง และสับปะรด ทางด้านผลผลิตพืชสำคัญเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1 ตามการเพิ่มขึ้นของข้าวนาปรังข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเขียว และสับปะรด เนื่องจากราคาจูงใจให้เกษตรกรเพิ่มการผลิตประกอบกับสภาพอากาศเอื้ออำนวยทำให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น
ครึ่งแรก ปี 2551 เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 51.5 เร่งตัวขึ้นเมื่อเทียบกับร้อยละ 6.1 ระยะเดียวกันปีก่อนโดยราคาพืชสำคัญสูงขึ้นร้อยละ 43.8 จากราคาข้าวเปลือกเจ้านาปรัง มันสำปะหลัง ข้าวนาปี ถั่วเหลือง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 99.4 ร้อยละ 87.1 ร้อยละ 70.9 ร้อยละ 71.2 และร้อยละ 15.4 ตามลำดับ ประกอบกับราคาอ้อยโรงงานสูงขึ้นร้อยละ 9.1 จากการปรับราคาอ้อยขั้นต้นเพิ่มขึ้น รวมทั้งราคาหอมแดงและลิ้นจี่เพิ่มขึ้นร้อยละ 178.2 และร้อยละ 63.0 เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยกว่าปีก่อนมาก ทางด้านผลผลิตพืชหลักเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยข้าวนาปรังอ้อยโรงงาน และข้าวนาปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.5 ร้อยละ 8.0 และร้อยละ 2.4 ตามลำดับ เนื่องจากราคาอยู่ในเกณฑ์สูงจูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก ตลอดจนการบำรุงดูแลรักษาดีประกอบกับสภาพอากาศเอื้ออำนวยส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นอย่างไรก็ตาม มันสำปะหลัง หอมแดง และลิ้นจี่ ผลผลิตลดลงร้อยละ 2.0 ร้อยละ 11.4 และร้อยละ 23.2 ตามลำดับ
2. ภาคอุตสาหกรรม เดือนมิถุนายน 2551 การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวในอัตราชะลอลงจากเดือนก่อนโดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมภาคเหนือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ชะลอตัวเมื่อเทียบกับที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 ในเดือนก่อน เพราะการผลิตที่ตอบสนองความต้องการส่งออกและการผลิตเพื่อการบริโภคในประเทศลดลง เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ชะลอลงตามความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศลดลง อาทิ ส่วนประกอบฮาร์ดิสต์ไดร์ ไอซี และไดโอด การผลิตอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรชะลอตัวตามการลดลงของการแปรรูปผักแช่แข็งและอบแห้งจากยอดจำหน่ายในตลาดญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาที่ลดลง นอกจากนี้ การผลิตอุตสาหกรรมเครื่องดื่มลดลงร้อยละ 30.8 ทั้งการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โซดาและน้ำอัดลม ด้านการผลิตวัสดุก่อสร้างลดลงตามการก่อสร้างที่ซบเซา อย่างไรก็ดี การผลิตเซรามิกเพื่อการส่งออกและเครื่องประดับขยายตัวร้อยละ 18.8 และร้อยละ 63.7
ครึ่งแรก ปี 2551 การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัว โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมภาคเหนือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 จากอุตสาหกรรมหลักที่ขยายตัวในเกณฑ์ดี เช่น การผลิตอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 จากการขยายตัวของการผลิตมอเตอร์และชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ส่งออกไปยังสิงคโปร์ ประกอบกับการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ทั้ง ไอซี ไดโอด และตัวเก็บประจุที่เพิ่มขึ้นตามอุตสาหกรรมผลิตต่อเนื่องในประเทศจีน ด้านการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้นจากการผลิตผักสดแช่แข็งและอบแห้ง พืชผักถนอมอาหาร และข้าวโพดหวาน ที่ขยายตัวดี ประกอบกับการผลิตน้ำตาลที่ขยายตัวตามปริมาณอ้อยที่มากกว่าปีก่อน การผลิตเซรามิกขยายตัวดีตามการขยายตลาดในยุโรป ส่วนการผลิตอัญมณียังขยายตัวในเกณฑ์ดี แต่เริ่มมีสัญญาณที่ชะลอลงในช่วงไตรมาส 2 ด้านอุตสาหกรรมเครื่องดื่มลดลงร้อยละ 13.3 จากการเสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับคู่แข่งขัน ส่วนอุตสาหกรรมสิ่งทอยังคงลดลงต่อเนื่องจากปลายปีก่อนตามต้นทุนการผลิตและการแข่งขันที่สูงขึ้น
3. ภาคบริการ เดือนมิถุนายน 2551 ชะลอลงตามฤดูกาลประกอบกับนักท่องเที่ยวชาวไทยยังระมัดระวังการใช้จ่ายจากผลกระทบของราคาน้ำมัน และปัญหาสถานการณ์ทางการเมืองมีผลทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติบางส่วนยกเลิกการเดินทาง อย่างไรก็ตาม จากการจัดประชุมสัมมนาของกลุ่มองค์กรจากต่างประเทศและหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของไทยทำให้กิจกรรมภาคบริการที่สำคัญเพิ่มขึ้น ได้แก่ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทโรงแรมและภัตตาคารเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 อัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 36.6 เป็นร้อยละ 37.2 และราคาห้องพักเฉลี่ยปรับสูงขึ้นร้อยละ 1.6 ส่วนจำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานลดลงร้อยละ 0.5 โดยลดลงมากในจังหวัดพิษณุโลก แม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการลดเที่ยวบินของสายการบินเพราะประสบปัญหาด้านต้นทุนค่าน้ำมันที่สูงขึ้นมาก
ครึ่งแรก ปี 2551 ภาคบริการของภาคเหนือชะลอลงจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยในช่วงไตรมาสแรกภาวะการท่องเที่ยวยังขยายตัวดีเนื่องจากไม่ประสบปัญหาหมอกควันเช่นปีก่อน ประกอบกับผู้ประกอบการเร่งส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวต่างๆ ส่วนช่วงไตรมาสที่สองชะลอตามฤดูกาล เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวไทยกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองและราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น อย่างไรก็ดี จากการจัดกิจกรรมประชุมสัมมนาของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนโดยเฉพาะกลุ่มองค์กรจากต่างประเทศที่มีอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทโรงแรมและภัตตาคารเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 จำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 และราคาห้องพักของโรงแรมเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 ส่วนอัตราการเข้าพักของโรงแรมเฉลี่ยลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 52.8 ระยะเดียวกันปีก่อนเหลือร้อยละ 51.6 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากจำนวนห้องพักของโรงแรมในจังหวัดสำคัญของภาคเหนือที่เพิ่มขึ้นมาก
4. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน เดือนมิถุนายน 2551 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยเฉพาะในภาคเหนือ ตอนล่างเนื่องจากรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นมาก โดยปริมาณการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.7 เทียบกับที่ลดลงร้อยละ 5.1 เดือนก่อน โดยเพิ่มขึ้นในหมวดค้าส่งค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า และรถจักรยานยนต์ ด้านปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 จากระยะเดียวกันปีก่อน เทียบกับที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 เดือนก่อน ซึ่งเพิ่มขึ้นตามปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลโดยเฉพาะประเภทที่ตอบสนองพลังงานทางเลือก E20 ด้านปริมาณการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 ส่วนหนึ่งเนื่องจากรายได้ของเกษตรกรที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในจังหวัดพิจิตร กำแพงเพชรและสุโขทัย ประกอบกับมีผู้บริโภคบางส่วนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้รถจักรยานยนต์แทนรถยนต์โดยเฉพาะการเดินทางในช่วงใกล้ๆ เนื่องจากราคาน้ำมันสูงขึ้น รวมทั้งผู้ประกอบการได้จัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นยอดจำหน่าย
ครึ่งแรก ปี 2551 การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนในภาคเหนือขยายตัวเล็กน้อยจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยสะท้อนจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0 จากระยะเดียวกันปีก่อนโดยส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นในรถยนต์นั่งส่วนบุคคลโดยเฉพาะรถที่ตอบสนองพลังงานทางเลือก E20 ส่วนการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.8 ส่วนหนึ่งเนื่องจากรายได้เกษตรกรที่สูงขึ้น การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาใช้รถจักรยานยนต์ทั้งในลักษณะเป็นรถคันที่สองและการใช้รถจักรยานยนต์แทนการจ่ายค่าโดยสารรถรับจ้างซึ่งมีราคาเพิ่มขึ้นมาก สำหรับปริมาณการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 2.5 เทียบกับเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 ระยะเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ตาม ภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดค้าส่งค้าปลีกเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 จากระยะเดียวกันปีก่อน จากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ
5. การลงทุนภาคเอกชน เดือนมิถุนายน 2551 ยังอยู่ในเกณฑ์ลดลง สะท้อนจากเครื่องชี้ที่สำคัญที่ลดลงได้แก่ พื้นที่ก่อสร้างที่ได้รับอนุญาตในเขตเทศบาลลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 6.2 ตามพื้นที่ก่อสร้างประเภทเพื่อการบริการและที่อยู่อาศัย ปริมาณจำหน่ายวัสดุก่อสร้างลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อน เนื่องจากการปรับราคาเพิ่มขึ้น การจัดเก็บค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนที่ดินลดลงร้อยละ 21.6 เทียบกับที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.6 เดือนก่อน ส่วนการลงทุนของกิจการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนมีมูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.8 จากระยะเดียวกันปีก่อน จากหมวดอุตสาหกรรมเบา หมวดเกษตรกรรมและผลิตผลทางการเกษตร
ครึ่งแรก ปี 2551 ภาวะการลงทุนภาคเอกชนในภาคเหนือปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนที่ดินเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.5 เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนที่ลดลงร้อยละ 2.4 สำหรับพื้นที่ก่อสร้างที่ได้รับอนุญาตในเขตเทศบาลลดลงจากระยะเดียวกันร้อยละ 0.2 โดยลดลงในพื้นที่ก่อสร้างประเภทเพื่อการพาณิชย์และประเภทเพื่อที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ดี พื้นที่ก่อสร้างที่ได้รับอนุญาตเพื่อการบริการขยายตัวร้อยละ 86.2 ในจังหวัดเชียงรายเป็นสำคัญ ทางด้านปริมาณจำหน่ายวัสดุก่อสร้างลดลงเนื่องจากราคาปรับตัวสูงขึ้น ส่วนการลงทุนของกิจการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนมีมูลค่าเงินลงทุนลดลงร้อยละ 47.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยลดลงในหมวดอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าและหมวดเกษตรกรรมและผลิตผลทางการเกษตร
6. การค้าต่างประเทศ เดือนมิถุนายน 2551 การส่งออกผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.9 เป็น 260.5 ล้านดอลลาร์ สรอ. เร่งตัวจากเดือนก่อน ตามการส่งออกสินค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในอุปกรณ์ไฟฟ้า อาทิ แผงวงจร ไอซี ประกอบกับการส่งออกคาร์บูเรเตอร์ที่ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซียและจีน ส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 36.9 ตามการชะลอตัวของสินค้าผักสดแช่แข็งและอบแห้งในตลาดญี่ปุ่น ด้านการส่งออกผ่านด่านชายแดนเพิ่มขึ้นร้อยละ 89.2 เป็น 88.3 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยการส่งออกไปพม่าเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวโดยเฉพาะน้ำมันปาล์มน้ำมันพืช น้ำมันเชื้อเพลิง และสังกะสี ทางด้านการส่งออกไปจีนตอนใต้และลาวเพิ่มขึ้นร้อยละ 63.5 และร้อยละ 121.0 ตามลำดับ
การนำเข้าผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.5 เป็น 139.2 ล้านดอลลาร์ สรอ. ชะลอลงจากที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.0 เดือนก่อน โดยการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 ชะลอตัวจากเดือนก่อน ตามการชะลอตัวของการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และโลหะ ประกอบกับการนำเข้าวัตถุดิบแก้วมีปริมาณลดลง ทางด้านการนำเข้าสินค้าทุนลดลงร้อยละ 10.6 จากการลดลงของส่วนประกอบเครื่องจักรกล ส่วนการนำเข้าผ่านด่านชายแดนลดลงร้อยละ 7.3 เหลือ 9.4 ล้านดอลลาร์ สรอ. ตามการนำเข้าจากพม่าที่ลดลงร้อยละ 41.5 เนื่องจากเดือนเดียวกันปีก่อนมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ไม้มากส่วนการนำเข้าจากจีนตอนใต้เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวโดยเฉพาะผักสด และด้านการนำเข้าจากลาวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.7
ดุลการค้า เกินดุล 121.4 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนและเดือนก่อนที่เกินดุล 102.4 ล้านดอลลาร์ สรอ. และ 67.4 ล้านดอลลาร์ สรอ. ตามลำดับ
ครึ่งแรก ปี 2551 การค้าต่างประเทศผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือขยายตัวดี โดยการส่งออกผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.1 เป็น 1,446.6 ล้านดอลลาร์ สรอ. เร่งตัวจากที่ลดลงในครึ่งหลังปีก่อน โดยการส่งออกเพิ่มขึ้นมากในไตรมาส 2 โดยเฉพาะการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และแผงวงจรไฟฟ้าสำเร็จรูป ประกอบกับมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่เพิ่มขึ้นมาก ส่งผลให้การส่งออกผ่านด่านชายแดนในครึ่งแรกของปีเพิ่มขึ้นร้อยละ 57.3 เป็น 466.7 ล้านดอลลาร์ สรอ. ที่สำคัญการส่งออกไปพม่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 70.6 เป็น 391.1 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยเฉพาะในเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายนที่มีการส่งออกแผ่นสังกะสี อุปกรณ์ก่อสร้าง และน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ ด้านการส่งออกไปลาวเพิ่มขึ้นร้อยละ 56.8 ส่วนการส่งออกไปจีนตอนใต้ลดลงร้อยละ 3.6 จากการลดลงของการส่งออกยางแผ่นรมควันเป็นสำคัญ
การนำเข้าผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.8 เป็น 880.3 ล้านดอลลาร์ สรอ. เร่งตัวเมื่อเทียบกับที่ลดลงร้อยละ 7.7 ครึ่งหลังปีก่อน โดยการนำเข้าขยายตัวดีในไตรมาส 2 จากการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่ใช้ในการผลิตในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อัญมณี และข้อต่อสายไฟฟ้า ด้านการนำเข้าผ่านด่านชายแดนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 ตามการนำเข้าจากลาวเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.4 จำพวกถ่านหินลิกไนต์และไม้แปรรูป ด้านการนำเข้าจากจีนตอนใต้เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 ตามการนำเข้าพืชผักสดที่เพิ่มขึ้นมาก ส่วนการนำเข้าจากพม่าลดลงร้อยละ 19.1 โดยเฉพาะในไตรมาสแรกจากการลดลงของผลิตภัณฑ์ไม้และสินค้าประมง
ดุลการค้า ในครึ่งปีแรก เกินดุล 566.3 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากครึ่งหลังปีก่อนที่เกินดุล 494.4 ล้านดอลลาร์ สรอ.
7. การเบิกจ่ายเงินงบประมาณ เดือนมิถุนายน 2551 มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 14,575.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.2 โดยรายจ่ายประจำเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 ตามการเพิ่มขึ้นของหมวดเงินเดือนจากการปรับฐานเงินเดือนของข้าราชการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2550 ด้านรายจ่ายลงทุนลดลงร้อยละ 3.3 โดยเฉพาะในส่วนของเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลดลงร้อยละ 5.2 และที่ดินสิ่งก่อสร้างลดลงร้อยละ 17.3 เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาได้มีการเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณอย่างต่อเนื่อง
ครึ่งแรก ปี 2551 การเบิกจ่ายในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2551 ภาคเหนือมีการเบิกจ่าย 84,676.7 ล้านบาท ทรงตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นรายจ่ายประจำ 51,625.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 ชะลอลงจากระยะเดียวกันปีก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 ตามการลดลงของหมวดเงินเดือนเนื่องจากในช่วงเดียวกันปีก่อนมีการตกเบิกค่าวิทยฐานะของข้าราชการครูเป็นจำนวนมาก ขณะที่รายจ่ายลงทุนมีจำนวน 33,050.8 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4.8 โดยเฉพาะในส่วนของเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ลดลงร้อยละ 17.8 เนื่องจาก พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2550 มีผลบังคับใช้ล่าช้าทำให้มีการเร่งเบิกจ่ายมากช่วงเดียวกันปีก่อน
8. ระดับราคา เดือนมิถุนายน 2551 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 เร่งตัวขึ้นมากเมื่อเทียบกับที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 ระยะเดียวกันปีก่อน โดยราคาสินค้าหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนและระยะเดียวกันปีก่อนเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ ประกอบกับราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.7 ตามราคาข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง และเนื้อสัตว์
สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.1 เร่งตัวขึ้นเมื่อเทียบกับที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 เดือนก่อน และร้อยละ 0.4 ระยะเดียวกันปีก่อน
ครึ่งแรก ปี 2551 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ7.6 เร่งตัวขึ้นตามราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.8 จากสินค้าประเภทผักและผลไม้ที่เร่งตัวขึ้นมากในช่วงไตรมาส 2 เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง เพราะได้รับความเสียหายจากฝนตกชุก รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของราคาเนื้อสัตว์ ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้งสำหรับสินค้าหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 จากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ
ทางด้านดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเพิ่มขึ้น จากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.0 เร่งตัวขึ้นเมื่อเทียบกับร้อยละ 0.4 ของครึ่งหลังปี 2550
9. การจ้างงาน จากข้อมูลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ณ เดือนพฤษภาคม 2551 ภาคเหนือมีกำลังแรงงานรวมจำนวน 6.636 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 6.475 ล้านคน คิดเป็นอัตราการมีงานทำเท่ากับร้อยละ 97.6 สูงกว่าร้อยละ 97.3 ระยะเดียวกันปีก่อน เนื่องจากการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 ตามการจ้างงานในสาขาการก่อสร้างและการผลิต ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.7 และ 6.7 ตามลำดับ ส่วนแรงงานในภาคเกษตรลดลงร้อยละ 1.9 ด้านผู้ว่างงานมีจำนวน 0.107 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 1.6 ต่ำกว่าร้อยละ 1.9 ระยะเดียวกันปีก่อน
ทางด้านผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 ในเดือนมิถุนายน 2551 มีจำนวน 0.596 ล้านคนทรงตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน
10. การเงิน ธนาคารพาณิชย์ในภาคเหนือมียอดเงินฝากคงค้าง ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2551 ทั้งสิ้น 360,505 ล้านบาท เพมิ่ ขนึ้ จากระยะเดยี วกนั ปกี อ่ นรอ้ ยละ 4.5 ชะลอลงจากเดอืนกอ่นและระยะเดยีวกนั ปกีอ่น ด้านเงินให้สินเชื่อ มียอดคงค้าง 298,893 ล้านบาท ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนเป็นร้อยละ 7.8 ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นสำคัญ โดยสินเชื่อเพิ่มขึ้นมากที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และพิษณุโลก สำหรับสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 82.9 สูงขึ้นเมื่อเทียบกับร้อยละ 80.4 ระยะเดียวกันปีก่อน
ข้อมูลเพิ่มเติม : คุณทวีศักดิ์ ใจคำสืบ โทร 0 5393 1162 E-mail: thaveesc@bot.or.th